วันจันทร์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

บทที่ 1 ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับภาษีอากร


เอกสารประกอบการเรียนการสอน
วิชา การภาษีอากร/ภาษีอากร 1
รหัสวิชา 961365/960102
ภาคเรียนที่ 1  ปีการศึกษา 2559 คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ผู้สอน : นายวินัย  เนื้อนาจันทร์   นักวิชาการสรรพากรเชี่ยวชาญ (อาจารย์พิเศษ)
----------------------
บทที่ 1
ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับภาษีอากร
ขอบเขตเนื้อหา
1.รายรับ รายจ่ายของรัฐบาล
2.ความหมายของภาษีอากร
3.วัตถุประสงค์การจัดเก็บภาษีอากร
4.ลักษณะของภาษีอากรที่ดี
5.หลักการจัดเก็บภาษีอากร
6.โครงสร้างของภาษีอากร
7.ประเภทของภาษีอากร
8.ผลกระทบของการจัดเก็บภาษีอากร
9.บทบาทของภาษีอากรกับนโยบายการเงินการคลังของรัฐ
วัตถุประสงค์ของบทเรียน
1. เพื่อให้รู้ความสำคัญของการเสียภาษี
2. เพื่อให้ทราบถึงลักษณะและวิธีการจัดเก็บภาษี
3. เพื่อให้ทราบประเภทของภาษีอากร
4. เพื่อให้ทราบโครงสร้างของภาษีอากร
5. เพื่อทราบถึงโทษของการหลบหลีกหรือเลี่ยงภาษี
6. เพื่อทราบถึงบทบาทของภาษีอากรที่เกี่ยวเนื่องกับนโยบายการคลังของรัฐบาล







คำนำ
           รัฐบาลในปัจจุบันมีหน้าที่หลายประการในการ ทำให้ประชาชนอยู่ดีมีสุข  นอกจากหน้าที่ในการรักษาความสงบภายในประเทศ  และป้องกันประเทศจากการรุกรานของข้าศึกศัตรูแล้ว ยังมีหน้าที่ในด้านการ จัดการดูแลและส่งเสริมการสาธารณสุข การศึกษา การเกษตร การอุตสาหกรรม  การสื่อสาร  การพลังงาน  และการพาณิชย์อื่นๆ อีกด้วย
            การดำเนินกิจการของรัฐบาลดังกล่าว   เห็นได้ชัดเจนว่าต้องมีค่าใช้จ่ายรัฐบาลจึงจำเป็นต้องหารายได้เพื่อให้พอกับ ค่าใช้จ่ายนั้น รายได้ของรัฐบาลได้มาจากหลายทาง  เช่น จากการเก็บภาษีอากร การขายสินค้า  การให้บริการ  การรับบริจาคหรือความช่วยเหลือ ฯลฯ แต่ในบรรดารายได้เหล่านี้  ภาษีอากรเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญที่สุดของรัฐบาล  บางครั้งรัฐบาลอาจต้องกู้ยืมเงิน หรือพิมพ์ธนบัตรด้วย
รายรับและรายจ่ายของรัฐบาล
               ที่มาของรายรับของรัฐบาล สามารถจำแนกเป็น 3 ประเภท คือ รายรับจากการจัดเก็บภาษีอากร รายรับที่มิใช่มาจากการจัดเก็บภาษีอากร และรายรับที่ไม่ใช่รายได้ สามารถสรุปได้ดังนี้
       1.รายรับที่ได้มาจากการจัดเก็บภาษีอากร ประกอบด้วย ภาษีทางตรง ภาษีทางอ้อม ภาษี อากรขาเข้า อากรขาออก ภาษีลักษณะอนุญาตเช่น ค่าใบอนุญาตอาวุธปืน ค่าใบอนุญาตการพนัน
       2.รายรับที่ไม่มาจากการจัดเก็บภาษี คือรายได้ที่มีจากการประกอบธุรกรรมอย่างอื่นของรัฐได้แก่
              2.1 รายได้จากการขายสิ่งของและบริการ อันได้แก่ การขายหลักทรัพย์และ ทรัพย์สิน เช่นการขายสินทรัพย์ที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ ค่าขายผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ ค่าขาย หลักทรัพย์ ค่าขายหนังสือราชการ ค่าขายบริการและค่าเช่า เป็นต้น
              2.2 รายได้จากรัฐพาณิชย์ คือผลกำไรขององค์การของรัฐบาล รายได้จากโรงงาน ยาสูบ รายได้จากการขายสลากกินแบ่งรัฐบาลของสำนักงานสลากกินแบ่ง เป็นต้น
              2.3  รายได้อื่น เช่น ค่าแสตมป์ ฤชา ค่าปรับ เงินรับคืนและรายได้เบ็ดเตล็ด
        3.รายรับที่ไม่ใช่รายได้  คือรายรับที่มาจากการกู้เงิน จากธนาคารกลาง ธนาคารออมสิน ธนาคารพาณิชย์ หรือกู้จากประชาชน โดยการขายพันธบัตร เป็นต้น และเงินคงคลัง ที่รัฐบาลเก็บสะสมไว้และสามารถยืมมาใช้ในปีที่รายจ่ายสูงเกินกว่ารายได้
                             ประมาณการรายรับประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2559
                          ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 ได้กำหนดวงเงินงบประมาณ จำนวน 2,720,000 ล้านบาท
หรือคิดเป็นร้อยละ 19.3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ โดยกำหนดรายได้สุทธิจำนวน 2,330,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 16.5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ และกำหนดวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 390,000 ล้านบาทคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.8 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ซึ่งการขาดดุลงบประมาณจำนวนดังกล่าวยังอยู่ในระดับที่ไม่ส่งผลกระทบต่อวินัยและฐานะการคลังของประเทศในระยะยาว
                                             ที่มาของรายรับของรัฐบาล
                                                       (ที่มาข้อมูล: สำนักงบประมาณ)






                                                        







                                             รายได้แยกตามหน่วยจัดเก็บ

                                                               (ที่มาข้อมูล: สำนักงบประมาณ)













งบประมาณรายจ่ายรัฐบาล



 จำแนกตามลักษณะงาน เป็นการแสดงงบประมาณรายจ่ายตามวัตถุประสงค์
ในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของรัฐบาล โดยยึดถือหลักการในการจำแนกรายจ่ายรัฐบาลของ
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งได้จำแนกการดำเนินงานของรัฐบาลตามวัตถุประสงค์อย่าง
กว้างขวางออกเป็นด้านต่างๆ 10 ด้าน 3 ประเภท ดังนี้
การบริหารทั่วไป
1. การบริหารทั่วไปของรัฐ
2. การป้องกันประเทศ
3. การรักษาความสงบภายใน

การเศรษฐกิจ
4. การเศรษฐกิจ

การบริการชุมชนและสังคม
5. การสิ่งแวดล้อม
6. การเคหะและชุมชน
7. การสาธารณสุข
8. การศาสนา วัฒนธรรม และนันทนาการ
9. การศึกษา
10. การสังคมสงเคราะห์

งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 จำนวน 2,720,000 ล้านบาท
ได้กำหนดเป้าหมายที่จะนำไปใช้จ่ายตามลักษณะต่างๆ ดังต่อไปนี้
1. การบริหารทั่วไปของรัฐ จำนวน 586,368.6 ล้านบาท หรือร้อยละ 21.6 ของ
งบประมาณรายจ่ายทั้งสิ้น เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการดำเนินกิจกรรมขององค์กรนิติบัญญัติ
การบริหารการเงิน การคลัง การบริหารงานบุคคลกลาง การจัดทำสถิติ การบริหารงาน
2. การป้องกันประเทศ จำนวน 205,375.8 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.5 ของงบประมาณ
รายจ่ายทั้งสิ้น เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการดำเนินงานป้องกันประเทศและการรักษาดินแดน
โดยฝ่ายพลเรือน รวมทั้งสมาชิกอาสารักษาดินแดนและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง
3. การรักษาความสงบภายใน จำนวน 175,077.4 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.4 ของ
งบประมาณรายจ่ายทั้งสิ้น เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับงานตุลาการ อัยการ ตำรวจ การป้องกัน
อัคคีภัย และงานราชทัณฑ์ ตลอดจนการวิจัยและการพัฒนาด้านการรักษาความสงบภายใน
4. การเศรษฐกิจ จำนวน 568,481.6 ล้านบาท หรือร้อยละ 20.9 ของงบประมาณ
รายจ่ายทั้งสิ้น เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดการที่ดิน การจัดที่ดินทำกินให้เกษตรกร การพยุง
ราคาผลผลิต การส่งเสริมการเกษตร การปศุสัตว์ การควบคุมศัตรูพืช การป่าไม้ การประมง
การสำรวจ การจัดหา พัฒนา และควบคุมทรัพยากรเชื้อเพลิง การผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงาน
ต่างๆ การดำเนินงานด้านทรัพยากรธรณี การส่งเสริมการควบคุมอุตสาหกรรมของกระทรวง
อุตสาหกรรม การวิจัยเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรม การดำเนินงานด้านการโยธา การพาณิชย์
การควบคุมการดำเนินกิจการโรงแรมและภัตตาคาร การส่งเสริมการท่องเที่ยว การแรงงาน
การดำเนินโครงการอเนกประสงค์ต่างๆ การบริหารและก่อสร้างระบบขนส่งทางบก ทางน้ำ และ
ทางอากาศ การสื่อสาร (ซึ่งไม่รวมระบบโทรทัศน์และวิทยุกระจายเสียง ที่จัดอยู่ในลักษณะ
งานการศาสนา วัฒนธรรม และนันทนาการ) ตลอดจนการวิจัยและการพัฒนาด้านการเศรษฐกิจ
5. การสิ่งแวดล้อม จำนวน 6,947.3 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.3 ของงบประมาณ
รายจ่ายทั้งสิ้น เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บ การแปรสภาพ และการกำจัด การจัดการ
สิ่งปฏิกูลและน้ำโสโครกในท่อระบายน้ำ ระบบการบำบัดน้ำเสีย การจัดการและการก่อสร้าง
ระบบท่อระบายน้ำ รางน้ำ การป้องกันสิ่งแวดล้อมทางอากาศและภูมิอากาศ การป้องกันพื้นดิน
และน้ำบริเวณผิวดิน การลดมลภาวะทางเสียง การป้องกันกัมมันตภาพรังสี การก่อสร้างเขื่อน
หรือรั้วกั้นเสียง มาตรการลดมลภาวะทางน้ำ การรักษาระบบนิเวศวิทยาและภูมิทัศน์ ตลอดจน
การวิจัยและการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม
6. การเคหะและชุมชน จำนวน 67,963.3 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.5 ของงบประมาณ
รายจ่ายทั้งสิ้น เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการดำเนินงานจัดหาที่พักอาศัยและการกำหนด
มาตรฐาน การวางผังเมือง การพัฒนาชุมชน ตลอดจนการจัดหาน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค และ
การวิจัยและการพัฒนาด้านการเคหะและชุมชน
 7. การสาธารณสุข จำนวน 274,231.2 ล้านบาท หรือร้อยละ 10.1 ของงบประมาณ
รายจ่ายทั้งสิ้น เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดบริการสาธารณสุข ทั้งการวางแผน การบริหาร
การดำเนินงานโรงพยาบาล สถานพยาบาลต่างๆ การวิจัยเพื่อการพัฒนาด้านการสาธารณสุข
และการให้ความรู้และบริการด้านสุขภาพอนามัย
8. การศาสนา วัฒนธรรม และนันทนาการ จำนวน 21,553.6 ล้านบาท หรือ
ร้อยละ 0.8 ของงบประมาณรายจ่ายทั้งสิ้น เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดการกีฬาในส่วนที่เป็น
นโยบายนอกเหนือจากการจัดการศึกษา นอกจากนั้นยังเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานทางด้าน
วัฒนธรรม การศาสนา ค่าใช้จ่ายในการกระจายเสียงและจัดระบบโทรทัศน์ ตลอดจนการบริหาร
ด้านสิ่งพิมพ์ต่างๆ การจัดสร้างสวนสาธารณะหรือสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์
และสวนพฤกษศาสตร์ ตลอดจนการวิจัยและการพัฒนาด้านการศาสนา วัฒนธรรม และ
นันทนาการ

9. การศึกษา จำนวน 549,708.1 ล้านบาท หรือร้อยละ 20.2 ของงบประมาณ
รายจ่ายทั้งสิ้น เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเกี่ยวกับการบริหารการศึกษา การจัดการ
ศึกษาตั้งแต่ระดับก่อนประถมศึกษาจนถึงระดับอุดมศึกษา รวมทั้งการศึกษานอกโรงเรียน
การจัดทุนการศึกษา และการวิจัยเพื่อพัฒนาการศึกษา งบประมาณจำนวนดังกล่าว รวมถึง
เงินอุดหนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อดำเนินการด้านการศึกษา
10. การสังคมสงเคราะห์ จำนวน 264,293.1 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.7 ของงบประมาณ
รายจ่ายทั้งสิ้น เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดการประกันสังคมให้แก่บุคคลผู้สูญเสียรายได้เนื่องจาก
เจ็บป่วย การให้ประโยชน์ทดแทนแก่บุคคลทั่วไป ลูกจ้างของรัฐกรณีเกษียณอายุ ค่าใช้จ่าย
สำหรับการดำเนินงานสังคมสงเคราะห์ด้านที่อยู่อาศัย รวมทั้งการสงเคราะห์อื่น เช่น กรณี
ประสบภัยพิบัติ ตลอดจนการวิจัยและการพัฒนาด้านสังคมสงเคราะห์




                                                                                       (ที่มาข้อมูล: สำนักงบประมาณ)


                 ดังนั้น  ภาษีอากร มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือหนึ่ง
ในการหารายได้ของรัฐ ช่วยส่งเสริมพัฒนาเศรษฐกิจชาติ ควบคุมการบริโภคของประชาชน
 สร้างความมั่นคงต่อสังคม โดยการจัดเก็บภาษีนั้นจะจัดเก็บจากบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่มีรายได้
 และการจัดเก็บภาษีนั้นมีทั้งการจัดเก็บโดยตรงที่เรียกว่าภาษีทางตรง และภาษีทางอ้อม  
 การจัดเก็บภาษีอากรนั้นถือเป็นรายได้หลักของประเทศที่จะนำมาใช้เป็นรายจ่าย
 โดยการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี เพื่อพัฒนาประเทศต่อไป




ความหมายของภาษีอากร(TAX)
                 คำว่าภาษีอากรนั้นมีผู้ให้คำนิยามไว้หลายความหมายด้วยกัน ดังนี้
ภาษีอากร หมายถึง เงินที่รัฐบาลบังคับจัดเก็บจากราษฎรตามเงื่อนไขที่กฎหมายบัญญัติ
และนำไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนรวม โดยมิได้มีสิ่งตอบแทนโดยตรงแก่ผู้เสียภาษีอากร
ภาษีอากร หมายถึง เงินที่เคลื่อนย้ายจากภาคเอกชนไปสู่ภาครัฐบาล แต่ไม่รวมถึงการ
กู้ยืมหรือขายสินค้า หรือให้บริการในราคาทุนโดยรัฐบาล
ภาษีอากร หมายถึง เงินที่บุคคลถูกบังคับให้ต้องจ่ายให้แก่รัฐ เพื่อรัฐจะได้นำไปใช้จ่ายใน
กิจการอันเป็นสาธารณะประโยชน์ทั่วไป โดยที่ผู้จ่ายไม่ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนเป็นการ
เฉพาะตัว
วัตถุประสงค์ของการจัดเก็บภาษีอากร
การจัดเก็บภาษีอากรของรัฐมีวัตถุประสงค์หลายประการซึ่งพอสรุปได้ดังนี้
       1.เพื่อหารายได้ รัฐบาลจำเป็นต้องหารายได้เพื่อใช้ในกิจการด้านต่าง ๆ ซึ่งกิจการที่ว่า เป็นกิจการเพื่อส่วนรวมเช่น การสร้างถนน การใช้จ่ายด้านความมั่นคง ด้านการศึกษา เป็นต้น
       2. เพื่อเป็นเครื่องมือส่งเสริมความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐบาลจะนำเงินระบบ ภาษีอากรมากระตุ้นความเจริญเติบโต เช่นการลดอัตราภาษีอากรเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของ ประชาชน การยกเว้นการจัดเก็บภาษีของธุรกิจเอกชนที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงาน คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI: Board of Investment)
       3. เพื่อเป็นเครื่องมือในการควบคุมการบริโภคของประชาชน ซึ่งรัฐบาลสามารถนำระบบ การจัดเก็บภาษีอากรเพื่อควบคุมการบริโภคของประชาชน เช่น การเรียกเก็บภาษีจากสินค้า ประเภทฟุ่มเฟือยซึ่งมิได้จำเป็นต่อการครองชีพให้สูงทำให้มีราคาแพงเพื่อป้องกันมิให้ประชาชนจับจ่ายใช้สอยเงินฟุ่มเฟือยจนเกินไป เป็นต้น
       4. เพื่อเป็นเครื่องมือรักษาเสถียรภาพในทางเศรษฐกิจ ในกรณีที่ภาวะเศรษฐกิจไม่ปกติ รัฐบาลจำเป็นต้องมีการรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจเช่นการกระตุ้นการจ้างงานในยามที่ เศรษฐกิจตกต่ำ การป้องกันภาวะเงินเฟ้อด้วยมาตรการทางภาษี เป็นต้น
      5. เพื่อเป็นเครื่องมือในการกระจายรายได้แก่ประชาชน ซึ่งเป็นการกระจายความมั่งคั่งของกลุ่มคนร่ำรวยมาสู่คนยากจน ซึ่งนับว่าเป็นการลดช่อง ว่างระหว่างกลุ่มคนทั้ง 2 กลุ่มให้น้อยลงเพราะตามหลักการจัดเก็บภาษีนั้น คนร่ำรวยย่อมต้องรับภาระ ภาษีมาก ส่วนคนยากจนเสียภาษีน้อยหรืออาจไม่ต้องเสียเลย นับว่าเป็นการดึงเอารายได้จากคนร่ำรวยมาสู่คนยากจนทางอ้อมวิธีหนึ่ง
       6. เพื่อเป็นเครื่องมือสนองต่อนโยบายของรัฐบาล โดยปกติเมื่อรัฐบาลต้องการเงินเพื่อใช้ใน
โครงการใหญ่ (Mega Project) ซึ่งต้องใช้เงินเป็นจำนวนมากรัฐบาลอาจใช้การจัดเก็บภาษีอากรบางชนิดให้มากขึ้นเพื่อนำเงินที่ได้มาทำโครงการให้ได้ตามนโยบายของรัฐ

ลักษณะของภาษีอากรที่ดี
Adam Smith นักเศรษฐศาสตร์ผู้มีชื่อเสียง ชาวอังกฤษ ซึ่งถือเป็นบิดาแห่งการภาษีอากรได้
กล่าวไว้ในหนังสือ The Wealth of Nation เมื่อปี ค.. 1776 ว่าหลักการจัดเก็บภาษีอากรที่ดีนั้นจะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ 4 ประการ หรือที่เรียกว่า Adam Smith’s Canons ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้
          1. ต้องให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้เสียภาษี โดยจะต้องยึดหลักว่าผู้ที่มีรายได้มากควร จะต้องเสียภาษีมาก คนมีรายได้น้อยควรเสียภาษีน้อยตามกำลังความสามารถในการชำระภาษี(Ability to Pay) ของแต่ละคน
          2. ต้องกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจัดเก็บให้รัดกุมและแน่นอน เช่น ผู้เสียภาษีจะต้อง ชำระภาษีเมื่อใด ที่ไหน ถ้าผู้ใดละเลย หลีกเลี่ยง หรือล่าช้า จะต้องได้รับโทษอย่างไร เป็นต้น
         3. ต้องอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เสียภาษีมากที่สุด เช่น ควรกำหนดช่วงเวลาในการชำระ ภาษีให้นานพอสมควร เพื่อให้โอกาสแก่ผู้เสียภาษี และควรใช้วิธีการที่ง่ายไม่ยุ่งยากซับซ้อน เพื่อมิ ให้ผู้เสียภาษีเกิดความเบื่อหน่าย หรือให้ผ่อนชำระได้ในกรณีที่ต้องเสียภาษีเป็นจำนวนมาก เป็นต้น
         4. ต้องถือหลักจัดเก็บในอัตราต่ำแต่เก็บได้มากและทั่วถึง ดีกว่าที่จะเก็บในอัตราสูงแต่เก็บได้น้อยเนื่องจากเก็บแต่เฉพาะคนที่มีรายได้มาก อีกประการหนึ่งก็คือ การเรียกเก็บภาษีในอัตราสูง ย่อมเป็นการยั่วยุให้ผู้เสียภาษีเกิดความรู้สึกเสียดายเงินและพยายามหลีกเลี่ยงภาษี

                 โดยสรุปแล้วการจัดเก็บภาษีอากรที่ดีต้องอาศัยหลักการต่อไปนี้
        1. หลักความยุติธรรม
การเสียภาษีอากรควรคำนึงถึงความสามารถหรือรายได้ของผู้ประกอบการและประชาชนผู้เสียภาษีเป็นหลักเช่น คนที่มีรายได้มากก็เสียภาษีมากคนที่มีรายได้น้อยก็อาจเสียภาษีน้อยหรือไม่เก็บเลย คนที่มีรายได้เท่าเทียมกัน ก็ควรเสียเท่ากัน
        2. หลักความแน่นอน
เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่การเก็บภาษีจะต้องมีความแน่นอน เพราะผู้ประกอบการและประชาชนผู้เสียภาษีจะได้ใช้ในการวางแผนเกี่ยวกับภาษีของตนเอง ความแน่นอนนั้นต้องแน่นอนในเรื่องดังต่อไปนี้
      2.1  เวลาที่ต้องเสียภาษี หมายความว่าการเสียภาษีอากรจะต้องมีกำหนดเวลาที่
แน่นอนว่าต้องชำระเมื่อไร เช่น ต้องยื่นแบบแสดงรายการค้าภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป ภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่ายให้นำส่ง ณ ที่ว่าการอำเภอหรือเขตท้องที่ภายใน 7 วันนับตั้งแต่วันสิ้นเดือน เป็นต้น
      2.2  วิธีการเสียภาษี ควรกำหนดให้ผู้เสียภาษีทราบว่าได้เงินประเภทใด เสียภาษีอย่างไร
      2.3  จำนวนภาษี ควรกำหนดอัตราภาษีที่จะต้องเสียให้แน่นอน เงินรายได้เท่าใดอยู่ใน เกณฑ์จะต้องเสียภาษีเงินได้ หรืออยู่เกณฑ์จะต้องเสียในอัตราเท่าใด หรือจะต้องเสียอย่างน้อยอย่างมากเป็นจำนวนเท่าใด
        3.  หลักความสะดวก ภาษีทุกชนิดควรให้ความสะดวกแก่ผู้เสียภาษี ทั้งวิธีการ เวลา และสถานที่ที่ต้องเสียภาษีเช่น สามารถยื่นแบบรายการผ่านอินเตอร์เนต สามารถชำระภาษีได้ผ่านที่ทำการไปรษณีย์ ธนาคาร หรือร้านสะดวกซื้อเป็นต้น
        4.  หลักความประหยัดและมีประสิทธิภาพ
ภาษีอากรที่ดีต้องพิจารณาค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บภาษีให้น้อยที่สุดโดยพิจารณาทั้งผู้จัดเก็บภาษีและผู้เสียภาษี
        5.  หลักการอำนวยรายได้  (Productivity)  การเก็บภาษีอากรจากประชาชนควรเก็บเฉพาะประเภทที่สามารถทำรายได้ได้ดีไม่ควรจัดเก็บภาษีหลายประเภทมากเกินไป  การที่ภาษีอากรจะผลิตรายได้ให้มากน้อยเพียงใด นอกจากอัตราภาษีแล้วยังขึ้นอยู่กับเงื่อนไข 2 ประการคือ
         1.ลักษณะของฐานภาษี   ได้แก่
               ฐานกว้าง  คือภาษีอากรที่จัดเก็บครอบคลุมถึงผู้เสียภาษีอากรจำนวนมากหรือมีกิจการที่อยู่ในข่ายต้องเสียภาษีจำนวนมาก ย่อมสามารถจัดเก็บได้มากกว่าภาษีอากรที่มีฐานแคบ
            2.ขนาดของฐานภาษี    ได้แก่การที่เก็บภาษีจากฐานที่มีขนาดใหญ่คือเก็บได้เป็นจำนวนมากจากผู้เสียภาษีแต่ละราย แม้ผู้เสียภาษีดังกล่าวจะมีจำนวนน้อย ก็สามารถเก็บภาษีได้มาก
        6.  หลักความยึดหยุ่น  การเก็บภาษีอากรควรมีความยึดหยุ่นตามสภาพภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่เปลี่ยนไป เช่นเมื่อเศรษฐกิจของประเทศดีประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นรัฐอาจเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 7% เป็น 10% เป็นต้น
        7.  หลักการยอมรับของประชาชน  การเก็บภาษีอากรที่ดีนั้น ประชาชนจะยอมรับและยินดีที่จะได้เสียภาษีมากกว่าการหลีกเลี่ยง
        8.  หลักการบริหารที่ดี   วิธีการในการจัดเก็บภาษีอากรนั้น ควรจัดเก็บอย่างมีหลักเกณฑ์ที่รัดกุม มีประสิทธิภาพในการจัดเก็บ และสามารถควบคุมการหลีกเลี่ยงภาษีอากรได้อย่างดี
โครงสร้างของภาษีอากร
                เพื่อให้เข้าใจถึงภาษีอากร จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องรู้ถึงโครงการของภาษีอากร โดยโครงสร้างของภาษีอากรนั้นประกอบไปด้วย 6 ข้อหลักดังนี้
        1.  ผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากร ซึ่งภาษีอากรแต่ละประเภทได้กำหนดสถานะผู้มีหน้าที่เสียภาษี และวิธีการเสียภาษีแตกต่างกันแล้วแต่กรณี ภาษีที่จัดเก็บจากรายได้นั้น ครอบคลุมผู้มีรายได้ที่ เป็นบุคคลธรรมดา คณะบุคคล และนิติบุคคลประเภทต่าง ๆ โดยมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้แตกต่าง กันไป ได้แก่ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจัดเก็บจากผู้มีรายได้ที่เป็นบุคคลทั่วไปและหน่วยภาษีที่ได้ กำหนดไว้เป็นพิเศษ สำหรับภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้ปิโตรเลียมจัดเก็บจากนิติบุคคลที่ มีรายได้ เป็นต้น ภาษีบางประเภทจัดเก็บจากการบริโภคสินค้าและบริการ ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีธุรกิจเฉพาะเป็นภาษีที่จัดเก็บจากผู้ประกอบธุรกิจการค้าซึ่งสามารถผลักภาระภาษีไปให้ ผู้บริโภคได้ นอกจากนี้ผู้ทำตราสารบางประเภทอาจอยู่ในข่ายต้องเสียภาษีที่เรียกว่า อากรแสตมป์ อีกด้วย  ซึ่งโดยสรุปแล้วผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากรคือบุคคล
ธรรมดา คณะบุคคล และนิติบุคคลผู้มีเงินได้นั่นเอง
        2.     ฐานภาษีอากร คือ สิ่งที่ใช้เป็นเกณฑ์ในการจัดเก็บภาษี โดยนำอัตราภาษีไปคูณกับฐาน ภาษี จะได้จำนวนภาษีที่ต้องชำระ ซึ่งฐานภาษีที่จะนำมาเป็นเป็นในการจัดเก็บภาษีมีดังนี้
       2.1 ฐานรายได้ (Income Base) คือการจัดเก็บภาษีจากความสามารถในการทำได้รายได้ของบุคคลธรรมดาและรายได้ของนิติบุคคล
        2.2 ฐานภาษีเกี่ยวกับการบริโภค (Consumption Base) คือการเก็บภาษีจากการ บริโภคสินค้าหรือบริการของประชาชน ภาษีที่เก็บจากฐานการบริโภค ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษี
สรรพสามิต ภาษีนำเข้า ภาษีส่งออก เป็นต้น
        2.3 ฐานภาษีเกี่ยวกับความมั่งคั่ง (Wealth Base) หรือเรียกอีกอย่างว่าฐานภาษี ทรัพย์สิน ภาษีที่เก็บโดยอาศัยความมั่งคั่งเป็นฐาน เช่นภาษีที่ดิน
              2.3.1   ทรัพย์สินเฉพาะอย่าง นิยมจัดเก็บจากทรัพย์สินที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ หรือ สังหาริมทรัพย์ประเภทที่ระบุหรือกำหนดมูลค่าได้ง่าย เช่น ภาษีรถยนต์ เก็บจากทรัพย์สิน ประเภทรถยนต์ ภาษีบำรุงท้องที่ของไทยเก็บจากทรัพย์สินประเภทที่ดินหรือภาษีโรงเรือนและที่ดิน เก็บจากทรัพย์สินประเภทโรงเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ รวมกับที่ดิน ซึ่งโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างนั้นตั้งอยู่ เป็นต้น
               2.3.2  ทรัพย์สินโดยรวม จะต้องนำมูลค่าของทรัพย์สินทั้งหมดมารวมกัน เพื่อ เป็นฐานในการประเมินภาษี ทำให้เกิดปัญหาในการบริหารจัดเก็บให้ได้ผลเต็มเม็ดเต็มหน่วยอยู่ มาก ทั้งในด้านการติดตามรวบรวมทรัพย์สินของผู้เสียภาษีแต่ละรายให้ครบถ้วน และในด้านการ ประเมินราคาทรัพย์สินบางประเภท เช่น เพชรพลอย ศิลปวัตถุทั้งหลาย นอกจากฐานภาษีสำคัญ 3 ฐาน ที่กล่าวมานี้แล้ว ในการเรียกเก็บภาษีโดยทั่วไปยังมีฐานภาษีอย่างอื่น เช่น การจัดเก็บภาษี รัชชูปการ ซึ่งเรียกเก็บเป็นรายหัวจากชายฉกรรจ์ แท่นการเข้ารับราชการทหาร การจัดเก็บภาษีการ เดินทางออกนอกราชอาณาจักร ซึ่งเรียกเก็บจากผู้ถือสัญชาติไทย หรือจากคนต่างด้าวที่ได้รับ อนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยเป็นรายครั้งของการเดินทางออกนอกราชอาณาจักร ค่า ใบอนุญาตต่างด้าว ซึ่งเก็บจากคนต่างด้าวที่ได้ขออนุญาตมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย เป็นต้น
     2.4   ฐานสิทธิพิเศษในการประกอบการ คือการเก็บภาษีจากการที่รัฐให้ใบอนุญาต ในการทำกิจการบางอย่างแต่ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมให้แก่รัฐ เช่น ใบอนุญาตขายสุรา การผูกขาดเก็บรังนกนางแอ่น เป็นต้น
      3.       อัตราภาษี หมายถึงอัตราที่เรียกเก็บจากฐานภาษีต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้นเพื่อนำไป คำนวณจำนวนภาษีที่ต้องจ่าย อัตราภาษีจะแบ่งออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่
    3.1     อัตราแบบคงที่ อัตราภาษีอากรไม่เปลี่ยนแปลง แม้ว่าจำนวนของฐานภาษี อากรจะเปลี่ยนแปลงไป อัตราภาษีประเภทนี้ เช่น อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล ร้อยละ 30 และ อัตรา
ภาษีมูลค่าเพิ่ม ร้อยละ 7 เป็นต้น
     3.2   อัตราภาษีแบบก้าวหน้า อัตราภาษีประเภทนี้จะสูงขึ้นเมื่อฐานภาษีมีมูลค่า มากขึ้น เช่นการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งมีอัตราภาษีตั้งแต่ร้อยละ 5 ถึง ร้อยละ 37
     3.3   อัตราภาษีแบบถดถอย อัตราภาษีอากรลดลง แม้ว่าจำนวนของฐานภาษีอากร
จะเพิ่มขึ้น เช่น อัตราภาษีบำรุงท้องที่ เป็นต้น
      4.       การประเมินจัดเก็บภาษีอากร           มีอยู่ 4 วิธี ได้แก่
    4.1     การประเมินภาษีโดยการประเมินตนเอง (Self  assessment) ภาษีอากรส่วนใหญ่ ผู้มีหน้าที่เสีย ภาษีอากรเป็นผู้ดำเนินการประเมินตนเอง แล้วยื่นแบบแสดงรายการชำระภาษีอากร ตามจำนวนที่ พึงต้องชำระ ภายในกำหนดเวลาและสถานที่ ที่กฎหมายได้กำหนดไว้ หากประเมินแล้วไม่ถูกต้อง ครบถ้วน เจ้าพนักงานอาจประเมินภาษีเพิ่มเติมให้ถูกต้องได้ ภาษีประเภทที่ต้องประเมินตนเองเช่น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีนิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นต้น
    4.2     การประเมินภาษีโดยจ้าพนักงาน(Authoritative assessment) เป็นวิธีที่กำหนดให้ผู้เสียภาษีมีหน้าที่ยื่นแบบ แสดงรายการเพื่อแสดงรายละเอียดต่าง ๆ ที่จำเป็นสำหรับการคำนวณภาษีอากรต่อเจ้าพนักงาน แต่ยังไม่ต้องชำระภาษี ณ เวลานั้น เมื่อเจ้าพนักงานตรวจสอบรายละเอียดเสร็จแล้วก็จะทำการ ประเมินภาษีและแจ้งให้ผู้เสียภาษีทราบเพื่อมาชำระภาษีภายในวันและสถานที่ที่กำหนดไว้ ภาษีที่ ประเมินด้วยวิธีได้แก่ ภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน เป็นต้น นอกจากนี้หากว่าผู้มีหน้าที่ เสียภาษีประเมินตนเองไม่ถูกต้องหรือไม่สมบูรณ์ เจ้าพนักงานก็มีอำนาจประเมินให้ผู้มีหน้าที่เสีย ภาษีอากร ต้องรับผิดชำระเงินเพิ่ม และหรือ เบี้ยปรับเพิ่มขึ้น นอกเหนือ จากภาษีอากรที่ต้องเสีย
    4.3     การประเมินภาษีโดยการหักภาษี ณ ที่จ่าย(With holding) หลายกรณี กฎหมายกำหนด ให้ผู้ จ่ายเงินได้เป็นผู้ดำเนินการหักภาษีจากจำนวนเงินที่จ่าย แล้วนำส่งต่อเจ้าพนักงานภายในกำหนด เวลา ภาษีที่ถูกหักไว้นี้ มักถือเป็นเครดิตของผู้มีหน้าที่เสียภาษีเมื่อถึงกำหนดเวลา ผู้มีหน้าที่เสีย ภาษีอาจได้รับเงินคืน ถ้าภาษีที่ถูกหักไว้เกินกว่าจำนวนภาษีที่พึงต้องเสีย
  4.4   การชำระภาษีล่วงหน้า (Prepaymen)   คือการชำระภาษีก่อนถึงกำหนดยื่นรายการ  โดยภาษีที่ชำระถือป็นเครดิตภาษีในการชำระภาษีเมื่อถึงกำหนดยื่นรายการ เช่นกรณีผู้ที่มีเงินได้จะเดินทางออกนอกประเทศ  ต้องเสียภาษีเงินได้ก่อนถึงกำหนดยื่นรายการ   หรือกรณีได้รับค่าตอบแทนสัญญาระยะยาว เช่นเช่าที่มีกำหนดเวลาเช่าเป็นระยะเวลานาน ผู้เสียภาษีสามารถยื่นแบบ ภงด.93  ชำระภาษีล่วงหน้าเป็นรายปีเฉลี่ยตามอายุแห่งสัญญาเช่า     

    5.         การอุทธรณ์ภาษีอากร
กรณี เกิดปัญหาข้อขัดแย้งพิพาทกันเกี่ยวกับข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมาย ระหว่างผู้
มีหน้าที่เสียภาษีอากรและผู้จัดเก็บภาษีอากรเกี่ยวกับจำนวนภาษีอากรที่ต้องชำระ หรืออำนาจการ
ประเมินเรียกเก็บภาษีอากร หากผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากรต้องการให้มีการพิจารณาทบทวนใหม่
กฎหมายมักกำหนด ให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากร ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนและวิธีหาข้อยุติให้ครบถ้วน
ก่อน มิฉะนั้นผู้เสียภาษีอากรอาจเสียสิทธิในการนำคดีขึ้นสู่ศาลได้


        6.การบังคับ (Sanction)  ได้แก่เบี้ยปรับ เงินเพิ่ม และโทษทางอาญา
ผู้ไม่ชำระภาษีอากร จะต้องรับผิดในจำนวนภาษีอากรที่ไม่ชำระ พร้อมด้วยเบี้ยปรับและหรือเงินเพิ่ม ถ้าฝ่าฝืนไม่ยอมชำระซึ่งถือเป็นโทษทางแพ่ง นอกจากนี้กฎหมายมักให้อำนาจเจ้าพนักงานดำเนินการยึดทรัพย์สินของผู้ค้างภาษีอากรไปขายทอดตลาด เพื่อนำเงินไปชำระภาษีอากรค้างได้โดยไม่ต้องฟ้องศาล นอกจากนี้ อาจต้องรับโทษทางอาญา เช่น เสียค่าปรับ และหรือต้องระวางโทษจำคุกด้วย

ประเภทของภาษีอากร
สำหรับการจำแนกประเภทของภาษีอากรนั้น จะแตกต่างกันไปตามเกณฑ์ที่ใช้ในการจำแนกดังนี้
        1.  จำแนกภาษีอากรตามระดับที่จัดเก็บ ได้แก่
                  1.1  ภาษีระดับประเทศ เช่น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีศุลกากร ภาษีสรรพสามิต
                  1.2  ภาษีระดับท้องถิ่น ได้แก่ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีป้าย ภาษีท้องที่
        2.  การจำแนกภาษีอากรด้วยหลักการผลักภาระภาษี ได้แก่
                  2.1  ภาษีทางตรง คือภาษีที่ผู้เสียภาษีไม่สามารถผลักภาระไปให้ผู้อื่นได้ เช่น ภาษี
เงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นต้น
                 2.2   ภาษีทางอ้อม คือภาษีที่ผู้เสียภาษีสามารถผลักภาระไปให้ผู้อื่นได้ เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ ภาษีศุลกากร ภาษีสรรพสามิต เป็นต้น
        3.  การจำแนกภาษีอากรตามวิธีการประเมินภาษี ได้แก่
     3.1   ภาษีตามราคาหรือมูลค่า คือภาษีที่เรียกเก็บตามมูลค่าของฐานภาษี ปกติจะ กำหนดอัตราภาษีเป็นร้อยละ เช่น ร้อยละ 20 ของกำไรสุทธิ สำหรับภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นต้น
      3.2  ภาษีตามปริมาณหรือตามสภาพ เป็นภาษีที่จัดเก็บตามปริมาณของฐานภาษี ดังนั้นการจัดเก็บภาษีจึงจัดเก็บเป็นอัตราต่อปริมาณ เช่นจัดเก็บตามกิโลกรรม ตามชิ้นภาษีที่ จัดเก็บตามปริมาณได้แก่ ภาษีสรรพสามิต ภาษีศุลกากร
   4.        การจำแนกภาษีอากรตามลักษณะการนำเงินภาษีไปใช้ ได้แก่
      4.1  ภาษีทั่วไป เป็นภาษีที่จัดเก็บเพื่อนำไปใช้ในกิจการทั่วไปของรัฐ เช่น ภาษี
สรรพสามิต ภาษีศุลกากร เป็นต้น
      4.2  ภาษีเพื่อการเฉพาะอย่างคือภาษีที่จัดเก็บเพื่อนำไปใช้ในกิจการใดกิจการหนึ่ง โดยเฉพาะจะนำไปใช้เพื่อกิจการอื่นไม่ได้ เช่น ภาษีน้ำตาล      ภาษีที่เก็บจากน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อเป็นกองทุนน้ำมัน เป็นต้น
       5.   การจำแนกภาษีตามความถาวรของกฎหมายภาษีอากร ได้แก่
      5.1  ภาษีถาวรหรือภาษีปกติ คือภาษีที่เก็บอยู่เป็นปกติในแต่ละปี เช่น ภาษีเงินได้ บุคคลธรรมดา ภาษีนิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีโรงเรือน เป็นต้น
      5.2  ภาษีชั่วคราว คือภาษีที่จัดเก็บเป็นการชั่วคราวเมื่อมีเหตุฉุกเฉิน หรือเพื่อ กิจการใดกิจการหนึ่งในช่วงเวลาหนึ่ง เมื่อสิ้นสุดเหตุการณ์นั้นแล้วก็จะยกเลิกการเก็บ เช่น การเก็บ ภาษีเพิ่มขึ้นในช่วงสงครามเพื่อนำไปใช้ในการป้องกันประเทศเป็นต้น
ผลกระทบของการจัดเก็บภาษีอากร
              การจัดเก็บภาษีก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจหลายด้าน ที่สำคัญคือ ผลกระทบด้าน การจัดสรรทรัพยากร ด้านการกระจายรายได้ และผลกระทบต่อผลผลิตของชาติ ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้ ผลกระทบด้านการจัดสรรทรัพยากร การเก็บภาษีคือการโอนย้ายทรัพยากรจาก ภาคเอกชนไปสู่ภาครัฐ ดังนั้นผลกระทบจะเกิดกับเอกชนส่วนใดขึ้นอยู่กับว่าภาษีแต่ละประเภทรัฐ เก็บจากคนกลุ่มใด เช่น การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นภาษีที่จัดเก็บจากผู้บริโภคที่ซื้อสินค้า ดังนั้น ถือว่าภาษีประเภทนี้มีผลกระทบต่อผู้บริโภคที่ใช้สินค้าหรือบริการที่ต้องส่งหรือโอนเงินให้กับรัฐบาล เป็นต้น ผลกระทบต่อการกระจายรายได้ อย่างที่กล่าวไว้ว่าการจัดเก็บภาษีจะจัดเก็บจากผู้ที่มี เงินได้ซึ่งมีผลทำให้รายได้ที่แท้จริงของผู้มีเงินได้ลดลง การจัดเก็บภาษีจึงมีผลต่อการกระจายรายได้ ด้วย หมายความว่า ถ้าภาษีส่วนใหญ่ของประเทศเป็นภาษีทางตรงในอัตราที่ก้าวหน้า ภาระภาษีก็ จะตกอยู่กับคนที่มีรายได้สูง ทำให้การกระจายรายได้มีความเป็นธรรม หรือถ้าภาษีนั้นเป็นภาษี ทางอ้อมเช่นภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาระภาษีก็จะกระจายให้กับคนทุกกลุ่มที่ใช้สินค้าหรือบริการ ผลกระทบต่อการผลิตของชาติ การเก็บภาษีจะมีผลต่อการบริโภค การออม และการ ลงทุนของภาคเอกชน ซึ่งมีผลต่อเนื่องไปถึงการผลิตด้วย การเพิ่มขึ้นหรือลดลงของการผลิตจึง ขึ้นอยู่กับการจัดเก็บภาษีอากรแต่ละประเภทเป็นสำคัญ เช่น การเก็บภาษีเงินได้เพิ่มขึ้นจะทำให้ รายได้ของผู้เสียภาษีน้อยลง การทำงานลดลง การจ้างงานลดลง ส่งผลให้การผลิตรมของชาติลดลง ไปด้วย เป็นต้น  
การหลบหนีภาษีกับการหลบหลีกภาษี
การหลบหนีภาษี (Tax Evasion) คือการที่ผู้เสียภาษีใช้วิธีการที่ผิดกฎหมายหรือฉ้อฉล
เพื่อที่จะทำให้ไม่ต้องเสียภาษีหรือเสียภาษีน้อยลง ซึ่งการกระทำเช่นนี้มีความผิดและต้องได้รับโทษ
ตามกฎหมายตัวอย่างของการหนีภาษีเช่น ผู้เสียภาษีไม่กรอกจำนวนเงินได้หรือทรัพย์สินที่จะต้อง
เสียภาษีในแบบแสดงรายการโดยเจตนา หรือกรอกแต่กรอกไม่ตรงต่อความเป็นจริงเพื่อให้เสียภาษี
น้อย หรือการตั้งราคาโอน (Transfer Pricing) ก็เป็นการหนีภาษีเช่นเดียวกัน การตั้งราคาโอน
หมายถึงการที่บริษัทในเครือของบริษัทข้ามชาติ (Multinational Firm) ซื้อสินค้าจากบริษัทแม่หรือในบริษัทในเครือในต่างประเทศในราคาสูงกว่าความเป็นจริง เพื่อทำให้ต้นทุนสูง กำไรของบริษัทใน
ประเทศไทยจะได้ต่ำ ทำให้เสียภาษีน้อยลง หรือการที่บริษัท ในประเทศไทยขายสินค้าให้แก่บริษัท
แม่หรือบริษัทในเครือในต่างประเทศในราคาต่ำกว่าความเป็นจริง กำไรจะได้ต่ำหรือขาดทุน ทำให้
เสียภาษีในประเทศไทยน้อยหรือไม่ต้องเสียภาษีเลย
การหลบหลีกภาษี (Tax avoidance) การหลบหลีกภาษีคือการที่ผู้เสียภาษีใช้วิธีการที่ถูกต้องตามกฎหมายเพื่อทำให้ไม่ต้องเสียภาษีหรือเสียภาษีน้อยลง การใช้ช่องโหว่ของกฎหมายภาษีอากร (Tax Loopholes) เพื่อทำให้ไม่ต้องเสียภาษี หรือเสียภาษีน้อยลงก็ถือเป็นการหลบหลีกด้วย ดังนั้นการหลบหลีกภาษีถือเป็นการกระทำที่ไม่ผิดกฎหมาย ตัวอย่างของการหลบหลีกภาษีเช่น การที่ผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยไม่นำเงินได้ที่ได้รับจาการทำงานหรือประกอบธุรกิจใน
ต่างประเทศเข้ามาในปีภาษีเดียวกันกับที่ได้รับเงินได้นั้น แต่นำเข้ามาในปีภาษีอื่น ทำให้ ไม่ต้องเสีย
ภาษีก็เป็นการหลบหลีกภาษีที่ไม่ผิดกฎหมาย เพราะตามแนวปฏิบัติของกรมสรรพากร หากผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยไม่นำเงินได้ที่ได้รับจากการทำงาน หรือประกอบธุรกิจในต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทยในปีภาษีเดียวกับที่ได้รับเงินได้นั้น กรมสรรพากร ก็ไม่เก็บภาษี  
ภาระภาษี  และการผลักภาระภาษี
ภาระภาษี  หมายถึง ส่วนของรายได้แท้จริงที่ลดลงอันเนื่องมาจากการจัดเก็บภาษีอากรของรัฐบาล แบ่งออกเป็น 2 นัย คือ
                1)  ภาระภาษีตามกฎหมาย หรือภาระภาษีอย่างเป็นทางการ  หมายถึง ภาระในจำนวนหนี้ภาษีอากรของผู้มีหน้าที่เสียภาษีตามที่กฎหมายกำหนดไว้
                2). ภาระภาษีทางเศรษฐกิจ หรือภาระภาษีที่แท้จริง  หมายถึง ภาระภาษีที่ต้องตกอยู่กับบุคคลในขั้นสุดท้าย กล่าวคือ บุคคลผู้นั้นไม่สามารถผลักภาระภาษีต่อไปให้ผู้อื่นได้อีกแล้ว

การผลักภาระภาษี  (TAX SHIFTING) หมายถึง  การที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีตามที่กฎหมายกำหนดถ่ายเท หรือแบ่งภาระภาษีบางส่วนหรือทั้งหมดไปให้กับบุคคลอื่น  มี 2 วิธี คือ
                1. การผลักภาระภาษีไปข้างหน้า  เช่น  ผู้ผลิตซึ่งกฎหมายกำหนดให้มีหน้าที่เสียภาษีที่เรียกเก็บจากสินค้า อาจผลักภาระภาษีไปให้ผู้บริโภคสินค้านั้นได้โดยการขึ้นราคาสินค้า
                2. การผลักภาระภาษีไปข้างหลัง เช่น  ผู้ผลิตซึ่งกฎหมายกำหนดให้มีหน้าที่เสียภาษีที่เรียกเก็บจากสินค้า อาจผลักภาระภาษีไปให้เจ้าของปัจจัยการผลิตที่ใช้ในการผลิตสินค้านั้นได้ โดยการลดค่าจ้างแรงงาน หรือกดราคาปัจจัยการผลิต  จากผลของการผลักภาระภาษี จะเห็นได้ว่าภาระภาษีที่แท้จริงมีโอกาสตกอยู่กับบุคคล 3 กลุ่ม คือ ผู้บริโภคสินค้า  เจ้าของปัจจัยการผลิต และผู้ผลิตสินค้า  ผู้ใดจะรับภาระภาษีที่แท้จริงไว้มากน้อยเพียงใด ย่อมขึ้นอยู่กับความสามารถในการผลักภาระภาษีของผู้ผลิตสินค้านั้น       
                การผลักภาระภาษีจะกระทำได้มากน้อยเพียงใด  ย่อมขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายด้านด้วยกัน   เช่น
                1.  โครงสร้างของตลาด  ระดับการแข่งขันของตลาด เป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดขอบเขตของการผลักภาระภาษีอากร เช่น ถ้าเป็นตลาดที่มีการแข่งขันทางด้านผู้ผลิตน้อย หรือเป็นตลาดผูกขาด  ผู้ผลิตย่อมมีอำนาจในการกำหนดราคาสินค้าได้มาก เพราะผู้ซื้อมีโอกาสเลือกซื้อสินค้าจากผู้ผลิตได้ไม่มากราย ดังนั้น ผู้ผลิตจึงสามารถผลักภาระไปให้ผู้บริโภคโดยการขึ้นราคาสินค้าตามค่าภาษีอากรได้ง่ายกว่ากรณีที่เป็นตลาดที่มีการแข่งขันกันในระดับสูง              
                2.  ลักษณะของสินค้า  ก็มีส่วนกำหนดขอบเขตการผลักภาระภาษีได้ด้วย เช่น ถ้าเป็นสินค้าที่มีความคงทนถาวร เช่น ตู้เย็น โทรทัศน์ รถยนต์ ฯลฯ  ผู้ผลิตก็สามารถเก็บรักษาสินค้าประเภทนี้ไว้ได้นานโดยไม่เสื่อมเสีย เพื่อรอช่วงจังหวะอันเหมาะสมที่จะสามารถผลักภาระภาษีไปให้แก่ผู้บริโภคได้มาก แต่ถ้าเป็นสินค้าเน่าเสียได้ง่าย เช่น เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ ฯลฯ ผู้ขายจะเก็บสินค้าประเภทนี้ไว้ได้ไม่นาน  ทำให้รอการรอจังหวะที่จะผลักภาระไปให้ผู้บริโภค ลดน้อยลง ดังนั้นแม้ราคาสินค้าจะต่ำก็จำเป็นต้องขาย
                3.  ประเภทของภาษีอากร ก็มีส่วนสำคัญต่อการผลักภาระภาษี เช่น ภาษีท้องอ้อมเป็นภาษีที่ผลักภาระได้ง่ายกว่าภาษีทางตรง  
บทบาทของภาษีอากรกับนโยบายการเงินการคลังของรัฐ
                    ภาษีอากรถือเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของรัฐ ที่จะนำมาพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ แต่
อย่างที่กล่าวไว้แล้วว่า ภาษีอากรมีผลกระทบต่อรายได้ที่แท้จริงของผู้มีเงินได้ ดังนั้นนโยบายภาษีอากรที่ดีต้องตอบสนองเป้าหมายทางเศรษฐกิจ โดยต้องมีการจัดสรรทรัพยากรให้เป็นธรรม การกระจายรายได้ การรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และแก้ปัญหาดุลการค้าและดุลการชำระเงินระหว่างประเทศทั้งนี้ทั้งนั้นนโยบายภาษีอากรอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือของรัฐบาลในการดำเนินนโยบายการเงินการคลัง    5  ประการดังต่อไปนี้
         1.การส่งเสริมความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
         2.การจำกัดการบริโภคหรือส่งเสริมการบริโภคบางชนิด
         3.การรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ
         4.การแบ่งสรรปันส่วนรายได้และทรัพย์สินให้เป็นธรรม    
          5.การส่งเสริมสังคม การศึกษา การกีฬา และสิ่งแวดล้อม 
วิธีการต่างๆดังกล่าวเพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจนั้น  ควรเป็นที่เข้าใจในเบื้องต้นว่า แม้การภาษีอากรจะมีบทบาทอยู่มาก แต่ต้องใช้ร่วมกันไปกับนโยบายอื่นๆ  ได้แก่นโยบายการใช้จ่ายเงินของรัฐบาล  นโยบายการกู้เงิน  นโยบายทางสังคมและสิ่งแวดล้อม   โดยมีรายละเอียดดังนี้

                   ก . การส่งเสริมความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
นโยบายทางภาษีอากรมีส่วนเกี่ยวข้องกับปัจจัยต่างๆที่ส่งเสริมหรือพัฒนาความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจดังนี้
   (1) การสร้างสมทุน(Capital Formation)   ได้แก่การเพิ่มขึ้นซึ่งโรงงาน  เครื่องจักร เครื่องมือและอุปกรณ์เพื่อการผลิต ซึ่งภาษีอากรมีบทบาทสำคัญในการสร้างสมทุน ดังต่อไปนี้
                1.1 การยกเว้นภาษีอากรสำหรับกิจการที่ต้องการส่งเสริมการลงทุน(BOI)  ได้แก่ การยกเว้นภาษีเงินได้ชั่วระยะเวลาหนึ่ง  เช่น 5 ปี หรือ  8 ปี  ตามเงื่อนไขที่รัฐบาลต้องการ โดยมีคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(Board of Investment) เป็นผู้กำหนดเงื่อนไขและทิศทางของการส่งเสริมการลงทุน
                1.2 การให้สิทธิพิเศษในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้  ซึ่งอาจทำได้หลายวิธีได้แก่
                       - การให้หักค่าเสื่อมราคาได้เร็วขึ้นในระยะที่ลงทุน(Accelerate Depreciation)   เช่นหากต้องการส่งเสริมการลงทุนในรูปเครื่องจักร  เครื่องมือ ก็อาจกำหนดระยะเวลาในการให้หักค่าเสื่อมราคาสำหรับเครื่องจักรเครื่องมือนั้นในระยะแรกๆให้มากหรือให้หักได้ทั้งหมดภายในเวลาที่เร็วขึ้น  เพื่อให้มีกำไรสุทธิในระยะแรกๆน้อยลง ทำให้เสียภาษีเงินได้น้อยลงด้วย
                      - การให้การอุดหนุนการลงทุนในรูปแบบของการให้หักค่าใช้จ่ายได้เพิ่มขึ้นจากปกติ เช่น เพิ่มขึ้นร้อยละ 100  หรือ ร้อยละ 50  ของปกติ ขึ้น  เพื่อให้มีกำไรสุทธิในระยะแรกๆน้อยลง ทำให้เสียภาษีเงินได้น้อยลงด้วย
                 - การยอมให้นำผลขาดทุนที่เกิดขึ้นในปีหนึ่งไปหักจากกำไรของปีหลังๆได้นานขึ้น เกินกว่าปกติ เช่น ตามปกติบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถนำผลขาดทุนสุทธิไปหักจากกำไรสุทธิได้ไม่เกิน 5 ปี หากรัฐบาลต้องการส่งเสริมการลงทุนประเภทใดก็อาจกำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถนำผลขาดทุนสุทธิไปหักจากกำไรสุทธิได้เกิน 5 ปี
     (2) การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี
               ภาษีอากรมีส่วนร่วมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงก้าวหน้าทางเทคโนโลยี  โดยมีวิธีการ 2 วิธี ดังนี้
                  2.1 การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา เทคโนโลยีของผู้ประกอบการภายในประเทศโดยยอมให้นำเอาค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนามาหักเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้เพิ่มขึ้น  เช่น

                             1. การให้หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาเบื้องต้นของทรัพย์สินประเภทเครื่องจักร
และอุปกรณ์ของเครื่องจักรที่ใช้สำหรับการวิจัยและพัฒนา
                              ให้หักในวันที่ได้ ทรัพย์สินนั้นมาในอัตราร้อยละ 40 ของมูลค่าต้นทุน สำหรับมูลค่าต้นทุนส่วนที่เหลือให้หักตามเงื่อนไขและอัตราที่กำหนด
                             ประโยชน์ ที่ผู้ประกอบการจะได้รับ : ผู้ประกอบการที่ซื้อเครื่องจักร และอุปกรณ์ของเครื่องจักรที่ใช้สำหรับการวิจัยและพัฒนา สามารถหักค่าสึกหรอ และค่าเสื่อมราคา ในปีแรกได้สูงกว่าเครื่องจักร และอุปกรณ์ทั่วไป ทำให้
ผู้ ประกอบการเสียภาษีลดลงในปีแรกที่ซื้อเครื่องจักร และอุปกรณ์มา ผู้ประกอบการก็จะได้ประโยชน์ในด้านการหมุนเงิน (CASH FLOW) เนื่องจากเป็นการชะลอการเสียภาษีในปีแรก   ตาม"พระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน"
                             2 การยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินได้ของบริษัท และห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล เป็นจำนวนร้อยละ 100 ของรายจ่าย ที่ได้จ่ายไปเป็นค่าจ้างเพื่อทำการวิจัยและพัฒนาให้แก่ หน่วยงานของรัฐ หรือเอกชนตามที่กำหนด
                             ประโยชน์ ที่ผู้ประกอบการจะได้รับ : ผู้ประกอบการสามารถหักรายจ่ายสำหรับค่าจ้าง เพื่อทำการวิจัยและพัฒนาได้ตามปกติและยังได้รับยกเว้นเงินได้เป็นจำนวนร้อย ละ 100 ของรายจ่ายที่ได้จ่ายไปเป็นค่าจ้างเพื่อทำการวิจัยและพัฒนา เช่น ผู้ประกอบการได้จ่ายค่าจ้างเพื่อทำการวิจัยและพัฒนา 100,000 บาท ผู้ประกอบการจะหักรายจ่ายได้ตามปกติ 100,000 บาท และเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษี 100,000 บาท ทำให้เงินได้ที่ต้องนำไปคำนวณเพื่อเสียภาษีลดลง 200,000 บาท หรือเทียบเท่ากับ 200% ของรายจ่ายที่ได้จ่ายไปเป็นค่าจ้างเพื่อทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี  ตาม
"พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 297) พ.ศ. 2539"
(3)  การส่งเสริมการขุดค้นทรัพยากรธรรมชาติ
          การใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุดเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจ  การภาษีอากรมีส่วนช่วยในด้านนโยบายการขุดค้นทรัพยากรธรรมชาติเพื่อให้ได้ขุมทรัพยากรและกำหนดผลประโยชน์ที่รัฐบาลควรจะได้รับ  เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เอกชนในการสำรวจและขุดค้นทรัพยากรธรรมชาติ  เช่น
-         การลดค่าภาคหลวง ซึ่งเป็นภาษีที่รัฐบาลได้จากผลผลิตทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อส่งเสริมให้มีการสำรวจ   ปิโตรเลียมในทะเลน้ำลึกเกิน 200  เมตร
-         การลดภาษีเงินได้ สำหรับผู้ประกอบกิจการขุดค้นทรัพยากรธรรมชาติ หรือการให้หักค่าสูยสิ้นของทรัพยากรธรรมชาติในการคำนวณค่าเสื่อมราคาได้เป็นพิเศษ เพื่อให้มีกำไรสุทธิน้อยลงและเสียภาษีน้อยลง

     ข. การจำกัดการใช้ทรัพยากร
การจำกัดการใช้ทรัพยากร ของผู้บริโภค เป็นการขัดต่อหลักเสรีภาพในการเลือกของผู้บริโภค   แต่ในบางกรณี รัฐบาลก็จำเป็นในการจำกัดการบริโภคของผู้บริโภค ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม  ได้แก่
          (1) การบริโภคที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ  ซึ่งจะทำให้แรงงานของประเทศโดยส่วนรวมเสื่อมเสียไปซึ่งเป็นผลเสียในทางเศรษฐกิจ  เช่นการบริโภคสิ่งเสพติดหรือของมึนเมา   หากต้องการจำกัดการบริโภคสินค้าดังกล่าว รัฐบาลก็อาจใช้มาตรการทางภาษี โดยจัดเก็บภาษีสำหรับสินค้านั้นมากขึ้น ทำให้สินค้ามีราคาแพงขึ้น  คนก็บริโภคน้อยลง
           (2) การบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือย  ซึ่งไม่เป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีพ  หรือสินค้าราคาแพงจากต่างประเทศ   หากต้องการจำกัดการบริโภคสินค้าดังกล่าว รัฐบาลก็อาจใช้มาตรการทางภาษี โดยจัดเก็บภาษีสำหรับสินค้านั้นมากขึ้น ทำให้สินค้ามีราคาแพงขึ้น  คนก็บริโภคน้อยลง  เพราะหากจำกัดการใช้ทรัพยากรฟุ่มเฟือยลงได้ผลก็สามารถใช้ทรัพยากรและแรงงานของประเทศไปผลิตสินค้าที่จำเป็นต่อคนส่วนใหญ่ได้มากขึ้น

        ค.การรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ
การรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ โดยนัยที่ให้มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยสม่ำเสมอ ปราศจากภาวะเงินเฟ้อหรือ เงินฝืด  เป็นจุดมุ่งหมายที่จะไม่ทำให้ทรัพยากรและแรงงานสูญเปล่า หรือเกิดความสับสนในการแบ่งรายได้ระหว่างคนต่างอาชีพ การใช้นโยบายทางภาษีอากรในการควบคุมภาวะเงินเฟ้อหรือภาวะเงินฝืด จึงสามารถกระทำได้ดังนี้
       (1) เงินเฟ้อ  ได้แก่ภาวะที่อุปสงค์ในการซื้อสินค้าและบริการคิดเป็นเงินรวมกันเกินกว่าระดับที่จะผลิตสินค้าหรือบริการได้ในขณะที่ปัจจัยการผลิตทำงานเต็มที่แล้ว   ทำให้เกิดภาวการณ์ขึ้นราคาของสินค้าและบริการต่างๆอย่างไม่หยุดยั้ง  ทำให้ค่าของเงินมีมูลค่าต่ำลง    ดังนั้นหากจำเป็นต้องใช้นโยบายทางภาษีอากรในการแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อ   ก็อาจใช้วิธีขึ้นภาษีทางอ้อม เช่น เพิ่มอัตราการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม จากร้อยละ 7 เป็นร้อยละ 10  ซึ่งมีผลเป็นการทำให้สิ้นค้าราคาแพงขึ้นเป็นการลดการบริโภคของประชาชนมีผลเป็นการลดรายได้ของประชาชนขั้นต่อๆไป
       (2) เงินฝืด  ได้แก่ภาวะที่อุปสงค์ในการซื้อหาสินค้าหรือบริการรวมกันต่ำกว่าต่ำกว่าระดับที่จะผลิตสินค้าหรือบริการได้หากปัจจัยการผลิตทำงานเต็มที่  เป็นผลให้เกิดการว่างงาน คนมีรายได้น้อยลงและราคาสินค้าต่างๆก็โน้มเอียงในทางลดลง ซึ่งภาวะเงินฝืดมีผลเสียแก่ระบบเศรษฐกิจ เพราะ การที่ใช้ปัจจัยการผลิตไม่เต็มที่ทำให้เป็นผลเสียที่ชะงักความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ  โดยเฉพาะปัจจัยการผลิตที่เป็นแรงงาน เมื่อไม่ได้ใช้ไประยะเวลาหนึ่งก็ไม่อาจใช้ในเวลาอื่นได้
การใช้นโยบายทางภาษีแก้ไขปัญหาภาวะเงินฝืดได้แก่การลดภาษีทางตรง  เช่นการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือ ลดภาษีเงินได้นิติบุคคล  ซึ่งเป็นการทำให้ประชาชนมีเงินมาใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น   ส่งผลให้สินค้าหรือบริการขายได้ดีขึ้น  มีการผลิตเพิ่มมากขึ้น มีการจ้างแรงงานมากขึ้น คนไม่ตกงาน
                ง.การแบ่งสรรปันส่วนรายได้และทรัพย์สิน 
การแก้ไขปัญหาความเลื่อมล้ำของประชาชนในด้านรายได้และทรัพย์สินนั้น  อาจใช้นโยบายทางภาษีอากร เป็นเครื่องมือในการแก้ไขความเหลื่อมล้ำสูงต่ำทางเศรษฐกิจของประชาชน โดยการใช้ภาษีทางตรงเป็นเครื่องมือ ได้แก่
         (1) ภาษีเงินได้   การจัดเก็บภาษีเงินได้ในอัตราก้าวหน้า นอกจากจะถูกต้องตามความเป็นธรรมในด้านความสามารถของผู้เสียภาษีแล้ว จะป้องกันความเหลื่อมล้ำสูงต่ำทางเศรษฐกิจไปในตัวด้วย
         (2) ภาษีทรัพย์สินและภาษีมรดก         การเก็บภาษีทรัพย์สินจากคนที่มีทรัพย์สินมาก หรือ จากคนที่ได้รับมรดกมาก ย่อมเป็นการแก้ไขปัญหาความเลื่อมล้ำของประชาชนในด้านรายได้และทรัพย์สิน เช่น ภาษีโรงเรือนที่ดิน  ภาษีรถยนต์ ภาษีมรดก
               
  จ. การส่งเสริมสังคม การศึกษา การกีฬา และสิ่งแวดล้อม
            ได้แก่การใช้มาตรการทางภาษีเพื่อสนับสนุนให้มีการส่งเสริมสังคม การศึกษา  การกีฬา และสิ่งแวดล้อม เช่น การให้หักลดหย่อนบิดามารดา เป็นการส่งเสริมสังคมให้มีการอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา หรือ การให้หักลดหย่อนคนพิการ  การหักลดหย่อนเงินบริจาคเพื่อการศึกษา หักได้ 2 เท่า  การลดหย่อน เงินบริจาคเพื่อการกีฬา หรือ การให้หักค่าใช้จ่ายสำหรับอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน เป็นต้น
           นอกจากนี้สำหรับคนพิการ   กรณีนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการซึ่งรับคนพิการเข้าทำงาน  หรือ จัดสิ่งอำนวยความสะดวกให้คนพิการ  มีสิทธิได้รับยกเว้นภาษีเงินได้เป็นจำนวนร้อยละหนึ่งร้อยของรายจ่ายในการจ้างคนพิการดังกล่าว  (หักเป็นรายจ่ายได้ 2 เท่า)หรือหากเจ้าของสถานประกอบการที่จ้างแรงงานคนพิการเกินกว่าร้อยละ 60 มีสิทธิได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนเพิ่มเติมอีกร้อยละหนึ่งร้อย(หักเป็นรายจ่ายได้ 3 เท่า)
 ฉ. ใช้มาตรการทางภาษีสนับสนุนนโยบายบางอย่างของรัฐบาล  
ได้แก่การใช้มาตรการทางภาษีสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล  เช่น
    (1) นโยบาย บ้านหลังแรก  ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา  ร้อยละ 10 ของราคาบ้านแต่ไม่เกิน 5 แสนบาท เป็นเวลา 5 ปี ติดต่อกัน
    (2) นโยบายรถยนต์คันแรก  คืนภาษีไม่เกิน หนึ่งแสนบาทต่อคัน
    (3) นโยบาย ค่าแรง 300  บาท   โดย กระทรวงการคลัง ชี้แจงถึงมาตรการที่จะช่วยเหลือธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท ที่กระทรวงการคลังเห็นชอบ เช่น การลดภาษีนิติบุคคลจากร้อยละ 30 เหลือร้อย 23 ในปี 2555 และการหักรายจ่ายของค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น เพื่อนำไปหักภาษีนิติบุคคลได้ 1.5 เท่า  โดยมีเงื่อนไขว่าต้องเป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี)ที่มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท มีรายได้ต่อปีไม่เกิน 30 ล้านบาท 


1 ความคิดเห็น: