วันจันทร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2559

บทที่ 4 ภาษีเงินได้นิติบุคคล (ตอนที่ 2)

เอกสารประกอบการเรียนการสอน
วิชา การภาษีอากร/ภาษีอากร 1
รหัสวิชา 961365/960102
ภาคเรียนที่ 1  ปีการศึกษา 2559  คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ผู้สอน : นายวินัย  เนื้อนาจันทร์   นักวิชาการสรรพากรเชี่ยวชาญ (อาจารย์พิเศษ)
บทที่ 4  ภาษีเงินได้นิติบุคคล (ตอนที่ 2)
Corporate Income Tax (CIT)
4.4 เงื่อนไขการคำนวณกำไรสุทธิตามมาตรา 65 ตรี (ด้านรายจ่าย)
ประเภทของรายจ่ายในทางภาษีอากร  แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่
1.รายจ่ายในการดำเนินกิจการ  ได้แก่รายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ ที่มิใช่รายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน  เช่น เงินเดือน  ค่าจ้าง ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าเช่าสำนักงาน ฯลฯ
1.ต้องเป็นรายจ่ายที่เกี่ยวโดยตรงกับการประกอบกิจการ
2.ต้องเป็นรายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะและมีเหตุผลอันควรที่จะจ่ายรายจ่ายนั้น
3.ต้องเป็นรายจ่ายที่มีหลักฐานการจ่ายหรือพิสูจน์ผู้รับได้
4.ต้องเป็นรายจ่ายที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น
5.ต้องเป็นรายจ่ายที่ใช้แล้วหมดไปไม่ก่อให้เกิดเป็นทุนรอน
6.และต้องไม่เป็นรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65ทวิ และ 65ตรี
2.รายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน  ได้แก่รายจ่ายเพื่อการได้มาซึ่งทรัพย์สินถาวร หรือสิทธิประโยชน์อื่นที่มีระยะเวลาการใช้งานมากกว่าหนึ่งรอบระยะเวลาบัญชี เช่นค่าซื้อทรัพย์สิน ที่ดิน อาคาร เครื่องจักร เครื่องมือเครื่องใช้ (เป็นรายจ่ายต้องห้าม ตามมาตรา 65 ตรี(5) แต่ให้หักเป็นค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา)  แบ่งเป็นลักษณะต่างๆได้ดังนี้
1.ต้นทุนเพื่อการได้มาซึ่งทรัพย์สิน รวมทั้งรายจ่ายเพื่อการได้มาซึ่งทรัพย์สิน
2.รายจ่ายในการต่อเติม  หมายถึง รายจ่ายเพื่อต่อเติมส่วนต่างๆของทรัพย์สิน เช่นการต่อเติมอาคาร
3.รายจ่ายในการเปลี่ยนแปลง หมายถึงรายจ่ายในการเปลี่ยนแปลงทรัพย์สินไปจากสภาพเดิม เช่นดัดแปลงรถยนต์ กั้นห้อง
4.รายจ่ายในการขยายออก  เช่นการขยายอาคารโรงงานออกไป
5.รายจ่ายในการทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สิน แต่มิใช่เป็นการซ่อมแซมให้คงสภาพเดิม
 

3.รายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี ซึ่งห้ามมิให้นำมาหักในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล แยกตามลักษณะของรายจ่ายต้องห้าม ดังนี้
1. รายจ่ายที่กันไว้ใช้จ่ายเพื่อการใดโดยเฉพาะซึ่งมิได้มีการจ่ายจริง
2. รายจ่ายเพื่อประโยชน์เฉพาะบุคคล
3. รายจ่ายเพื่อทรัพย์สินหรือค่าใช้ทรัพย์สิน
4. รายจ่ายที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้
5. รายจ่ายที่กำหนดขึ้นเองหรือพิสูจน์ไม่ได้
โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
 มาตรา 65 ตรี  (1) เงินสำรองต่าง ๆ
    รายจ่ายที่เป็นเงินหรือทรัพย์สินที่กันไว้ใช้จ่ายเพื่อการใด ๆ โดยที่ยังมิได้จ่ายจริง กฎหมายห้ามมิให้นำรายจ่ายที่มีลักษณะดังกล่าวมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษี เพราะเป็นรายจ่ายที่ยังมิได้เกิดขึ้นจริง เป็นเพียงการคาดคะเนหรือการประมาณการว่าจะมีรายจ่ายในลักษณะดังกล่าวนี้เกิดขึ้นเท่านั้น รายจ่ายที่มีลักษณะดังกล่าว      หมายถึง เงินที่บริษัทได้กันไว้เพื่อใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์ของบริษัท โดยไม่มีข้อผูกพันที่จะต้องจ่าย ได้แก่  เงินสำรองตามกฎหมาย  เงินสำรองสาหรับการขยายกิจการ  เงินสำรองสำหรับการซื้อเครื่องจักรใหม่  หรือ เงินสำรองที่กันไว้เพื่อการอื่นๆ ทั้งนี้ เงินสำรองดังกล่าวไม่ถือเป็นรายจ่าย และไม่ให้นำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล
     เว้นแต่เป็นเงินสำรองดังต่อไปนี้ที่นำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้(ไม่ต้องห้าม)
       (ก) เงินสำรองจากเบี้ยประกันภัยเพื่อสมทบทุนประกันชีวิตที่กันไว้ก่อนคำนวณกำไร เฉพาะส่วนที่ไม่เกินร้อยละ 65 ของจำนวนเบี้ยประกันภัยที่ได้รับในรอบระยะเวลาบัญชีหลังจากหักเบี้ยประกันภัยซึ่งเอาประกันต่อออกแล้ว
       ในกรณีต้องใช้เงินตามจำนวนซึ่งเอาประกันภัยสำหรับกรมธรรม์ประกันชีวิตรายใดไม่ว่าเต็มจำนวนหรือบางส่วน เงินที่ใช้ไปเฉพาะส่วนที่ไม่เกินเงินสำรองตามวรรคก่อนสำหรับกรมธรรม์ประกันชีวิตรายนั้น จะถือเป็นรายจ่ายไม่ได้
       ในกรณีเลิกสัญญาตามกรมธรรม์ประกันชีวิตรายใด ให้นำเงินสำรองตามวรรคแรก จำนวนที่มีอยู่สำหรับกรมธรรม์ประกันชีวิตรายนั้น กลับมารวมคำนวณเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีที่เลิกสัญญา
       (ข) เงินสำรองจากเบี้ยประกันภัยเพื่อสมทบทุนประกันภัยอื่นที่กันไว้ก่อนคำนวณกำไร เฉพาะส่วนที่ไม่เกินร้อยละ 40 ของจำนวนเบี้ยประกันภัยที่ได้รับในรอบระยะเวลาบัญชีหลังจากหักเบี้ยประกันภัยซึ่งเอาประกันต่อออกแล้ว และเงินสำรองที่กันไว้นี้จะต้องถือเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีในรอบระยะเวลาบัญชีปีถัดไป  
       (ค) เงินสำรองที่กันไว้เป็นค่าเผื่อหนี้สูญหรือหนี้สงสัยจะสูญ สำหรับหนี้จากการให้สินเชื่อที่ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์ หรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ได้กันไว้ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์หรือกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ เฉพาะส่วนที่ตั้งเพิ่มขึ้นจากเงินสำรองประเภทดังกล่าวที่ปรากฏในงบดุลของรอบระยะเวลาบัญชีก่อน 
       เงินสำรองส่วนที่ตั้งเพิ่มขึ้นตามวรรคหนึ่ง และได้นำมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิไปแล้วในรอบระยะเวลาบัญชีใด ต่อมาหากมีการตั้งเงินสำรองประเภทดังกล่าวลดลง ให้นำเงินสำรองส่วนที่ตั้งลดลงซึ่งได้ถือเป็นรายจ่ายไปแล้วนั้น มารวมคำนวณเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีที่ตั้งเงินสำรองลดลงนั้น
มาตรา 65 ตรี (2) เงินกองทุน เว้นแต่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
        เงินกองทุน (Funds) หมายถึง เงินกองทุนที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้จัดสรรหรือจ่ายจากงบกำไรขาดทุนมาตั้งไว้โดยเฉพาะเพื่อประโยชน์ของบริษัท หรือ พนักงาน หรือ เพื่อเป็นสวัสดิการ เช่น       
         เงินกองทุนเพื่อการรักษาพยาบาลลูกจ้างที่เจ็บป่วย เนื่องจากการปฏิบัติงานในหน้าที่
     
   เงินกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างที่มีบุตรมาก
         เงินกองทุนช่วยเหลือลูกจ้างที่ประสบภัยธรรมชาติ เป็นต้น  
         ตัวอย่าง บริษัท ขอนแก่น จำกัด ได้จัดตั้งกองทุนสนับสนุนการศึกษาบุตรเพื่อช่วยเหลือพนักงานของบริษัทที่มีฐานะยากจน โดยจัดสรรเงินจากงบกำไรขาดทุนมาตั้งไว้โดยเฉพาะ เงินที่บริษัทได้จ่ายเข้ากองทุนดังกล่าว บริษัทจะนำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีไม่ได้
         กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund)      
    กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (
Provident Fund)       นำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีได้  คือ กองทุนที่นายจ้างและลูกจ้างร่วมกันจัดตั้งขึ้นด้วยความสมัครใจ เพื่อให้ลูกจ้างมีเงินออมไว้ใช้จ่ายยามเกษียณอายุ ออกจากงาน ทุพพลภาพ หรือเป็นหลักประกันให้แก่ครอบครัว กรณีที่ลูกจ้างเสียชีวิตโดยเงินกองทุนจะมาจากเงินที่ลูกจ้างจ่ายเข้ากองทุนเพื่อตนเองส่วนหนึ่งเรียกว่า "เงินสะสม" ซึ่งกฎหมายกำหนดให้สะสมได้ตั้งแต่ 2 - 15% ของเงินเดือน  และเงินที่นายจ้างจ่ายเข้ากองทุนให้อีกส่วนหนึ่งเรียกว่า "เงินสมทบ" ซึ่งกฎหมายกำหนดให้สมทบในอัตราที่ไม่ต่ำกว่าเงินสะสมของลูกจ้าง  กองทุนสำรองเลี้ยงชีพถือเป็นสวัสดิการรูปแบบหนึ่งที่นายจ้างให้แก่ลูกจ้าง ซึ่งการเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้น นอกจากจะทำให้ลูกจ้างมีเงินก้อนไว้สำหรับใช้จ่ายยามเกษียณอายุ และมีหลักประกันทางการเงินให้แก่ครอบครัวแล้ว ยังได้รับผลประโยชน์ตอบแทนที่เกิดจากการนำเงินก้อนนี้ไปลงทุน เรียกว่า ผลประโยชน์ของเงินสะสมและ ผลประโยชน์ของเงินสมทบอีกด้วย
           ทั้งนี้ ตามมาตรา 65 ตรี(2) "เงินสมทบ" ที่บริษัทจ่ายสมทบเข้ากองทุนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ  ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดโดย กฎกระทรวง ฉบับที่ 183 (พ.ศ.2533)   สามารถนำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้(ไม่ต้องห้าม)   มีดังนี้
          2.1  เงินที่บริษัทจ่ายสมทบเข้ากองทุนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ที่จะถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิได้ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ  
          2.2  เงินที่บริษัทจ่ายสมทบเข้ากองทุนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ให้ถือเป็นรายจ่ายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีที่จ่ายเท่ากับเงินที่บริษัทได้จ่ายสมทบตามอัตราที่กำหนดในข้อบังคับของกองทุนหรือตามอัตราที่กำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรีตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ทั้งนี้ ต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนภายในสามวันทำการนับแต่วันที่มีการจ่ายค่าจ้าง และต้องจ่ายเข้ากองทุนในรอบระยะเวลาบัญชีเดียวกันกับที่มีการจ่ายค่าจ้าง

           2.3   ในกรณีที่บริษัทมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องในการส่งเงินสะสมหรือเงินสมทบเข้ากองทุนตามอัตราที่กำหนดในข้อบังคับของกองทุน หรือตามอัตราที่กำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรีตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภายในสามวันทำการนับแต่วันที่มีการจ่ายค่าจ้าง เงินที่บริษัทจ่ายสมทบนับแต่รอบระยะเวลาบัญชีนั้นเป็นต้นไปไม่ให้ถือเป็นรายจ่าย แต่ถ้าบริษัทได้แก้ไขการปฏิบัติให้ถูกต้อง และได้จ่ายเงินเพิ่มให้แก่กองทุนในระหว่างเวลาที่ส่งล่าช้าตามอัตราที่กำหนดตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแล้ว อธิบดีกรมสรรพากร จะอนุมัติให้ถือเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีที่แก้ไขให้ถูกต้องนั้น หรือจะอนุมัติให้ถือเป็นรายจ่ายย้อนหลังไปถึงรอบระยะเวลาบัญชีที่ปฏิบัติไม่ถูกต้องก็ได้
          2.4    ในกรณีที่บริษัทได้จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนและถือเป็นรายจ่ายไปแล้วถ้าบริษัทได้เงินกลับคืนมาจากกองทุนด้วยประการใด ๆ เงินที่ได้กลับคืนมานั้นให้ถือเป็นรายได้ของบริษัทในรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้กลับคืนมา
         2.5   บริษัทใดได้นำเงินที่จัดสรรหรือสำรองไว้เพื่อจ่ายในกรณีที่ลูกจ้างออกจากงานอยู่ก่อนวันที่กฎกระทรวง ฉบับที่ 162 (พ.ศ. 2526) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ใช้บังคับจ่ายสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 162 (พ.ศ. 2526) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และได้ถือเป็นรายจ่ายตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในข้อ 17 แห่งกฎกระทรวงฉบับที่ 162 (พ.ศ. 2526) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปบางส่วนแล้ว เมื่อบริษัทได้จัดตั้งกองทุนตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแล้ว ให้นำเงินที่บริษัทจ่ายสมทบเข้ากองทุนถือเป็นรายจ่ายได้ต่อไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในข้อ 17 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 162 (พ.ศ. 2526) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
        2.6  บริษัทใดจัดสรรหรือสำรองเงินไว้เพื่อใช้จ่ายในกรณีลูกจ้างออกจากงาน และได้นำเงินจ่ายสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในข้อ ๓ หรือข้อ ๓/๒ แห่งกฎกระทรวง (พ.ศ. ๒๕๓๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. ๒๕๓๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๑ (พ.ศ. ๒๕๕๓) ออกตามความในพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. ๒๕๓๐ ให้ถือว่าเงินที่บริษัทได้จ่ายสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพดังกล่าวเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิได้ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังต่อไปนี้
      (๑) ในกรณีที่เป็นการจ่ายสมทบเข้ากองทุนทั้งหมดในครั้งเดียว ให้ถือเป็นรายจ่ายได้ห้ารอบระยะเวลาบัญชี รอบละเท่า ๆ กันโดยให้เริ่มนับตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่นายทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพรับจดทะเบียนกองทุนเป็นต้นไป เว้นแต่กรณีตามข้อ ๓/๒ แห่งกฎกระทรวง (พ.ศ. ๒๕๓๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. ๒๕๓๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๑ (พ.ศ. ๒๕๕๓) ออกตามความในพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. ๒๕๓๐ ให้เริ่มนับตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่นายทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้อนุมัติให้นำเงินทุนสำรองเลี้ยงชีพลูกจ้างเข้ากองทุนเป็นต้นไป
       (๒) ในกรณีที่เป็นการจ่ายสมทบเข้ากองทุนไม่หมดในครั้งเดียว ต้องจ่ายสมทบเข้ากองทุนให้หมดภายในสิบครั้งตามรอบระยะเวลาบัญชี โดยแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีต้องจ่ายสมทบอย่างน้อยเท่ากับจำนวนเงินที่บริษัทจัดสรรหรือสำรองไว้หารด้วยจำนวนปี และเงินที่จ่ายสมทบนั้นให้ถือเป็นรายจ่ายได้เท่ากับจำนวนดังกล่าว”   ถ้าในรอบระยะเวลาบัญชีใดบริษัทจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเกินจำนวนที่ให้ถือเป็นรายจ่ายได้ตามวรรคหนึ่ง ส่วนที่จ่ายเกินนั้นให้ถือเป็นเงินที่จ่ายสมทบในรอบระยะเวลาบัญชีต่อ ๆ ไปได้
         คำว่า เงินที่บริษัทจัดสรรหรือสำรองไวตาม (๒) สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีแรก หมายความว่า เงินที่บริษัทจัดสรรหรือสำรองไว้ทั้งสิ้นที่มีอยู่ในวันที่นายทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพรับจดทะเบียนกองทุน และสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่สองเป็นต้นไป หมายความว่า จำนวนเงินที่เหลือจากที่ให้ถือเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีก่อน บวกด้วยเงินผลประโยชน์หักด้วยเงินที่จ่ายในกรณีลูกจ้างออกจากงาน ถ้ามี    
              คำว่า จำนวนปีตาม (๒) สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีแรก หมายความว่าสิบปี สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีต่อ ๆ ไป ให้ลดลงรอบระยะเวลาบัญชีละหนึ่งปี ตามลำดับ
              บริษัทใดมิได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อนี้ ให้นำข้อ 2.3  มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา 65 ตรี (3) รายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการส่วนตัว  การให้โดยเสน่หา  หรือ  การกุศล เว้นแต่รายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะ หรือเพื่อการสาธารณประโยชน์  ตามที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี ให้หักได้ในส่วนที่ไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิ และรายจ่ายเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการกีฬา ตามที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรีให้หักได้อีกในส่วนที่ไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิซึ่งมีหลักเกณฑ์ตามประกาศกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้(ฉบับที่ 44)
     (1)รายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการส่วนตัว หมายถึง รายจ่ายที่ไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจตามวัตถุประสงค์ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล เป็นเพียงรายจ่ายเพื่อผลประโยชน์ของบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ รายจ่ายประเภทนี้ ได้แก่ ค่าซื้อของใช้ส่วนตัวของกรรมการผู้จัดการ เงินใส่ซองช่วยงานแต่งงานลูกของเพื่อนผู้จัดการ  ค่าน้ำมันรถยนต์ส่วนตัวผู้จัดการ หรือ ค่าซ่อม รถยนต์ส่วนตัวผู้จัดการ และค่าธรรมเนียมภาษีรถยนต์ของกรรมการผู้จัดการได้ใช้สอยเป็นการส่วนตัว เป็นต้น จึงเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี(3) แห่งประมวลรัษฎากร
          ตัวอย่าง
นายวินัย  เป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัท ขอนแก่น จำกัด ได้พาครอบครัวไปพักผ่อนตากอากาศที่จังหวัดภูเก็ตในวันหยุดของบริษัท ในระหว่างการพักผ่อนตากอากาศได้เสียค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่น ค่าอาหาร ค่าที่พัก และค่าน้ำมันรถ เป็นต้น โดยมีหลักฐานใบเสร็จรับเงินออกในนามบริษัท ขอนแก่น จำกัด ครบถ้วนถูกต้อง รายจ่ายดังกล่าวนี้จะนำมาเป็นรายจ่ายของบริษัทดังกล่าวไม่ได้เพราะเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการส่วนตัวของกรรมการ ผู้จัดการ มิได้เกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัทแต่อย่างใด จึงเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี(3) แห่งประมวลรัษฎากร
    (2) รายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการให้โดยเสน่หา หมายถึง รายจ่ายที่กิจการจ่ายไปโดยไม่หวังให้ผู้รับทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้เป็นการตอบแทน และผู้รับไม่มีข้อผูกพันที่จะต้องทำสิ่งใดให้เป็นการตอบแทน รายจ่ายดังกล่าวจึงไม่เกี่ยวข้องและไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่กิจการ เช่น รายจ่ายค่าจัดซื้อของชำร่วย เพื่อมอบให้แก่ลูกค้าเนื่องในโอกาสต่าง ๆ รายจ่ายค่าซื้อของขวัญในโอกาสต่าง ๆ เช่น งานวันเกิด งานแต่งงาน วันขึ้นปีใหม่ รายจ่ายเงินช่วยงานต่าง ๆ เช่น งานบวช งานเลี้ยง งานศพ เป็นต้น จึงเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี(3) แห่งประมวลรัษฎากร
  (3) รายจ่ายเพื่อการกุศลอื่นที่มิใช่การกุศลสาธารณะ หมายถึง รายจ่ายซึ่งจ่ายเพื่อการกุศลส่วนตัวของผู้บริจาค หรือเป็นการบริจาคเพื่อประโยชน์ของบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ ไม่ได้จ่ายเพื่อประโยชน์แก่สาธารณชนทั่วไป เช่น การบริจาคเงินให้ขอทาน การบวชนาค หรือการทำบุญขึ้นบ้านใหม่ เป็นต้น จึงเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี(3) แห่งประมวลรัษฎากร
                รายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะ ที่สามารถนำมาหักเป็นรายจ่ายได้นั้น คือ รายจ่ายเพื่อประโยชน์แก่สาธารณะในประเทศไทย  โดยต้องเป็นรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะ ซึ่งเป็นการบริจาคเงินหรือทรัพย์สินตามประกาศกระทรวงการคลัง ว่าด้วยภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 2) ให้กับ
     (1) สภากาชาดไทย วัดวาอาราม
     (2) สถานพยาบาล หรือสถานศึกษาขององค์การของรัฐบาล
     (3) สถานศึกษาที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนโดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่น และสถานศึกษาที่เป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน     (4) หอสมุด ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ของเอกชนที่เปิดให้ใช้เป็นการสาธารณะโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ค่าทำนุบำรุงหรือเงินสนับสนุนใด ๆ และหอสมุด ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ของทางราชการ
     (5) กองทุนผู้สูงอายุตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุ และ สถานพักฟื้น บำบัดและฟื้นฟูเด็ก คนชรา ผู้พิการของเอกชนที่ไม่เก็บค่าใช้จ่าย ค่าทำนุบำรุงหรือเงินสนับสนุนใด ๆ หรือสถานพักฟื้น บำบัด ฟื้นฟูเด็ก คนชรา ผู้พิการของทางราชการ

     (6) องค์การ สถานสาธารณกุศล สถานพยาบาล และสถานศึกษา เช่น มูลนิธิ สมาคม กองทุน เป็นต้น ที่ได้รับการประกาศกำหนดให้เป็นองค์การสารธารณกุศล สถานพยาบาล และสถานศึกษา ตามข้อ 3 ของประกาศกระทรวงการคลัง ว่าด้วยภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 2)
    (7) การบริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้กับกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม กองทุนคุ้มครองเด็กตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็ก หรือกองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติที่จัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2542 ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 498) พ.ศ.2553

         และหมายความรวมถึง รายจ่ายเพื่อการรณรงค์ส่งเสริมหรือปลูกจิตสำนึกต่อสังคม การศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และรายจ่ายเพื่อการสาธารณประโยชน์และรายจ่ายเพื่อการศึกษา และรายจ่ายเพื่อการกีฬา ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 44) เรื่อง กำหนดรายจ่ายเพื่อการสาธารณประโยชน์ รายจ่ายเพื่อการศึกษาและรายจ่าย เพื่อการกีฬา ตามมาตรา 65 ตรี (3) แห่งประมวลรัษฎากร (ที่สามารถนำมาหักในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล) ดังนี้
ข้อ 1 รายจ่ายเพื่อการสาธารณประโยชน์ได้แก่ รายจ่ายที่จ่ายให้หรือเพื่อกิจการดังต่อไปนี้
(1) การส่งเสริม อนุรักษ์ และรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสงวนและสัตว์คุ้มครองตามกฎหมายว่าด้วยการสงวนคุ้มครอง สัตว์ป่า
(2) การคุ้มครองและดูแลรักษาอุทยานแห่งชาติตามกฎหมาย ว่าด้วยอุทยานแห่งชาติ
(3) การคุ้มครองและรักษาป่าสงวนแห่งชาติตามกฎหมาย ว่าด้วยป่าสงวนแห่งชาติ
(4) การส่งเสริม คุ้มครองและรักษาและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมตามกำหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษา คุณภาพและสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
(5) การควบคุม ป้องกัน แก้ไข ตลอดจนการลดและขจัดอันตรายอันเกิดจากการแพร่กระจายของมลพิษ หรือภาวะมลพิษและของเสียอันตรายตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม
(6) กองทุนสิ่งแวดล้อม ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
(7) การบูรณะโบราณสถาน โบราณวัตถุ และศิลปวัตถุ ตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ
(8) การก่อสร้างถนนและได้โอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ส่วนราชการและองค์การของรัฐบาลโดยไม่มีค่าตอบแทน ทั้งนี้เฉพาะส่วนราชการหรือองค์การของรัฐบาลผู้รับโอนได้ให้ประชาชนใช้ประโยชน์ในถนนดังกล่าว
ทั้งนี้ รายจ่ายตาม (1) ถึง (8) ต้องเป็นการจ่ายให้แก่กิจการตามโครงการพระราชดำริของทางราชการ หรือองค์การของรัฐบาล หรือองค์การกุศลสาธารณะที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามมาตรา 47 (7) (ข) แห่งประมวลร้ษฎากร
ข้อ 2 รายจ่ายเพื่อการศึกษา ได้แก่ รายจ่ายในการบริจาคเงินหรือทรัพย์สินที่จ่ายให้แก่หรือเพื่อกิจการ ดังต่อไปนี้
(1) สถานศึกษา หอสมุดหรือห้องสมุด หรือสถาบันวิจัย ทั้งนี้เฉพาะของทางราชการ
(2) การให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียน นิสิต นักศึกษา เป็นการทั่วไป
(3) กระทรวง ทบวง กรม เทศบาล สุขาภิบาล หรือองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น เพื่อสร้างสถานศึกษา หอสมุด หรือห้องสมุดของทางราชการ
(4) สถานศึกษาที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนโดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคล อื่นและสถานศึกษาที่เป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน
ข้อ 3 รายจ่ายเพื่อการกีฬา ได้แก่ รายจ่ายในการบริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้แก่หรือเพื่อกิจการดังต่อไปนี้
(1) การกีฬาแห่งประเทศไทย
(2) คณะกรรมการกีฬาจังหวัด ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการกีฬาแห่งประเทศไทย เพื่อส่งเสริมกีฬาใน จังหวัด
(3) กรมพลศึกษา เพื่อการจัดการแข่งขันกีฬานักเรียน
(4) สมาคมกีฬาสมัครเล่นที่ได้รับอนุญาตจากการกีฬาแห่งประเทศไทย
    อย่างไรก็ตาม ในการคำนวณรายจ่าย เพื่อการกุศลสาธารณะ หรือเพื่อสาธารณประโยชน์ และรายจ่ายเพื่อการศึกษา เพื่อการกีฬานั้น มีคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.52/2537  กำหนดไว้ดังนี้
ข้อ 1 กรณีรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์ตามที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี และรายจ่ายเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการกีฬาตามที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี ซึ่งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้จ่ายไปแต่ละรายการมีจำนวนสูงกว่าหรือเท่ากับ 2/104 ของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายทั้งสองรายการ ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นคำนวณหักรายจ่ายแต่ละรายการได้เท่ากับ 2/104 ของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายทั้งสองรายการ
ข้อ 2 กรณีรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์ตามที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี และรายจ่ายเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการกีฬาตามที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี ซึ่งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้จ่ายไปแต่ละรายการ โดยรายการหนึ่งมีจำนวนสูงกว่าหรือเท่ากับ 2/104 ของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายทั้งสองรายการ และอีกรายการหนึ่งมีจำนวนต่ำกว่า 2/104 ของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายทั้งสองรายการ ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นคำนวณหักรายจ่ายสำหรับรายการที่มีจำนวนต่ำกว่าเสียก่อนโดยให้คำนวณหักได้เท่ากับจำนวนที่จ่ายจริง หลังจากนั้นจึงให้คำนวณหักรายจ่ายสำหรับรายการที่เหลือได้ไม่เกิน 2/102 ของกำไรสุทธิหลังจากหักรายจ่ายรายการแรกออกไปแล้ว
ข้อ 3 กรณีรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์ตามที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี และรายจ่ายเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการกีฬาตามที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี ซึ่งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้จ่ายไปแต่ละรายการ โดยทั้งสองรายการมีจำนวนต่ำกว่า 2/104 ของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายทั้งสองรายการ ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลคำนวณหักรายจ่ายแต่ละรายการได้เท่ากับจำนวนที่จ่ายไปจริง โดยจะเลือกหักรายจ่ายจากรายการใดก่อนก็ได้
    ตัวอย่างที่ 1  ถ้าบริจาคเพื่อการกุศลสาธารณะ หรือการศึกษาและการกีฬา อย่างหนึ่งอย่างใดอย่างเดียว นำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้ไม่เกิน 2/102  ของกำไรสุทธิ(ก่อนหักเงินบริจาค) เช่น
              บริษัท ขอนแก่น จำกัด มียอดขาย 204 ล้านบาท มีรายจ่าย 102 ล้านบาท กำไรสุทธิ(ทางบัญชี) 102 ล้านบาท บริษัท บริจาคให้    มูลนิธิสายใจไทย 5 ล้านบาท มีสิทธินำเงินบริจาคมาถือเป็นรายจ่าย ได้เท่าใด
              วิธีคำนวณ  บริษัท ต้องนำเงินบริจาคมูลนิธิสายใจไทย 5 ล้าน มาบวกกลับเข้าไปเป็นกำไรสุทธิก่อนหักเงินบริจาคก่อน จะได้กำไรสุทธิก่อนหักบริจาคเท่ากับ 107 ล้านบาท( 102+5 )
          ดังนั้น   บริจาคมูลนิธิสายใจไทย ถือเป็นรายจ่ายได้  2/102  X 107     =  2.09  ล้านบาท 
         ตัวอย่างที่ 2       ถ้าบริจาค เพื่อการกุศลสาธารณะ หรือการศึกษาและการกีฬา ทั้ง 2 อย่างแต่ละรายการมีจำนวนสูงกว่าหรือเท่ากับ 2/104 ของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายทั้งสองรายการ มีสิทธินำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้ไม่เกิน 2/104  ของ กำไรสุทธิก่อนหักเงินบริจาค ทั้ง 2 รายการ เช่น
            บริษัท ขอนแก่น จำกัด มียอดขาย 204 ล้านบาท มีรายจ่าย 102 ล้านบาท กำไรสุทธิ(ทางบัญชี) 102 ล้านบาท บริษัท บริจาคให้    มูลนิธิสายใจไทย 5 ล้านบาท และบริจาคให้ ม.กรุงเทพ 5 ล้านบาท บริษัท ขอนแก่น จำกัด มีสิทธินำเงินบริจาคมาถือเป็นรายจ่าย ได้เท่าใด

              วิธีคำนวณ  บริษัท ต้องนำเงินบริจาคมูลนิธิสายใจไทย 5 ล้านบาท  และ เงินบริจาคให้ ม.กรุงเทพ 5 ล้านบาท มาบวกกลับเข้าไปเป็นกำไรสุทธิก่อนหักเงินบริจาคก่อน จะได้กำไรสุทธิก่อนหักบริจาคเท่ากับ 112 ล้านบาท( 102+5+5 )
         บริจาคมูลนิธิสายใจไทย ถือเป็นรายจ่ายได้  2/104
  X 112      =  2.15  ล้านบาท 
         บริจาค ม.กรุงเทพ ถือเป็นรายจ่ายได้        2/104  X 112       =    2.15 ล้านบาท 
              ตัวอย่างที่ 3 กรณีรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์  และรายจ่ายเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการกีฬา  ซึ่งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้จ่ายไปแต่ละรายการ โดยรายการหนึ่งมีจำนวนสูงกว่าหรือเท่ากับ 2/104 ของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายทั้งสองรายการ และอีกรายการหนึ่งมีจำนวนต่ำกว่า 2/104 ของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายทั้งสองรายการ ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นคำนวณหักรายจ่ายสำหรับรายการที่มีจำนวนต่ำกว่าเสียก่อนโดยให้คำนวณหักได้เท่ากับจำนวนที่จ่ายจริง หลังจากนั้นจึงให้คำนวณหักรายจ่ายสำหรับรายการที่เหลือได้ไม่เกิน 2/102 ของกำไรสุทธิหลังจากหักรายจ่ายรายการแรกออกไปแล้ว เช่น 
           บริษัท ขอนแก่น จำกัด มียอดขาย 204 ล้านบาท มีรายจ่าย 102 ล้านบาท กำไรสุทธิ(ทางบัญชี) 102 ล้านบาท บริษัท บริจาคให้    มูลนิธิสายใจไทย 1 ล้านบาท และบริจาคให้ ม.กรุงเทพ 5 ล้านบาท บริษัท ขอนแก่น จำกัด มีสิทธินำเงินบริจาคมาถือเป็นรายจ่าย ได้เท่าใด
            วิธีคำนวณ บริษัท ต้องนำเงินบริจาคมูลนิธิสายใจไทย 1 ล้านบาท  และ เงินบริจาคให้ ม.กรุงเทพ 5 ล้านบาท มาบวกกลับเข้าไปเป็นกำไรสุทธิก่อนหักเงินบริจาคก่อน จะได้กำไรสุทธิก่อนหักบริจาคเท่ากับ 108 ล้านบาท( 102+1+5 ) เงินบริจาคดังกล่าว ถือเป็นรายจ่ายได้ไม่เกิน  2/104  X 108  =  2.07  ล้านบาท 
             บริจาคการกุศลบริจาคมูลนิธิสายใจไทย 1 ล้านบาท  ถือเป็นรายจ่ายได้   1 ล้านบาท (บริจาคจริงไม่เกินเกณฑ์ที่กำหนด)  กรณีนี้คำนวณหักรายจ่ายสำหรับรายการที่มีจำนวนต่ำกว่าเสียก่อนโดยให้คำนวณหักได้เท่ากับจำนวนที่จ่ายจริง หลังจากนั้นจึงให้คำนวณหักรายจ่ายสำหรับรายการที่เหลือได้ไม่เกิน 2/102 ของกำไรสุทธิหลังจากหักรายจ่ายรายการแรกออกไปแล้ว ดังนี้
       กำไรสุทธิ หลังหักบริจาคการกุศลบริจาคมูลนิธิสายใจไทย 1 ล้านบาท เท่ากับ 107 ล้านบาท
(108-1)
  ดังนั้น  บริจาค ม.กรุงเทพ ถือเป็นรายจ่ายได้   2/102 
X 107      =    2.09 ล้านบาท
 สรุปจะเหลือกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล หลังหักบริจาคแล้ว
= 104.91 ล้านบาท
(107-2.09)
      ตัวอย่างที่ 4  กรณีรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์  และรายจ่ายเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการกีฬา แต่ละรายการ โดยทั้งสองรายการมีจำนวนต่ำกว่า 2/104 ของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายทั้งสองรายการ ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลคำนวณหักรายจ่ายแต่ละรายการได้เท่ากับจำนวนที่จ่ายไปจริง โดยจะเลือกหักรายจ่ายจากรายการใดก่อนก็ได้  เช่น
              บริษัท ขอนแก่น จำกัด มียอดขาย 204 ล้านบาท มีรายจ่าย 102 ล้านบาท กำไรสุทธิ(ทางบัญชี) 102 ล้านบาท บริษัท บริจาคให้    มูลนิธิสายใจไทย 1 ล้านบาท และบริจาคให้ ม.กรุงเทพ 1 ล้านบาท บริษัท ขอนแก่น จำกัด มีสิทธินำเงินบริจาคมาถือเป็นรายจ่าย ได้เท่าใด
                 วิธีคำนวณ  บริษัท ต้องนำเงินบริจาคมูลนิธิสายใจไทย
1 ล้านบาท  และ เงินบริจาคให้ ม.กรุงเทพ 1 ล้านบาท มาบวกกลับเข้าไปเป็นกำไรสุทธิก่อนหักเงินบริจาคก่อน จะได้กำไรสุทธิก่อนหักบริจาคเท่ากับ 104 ล้านบาท( 102+1+1 ) เงินบริจาคดังกล่าว ถือเป็นรายจ่ายได้ไม่เกิน  2/104  X 104  =  2  ล้านบาท    ดังนั้น         บริจาคมูลนิธิสายใจไทย ถือเป็นรายจ่าย   =  1 ล้านบาท 
                                      บริจาค ม.กรุงเทพ ถือเป็นรายจ่ายได้       =  1 ล้านบาท 
                               คงเหลือ กำไรสุทธิหลังหักบริจาคทั้งสองรายการ
= 102 ล้านบาท
           ข้อสังเกตุ  รายจ่ายเพื่อการศึกษา ตามมาตรา 65 ตรี(3) แห่งประมวลรัษฎากร ที่นำมาหักนั้น ต้องไม่เป็นรายจ่ายเดียวกับรายจ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษา ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 420) พ.ศ.2547 ที่หักได้ 2 เท่าของที่จ่ายจริง(หักได้เพียงอย่างเดียว)และ ไม่ซ้ำกับ การหักรายจ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษา ตามพรฎ.(ฉบับที่ ๕๕๘) พ.ศ. ๒๕๕๖"  ใช้สำหรับการบริจาคที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๖ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ และไม่ซ้ำกับ การหักรายจ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษา ตาม พรฎ. (ฉบับที่ ๖๑๖)พ.ศ. ๒๕๕๙ สำหรับการบริจาคที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๙ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๑    ที่หักได้ 2 เท่าของที่จ่ายจริง
การหักรายจ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษา 2 เท่า
      ก.   การหักรายจ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษา ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 420) พ.ศ.2547
        (1)  ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 2 และส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับเงินได้ที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษาให้แก่สถานศึกษาของ ทางราชการ สถานศึกษาขององค์การของรัฐบาล โรงเรียนเอกชนที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนหรือสถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ดังนี้
                      (1) สำหรับบุคคลธรรมดา ให้ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักค่าลดหย่อนตามมาตรา 47(1) (2) (3) (4) (5) หรือ (6) แห่งประมวลรัษฎากร เป็นจำนวนสองเท่าของรายจ่ายที่จ่ายไปเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษา แต่ต้องไม่เกินร้อยละสิบของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักค่าลดหย่อนดังกล่าวนั้น
                      (2) สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ให้ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เป็นจำนวนเงินหรือมูลค่าของทรัพย์สินเป็นจำนวนสองเท่าของรายจ่ายที่จ่ายไปเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษา แต่ต้องไม่เกินร้อยละสิบของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์ และเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการกีฬา ตามมาตรา 65 ตรี (3) แห่งประมวลรัษฎากร
                    ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
                ค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษาตามวรรคหนึ่ง ต้องเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นชอบ และเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับรายการดังต่อไปนี้
                      (1) จัดหาหรือจัดสร้างอาคาร อาคารพร้อมที่ดิน หรือที่ดินให้แก่สถานศึกษา เพื่อใช้ประโยชน์ทางการศึกษา
                      (2) จัดหาวัสดุอุปกรณ์เพื่อการศึกษา แบบเรียน ตำรา หนังสือทางวิชาการ สื่อ และเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ตลอดจนวัสดุอุปกรณ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาให้แก่สถานศึกษา ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกำหนด
                      (3) จัดหาครู อาจารย์ หรือผู้ทรงคุณวุฒิทางการศึกษา หรือเป็นทุนการศึกษา การประดิษฐ์ การพัฒนา การค้นคว้า หรือการวิจัย สำหรับนักเรียน นิสิต หรือนักศึกษาของสถานศึกษา ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
          (2)     ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 2 และส่วน 3 หมวด 3 ภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามหมวด 4 ภาษีธุรกิจเฉพาะตามหมวด 5 และอากรแสตมป์ตามหมวด 6 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่บุคคลธรรมดา หรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สิน หรือการขายสินค้า หรือสำหรับการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการดำเนินการสนับสนุนการศึกษา ตามโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นชอบ โดยผู้โอนจะต้องไม่นำต้นทุนของทรัพย์สินหรือสินค้าซึ่งได้รับยกเว้นภาษีดังกล่าวมาหักเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้ของบุคคลธรรมดา หรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
            ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินไ ด้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ สำหรับเงินได้ ที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการสนับสนุนการศึกษา มีดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ในประกาศนี้
                    “ สถานศึกษา หมายความว่า สถานศึกษาของทางราชการ สถานศึกษาของ องค์การของรัฐบาล โรงเรียนเอกชนที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนหรือสถาบันอุดม ศึกษาเอกชนที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน
                ข้อ 2   เงินได้ที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษาให้แก่สถานศึกษา โดยบุคคลธรรมดาหรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือภาษีเงินได้นิติบุคคลต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในข้อ 3 ข้อ 4 ข้อ 5 ข้อ 6 ข้อ 7 ข้อ 8 ข้อ 9 ข้อ 10 และข้อ 11
                ข้อ 3   ค่าใช้จ่ายสำหรับการจัดหาหรือจัดสร้างอาคาร อาคารพร้อมที่ดิน หรือที่ดิน ให้แก่ สถานศึกษา ต้องเป็นการจัดหาหรือจัดสร้างทรัพย์สินดังกล่าวเพื่อใช้ประโยชน์ทางการศึกษาตามโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นชอบ
                ข้อ 4    ค่าใช้จ่ายสำหรับการจัดหาวัสดุอุปกรณ์เพื่อการศึกษา แบบเรียน ตำรา หนังสือทางวิชาการ สื่อ และ เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ตลอดจนวัสดุอุปกรณ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ การศึกษาตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกำหนดที่ให้แก่สถานศึกษาดังกล่าวต้องเป็นการจัดหาตามโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นชอบ
                    วัสดุอุปกรณ์เพื่อการศึกษาตามวรรคหนึ่งในกรณีที่เป็นคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ของคอมพิวเตอร์ต้องไม่เป็นทรัพย์สินที่ใช้ในการประกอบกิจการของผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลและต้องไม่ผ่านการใช้งานมาแล้ว                                              
                   “คอมพิวเตอร์ตามวรรคสอง หมายถึง เครื่องอิเล็กทรอนิกส์แบบอัตโนมัติทำหน้าที่เสมือนสมองกลใช้สำหรับแก้ปัญหาต่าง ๆ ทั้งที่ง่ายและซับซ้อน โดยวิธีทางคณิตศาสตร์และอุปกรณ์ของคอมพิวเตอร์ หมายถึง เครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องช่วย หรือเครื่องประกอบกับคอมพิวเตอร์ เพื่อให้คอมพิวเตอร์ใช้งานได้ตามวัตถุประสงค์
                ข้อ 5  โครงการที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นชอบมีดังต่อไปนี้
                              (1) สถานศึกษาตามโครงการพระราชดำริ
                              (2) สถานศึกษาตามนโยบายที่จะระดมพลังเพื่อเร่งรัดปรับปรุงคุณภาพ
                              (3) สถานศึกษาที่รองรับพัฒนาเด็กด้อยโอกาส เด็กพิการ
                              สถานศึกษาตามโครงการตามวรรคหนึ่งเป็นไปตามรายชื่อสถานศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการประกาศกำหนด
(ดูรายชื่อสถานศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการประกาศกำหนด)
                ข้อ 6   ผู้ที่ประสงค์จะให้กระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นชอบโครงการเพื่อ สนับสนุน การศึกษาตามข้อ 5 ต้องยื่นคำขอต่อกระทรวงศึกษาธิ การ เพื่อพิจารณาตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และ เงื่อนไขที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด และเมื่อกระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นชอบแล้วให้แจ้งโครงการ ที่ได้รับความเห็นชอบต่อกรมสรรพากร เพื่อให้ประกาศตามข้อ 5
                ข้อ 7   การยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้ที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษาแก่สถานศึกษาดังกล่าว ผู้มีหน้าที่เสียภาษีซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาหรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วน นิติบุคคล ต้องไม่นำค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษาที่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นี้ไปหักเป็น ค่าลด หย่อนสำหรับเงินบริจาค ตามมาตรา 47(7) แห่งประมวลรัษฎากร หรือไม่นำไปหักเป็นรายจ่ายเพื่อการศึกษาตามมาตรา 65 ตรี (3) แห่งประมวลรัษฎากร
                ข้อ 8   การยกเว้นภาษีเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้ที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษาแก่สถานศึกษาดังกล่าว บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นต้องไม่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในเครือเดียวกันกับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการโรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนหรือกิจการสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน
                ข้อ 9   เงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และ อากรแสตมป์ สำหรับการโอนทรัพย์สิน หรือการขายสินค้า หรือสำหรับการกระทำตราสารอันเนื่อง มาจากการดำเนินการสนับสนุนการศึกษา ตามโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นชอบ ผู้โอนจะต้องไม่นำต้นทุนของทรัพย์สินหรือสินค้าซึ่งได้รับยกเว้นภาษีดังกล่าวมาหักเป็นค่าใช้จ่าย ในการคำนวณภาษีเงินได้ของบุคคลธรรมดา หรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล

                ข้อ 10 การได้รับยกเว้นภาษีตามประกาศนี้ ผู้ได้รับยกเว้นภาษีต้องมีหลักฐานจาก สถานศึกษาที่พิสูจน์ได้ว่าค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษา ตามข้อ 3 และข้อ 4เป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการสนับสนุนการศึกษาตามโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นชอบ
                ข้อ 11   กรณีที่มีปัญหาในทางปฏิบัติ ให้อธิบดีกรมสรรพากรมีอำนาจวินิจฉัย และ คำวินิจฉัยของอธิบดีกรมสรรพากรให้ถือเป็นหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดตามประกาศ นี้ด้วย
      ข้อสังเกตุ การหักรายจ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษา ตามพระราชกฤษฎีกา(ฉบับที่ 420) พ.ศ.2547 ใช้บังคับวันที่ 25 สิงหาคม 2547 โดยไม่ได้กำหนดระยะเวลาสิ้นสุด)
           ข. การหักรายจ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษา ตามพระราชกฤษฎีกาฯ(ฉบับที่ ๕๕๘) พ.ศ. ๒๕๕๖"
              (1) ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน ๒ และส่วน ๓ หมวด ๓ ในลักษณะ ๒ แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับการบริจาคให้แก่สถานศึกษา ที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๖ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ ดังต่อไปนี้
                  (๑) สำหรับบุคคลธรรมดา ให้ยกเว้นสำหรับเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและ หักลดหย่อนตามมาตรา ๔๗ (๑) (๒) (๓) (๔) (๕) หรือ (๖) แห่งประมวลรัษฎากร เป็นจำนวนสองเท่า ของจำนวนเงินที่บริจาคแต่เมื่อรวมกับเงินได้ที่ได้รับยกเว้นสำหรับการจ่ายเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษาสำหรับโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นชอบต้องไม่เกินร้อยละสิบของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนนั้น 

                    (๒) สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ให้ยกเว้นสำหรับเงินได้เป็นจำนวนสองเท่าของรายจ่ายที่บริจาค ไม่ว่าจะได้จ่ายเป็นเงินหรือทรัพย์สิน แต่เมื่อรวมกับรายจ่ายที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่าย เพื่อสนับสนุนการศึกษาสำหรับโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นชอบและรายจ่ายที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดสร้างและการบำรุงรักษาสนามเด็กเล่น สวนสาธารณะ หรือสนามกีฬาของเอกชนที่เปิดให้ประชาชนใช้เป็นการทั่วไปโดยไม่เก็บค่าบริการใด ๆ หรือสนามเด็กเล่น สวนสาธารณะ หรือสนามกีฬาของทางราชการแล้วต้องไม่เกินร้อยละสิบของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์ และรายจ่ายเพื่อการศึกษา หรือเพื่อการกีฬาตามมาตรา ๖๕ ตรี (๓) แห่งประมวลรัษฎากร 
               การได้รับยกเว้นตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด 
               (2) ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน ๒ และส่วน ๓ หมวด ๓ ภาษีมูลค่าเพิ่มตามหมวด ๔ ภาษีธุรกิจเฉพาะตามหมวด ๕ และอากรแสตมป์ตามหมวด ๖ ในลักษณะ ๒ แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่บุคคลธรรมดาหรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สิน หรือการขายสินค้า หรือสำหรับการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการบริจาคให้แก่สถานศึกษาตาม(1) โดยผู้โอนจะต้องไม่นำต้นทุนของทรัพย์สินหรือสินค้า ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีดังกล่าวมาหักเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้ของบุคคลธรรมดา หรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ทั้งนี้ สำหรับการบริจาคที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๖ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ และให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด 
             (3) บุคคลธรรมดาหรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้ใช้สิทธิในการยกเว้นภาษีอากรตามพระราชกฤษฎีกานี้ ต้องไม่ใช้สิทธิในการยกเว้นภาษีเงินได้ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๔๒๐) พ.ศ. ๒๕๔๗ 
            ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่มภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ สำหรับการบริจาคให้แก่สถานศึกษา             อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๓ และมาตรา ๔ แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๕๕๘) พ.ศ. ๒๕๕๖ อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ สำหรับการบริจาคให้แก่สถานศึกษา ดังต่อไปนี้
               ข้อ ๑ ให้ยกเลิกประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ ๒๔๑) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ สำหรับการบริจาคให้แก่สถานศึกษา ลงวันที่ ๑๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๖
               ข้อ ๒ ในประกาศนี้
                        “สถานศึกษาหมายความว่า สถานศึกษาของรัฐ โรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน แต่ไม่รวมถึงโรงเรียนนอกระบบตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน หรือสถาบันอุดมศึกษาเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน
               ข้อ ๓ การได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ของบุคคลธรรมดา สำหรับการบริจาคให้แก่สถานศึกษา ตามมาตรา ๓ (๑) แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๕๕๘) พ.ศ. ๒๕๕๖ จะต้องบริจาคเป็นเงินเท่านั้น
               ข้อ ๔ การได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับการบริจาคให้แก่สถานศึกษา ตามมาตรา ๓ (๒) แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๕๕๘) พ.ศ. ๒๕๕๖ จะบริจาคเป็นเงิน ทรัพย์สิน หรือสินค้าก็ได้ กรณีบริจาคเป็นทรัพย์สินหรือสินค้า ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ดังนี้
                        (๑) กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจัดหาทรัพย์สินหรือสินค้ามาเพื่อการบริจาค ต้องมีหลักฐานการได้มาซึ่งทรัพย์สินหรือสินค้าที่ระบุจำนวนและมูลค่าของทรัพย์สินหรือสินค้านั้น โดยให้ถือว่ามูลค่าตามหลักฐานดังกล่าว เป็นมูลค่าของทรัพย์สินหรือสินค้าที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีสิทธิได้รับยกเว้นภาษีเงินได้
                        (๒) กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลบันทึกบัญชีทรัพย์สินที่จะนำมาบริจาคดังกล่าวเป็นทรัพย์สินของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น ให้ถือเอามูลค่าต้นทุนส่วนที่เหลือจากการคำนวณหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน เป็นมูลค่าของทรัพย์สินที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีสิทธิได้รับยกเว้นภาษีเงินได้
                        (๓) กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเป็นผู้ผลิตสินค้าเพื่อขายหรือเป็นผู้ขายสินค้า ให้ถือเอามูลค่าต้นทุนของสินค้าดังกล่าวที่สามารถพิสูจน์ได้ เป็นมูลค่าของสินค้าที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีสิทธิได้รับยกเว้นภาษีเงินได้
               ข้อ ๕ ผู้ที่ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับการบริจาคให้แก่สถานศึกษาตามข้อ ๓ และข้อ ๔ ต้องมีเอกสารหลักฐานดังต่อไปนี้จากสถานศึกษา พร้อมให้เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบได้                                 
                (๑) กรณีบริจาคเป็นเงิน ได้แก่ ใบเสร็จรับเงิน หรือหลักฐานอื่นเป็นหนังสือที่ออกโดยสถานศึกษาผู้รับบริจาค เช่น หนังสือขอบคุณ ใบประกาศเกียรติคุณ ใบอนุโมทนาบัตร ซึ่งหลักฐานดังกล่าวต้องระบุจำนวนเงินที่ได้บริจาคและสามารถพิสูจน์การรับบริจาคจากผู้บริจาคได้ โดยมีการรับรองอย่างชัดแจ้งจากสถานศึกษาว่าได้รับบริจาคจริง

                  (๒) กรณีบริจาคเป็นทรัพย์สินหรือสินค้า ได้แก่ หลักฐานเป็นหนังสือที่ออกโดยสถานศึกษาผู้รับบริจาคซึ่งพิสูจน์ได้ว่าได้บริจาคทรัพย์สินหรือสินค้าให้แก่สถานศึกษา เช่น หนังสือขอบคุณ ใบประกาศเกียรติคุณ ใบอนุโมทนาบัตร ซึ่งหลักฐานดังกล่าวได้ระบุมูลค่าของทรัพย์สินหรือสินค้านั้นตามหลักเกณฑ์ในข้อ ๔
               ข้อ ๖ บุคคลธรรมดาหรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับการบริจาคให้แก่สถานศึกษา ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๕๕๘) พ.ศ. ๒๕๕๖ ต้องไม่นำเงินบริจาคที่ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นั้น ไปหักลดหย่อนสำหรับเงินบริจาคตามมาตรา ๔๗ (๗) แห่งประมวลรัษฎากร หรือต้องไม่นำเงิน ทรัพย์สิน หรือสินค้าที่ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นั้นไปหักเป็นรายจ่ายตามมาตรา ๖๕ ตรี (๓) แห่งประมวลรัษฎากร
               ข้อ ๗ การยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สิน หรือการขายสินค้า หรือสำหรับการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการบริจาคให้แก่สถานศึกษา ตามมาตรา ๔ แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๕๕๘) พ.ศ. ๒๕๕๖ ผู้ที่ใช้สิทธิยกเว้นภาษีดังกล่าวจะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือที่ออกโดยสถานศึกษาผู้รับบริจาคซึ่งพิสูจน์ได้ว่าได้บริจาคทรัพย์สินหรือสินค้าให้แก่สถานศึกษา เช่น หนังสือขอบคุณ ใบประกาศเกียรติคุณ ใบอนุโมทนาบัตร ซึ่งหลักฐานดังกล่าวได้ระบุมูลค่าของทรัพย์สินหรือสินค้านั้นตามหลักเกณฑ์ในข้อ ๔ พร้อมให้เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบได้

               ข้อสังเกตุ  การหักรายจ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษา ตามพระราชกฤษฎีกาฯ(ฉบับที่ ๕๕๘) พ.ศ. ๒๕๕๖"  ใช้สำหรับการบริจาคที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๖ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๘  และไม่จำเป็นต้องบริจาค เพื่อสนับสนุนการศึกษาสำหรับโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นชอบ    สามารถบริจาคให้    สถานศึกษาของรัฐ   โรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน แต่ไม่รวมถึงโรงเรียนนอกระบบตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน หรือสถาบันอุดมศึกษาเอกชน                     

             ทั้งนี้ได้มีพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๖๑๖)พ.ศ. ๒๕๕๙ ได้ขยายระยะเวลาการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ตามพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 558) พ.ศ. 2556 ซึ่งได้สิ้นสุดลงแล้วเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2558 สำหรับการบริจาคให้แก่สถานศึกษาสามารถหักได้ 2 เท่า ออกไปอีก 3 ปี โดยมีรายละเอียดดังนี้
(1) บุคคลธรรมดาที่บริจาคเงินให้แก่สถานศึกษาของราชการและเอกชนโดยไม่รวมโรงเรียนนอกระบบ สามารถนามาหักเป็นค่าลดหย่อนได้ 2 เท่าของจานวนที่จ่ายจริง แต่เมื่อรวมกับค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษาสำหรับโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นชอบแล้ว ต้องไม่เกิน ร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น ๆ แล้ว
(2) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่บริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้แก่สถานศึกษาของราชการและเอกชนโดยไม่รวมโรงเรียนนอกระบบ สามารถนามาหักเป็นรายจ่ายได้ 2 เท่า ของจานวนที่บริจาค แต่เมื่อรวมกับรายจ่ายที่จ่ายไปเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษาสำหรับโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นชอบ และรายจ่ายที่จ่ายไปเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดสร้างและการบารุงรักษาสนามเด็กเล่น สวนสาธารณะ หรือสนามกีฬาของเอกชนที่เปิดให้ประชาชนใช้เป็นการทั่วไปโดยไม่เก็บค่าบริการใดๆ หรือสนามเด็กเล่น สวนสาธารณะ หรือสนามกีฬาของทางราชการแล้ว ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิ ก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์ และรายจ่ายเพื่อการศึกษาหรือ เพื่อการกีฬา ตามมาตรา 65 ตรี (3) แห่งประมวลรัษฎากร
              ทั้งนี้ การได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีทั้งหมดข้างต้น มีผลบังคับสำหรับการบริจาคที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2559 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2561 มาตรการนี้ จะมีส่วนทำให้ภาคเอกชนมีแรงจูงใจในการสนับสนุนการศึกษา
     ตัวอย่าง   บริษัท ขอนแก่น จำกัด มียอดขาย 204 ล้านบาท มีรายจ่าย 102 ล้านบาท กำไรสุทธิ(ทางบัญชี) 102 ล้านบาท บริษัท บริจาคเงินเพื่อสนับสนุนการศึกษา (ตามโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการเห็นชอบ) ให้มหาวิทยาลัยขอนแก่น  5 ล้านบาท และ บริจาคเงินให้มูลนิธิสายใจไทย 5 ล้านบาท  บริษัท ฯ มีสิทธินำเงินบริจาคมาหักเป็นรายจ่าย ในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล ได้เท่าใด   
วิธีคำนวณ       บริษัท ต้องนำเงินบริจาคมูลนิธิสายใจไทย 5 ล้านบาท  และ เงินบริจาคให้ มหาวิทยาลัยขอนแก่น   5 ล้านบาท มาบวกกลับเข้าไปเป็นกำไรสุทธิก่อนหักเงินบริจาคก่อน จะได้กำไรสุทธิก่อนหักบริจาคเท่ากับ 112 ล้านบาท( 102+5+5 )
          (1) บริจาคเงินเพื่อสนับสนุนการศึกษา ยกเว้นเงินได้เป็นจำนวน 2 เท่าของรายจ่ายที่บริจาค ต้องไม่เกินร้อยละ10 ของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์ และรายจ่ายเพื่อการศึกษา หรือเพื่อการกีฬาตามมาตรา ๖๕ ตรี (๓) แห่งประมวลรัษฎากร
                บริจาคเงินเพื่อสนับสนุนการศึกษา 5 ล้านยกเว้นเงินได้   
=   5 x=  10 ล้านแต่ไม่เกิน 10.18 ล้าน (112x10หาร 110)
                กำไรสุทธิทางบัญชีก่อนหักบริจาค                    = 112 ล้านบาท
          หัก บริจาคเงินเพื่อสนับสนุนการศึกษา          =  10 ล้าน
 คงเหลือ กำไรสุทธิหลังหักบริจาคสนับสนุนการศึกษา  
= 102 ล้าน
  ดังนั้น กำไรสุทธิ(ก่อนหักเงินบริจาคมูลนิธิสายใจไทย) = 102+5 = 107  ล้าน
     (2)  การหักเงินบริจาคมูลนิธิสายใจไทย นำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้ไม่เกิน 2/102  ของกำไรสุทธิ(ก่อนหักเงินบริจาคมูลนิธิสายใจไทย)  ถือเป็นรายจ่ายได้  2/102  X 107      =  2.09  ล้านบาท  ส่วนที่เหลือ  5 - 2.09    =  2.91 ล้านบาท เป็นรายจ่ายต้องห้าม(บวกกลับ)
        ดังนั้น  กำไรสุทธิทางบัญชี                                                            = 102  ล้านบาท
          หัก บริจาคเงินเพื่อสนับสนุนการศึกษา(ส่วนที่ หักเพิ่มจากที่จ่ายจริง)         =  5    ล้านบาท
 คงเหลือ กำไรสุทธิหลังหักบริจาคสนับสนุนการศึกษา                                     = 97  ล้านบาท
        (บวกกลับ) บริจาคมูลนิธิสายใจไทยส่วนที่หักเกิน                                  = 2.91 ล้านบาท                
คงเหลือ กำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล                                              = 99.91  ล้านบาท                


 มาตรา 65 ตรี (4) ค่ารับรองหรือค่าบริการ เฉพาะ ส่วนที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดโดยกฎกระทรวง ดังนั้น ค่ารับรองที่จะหัก เป็นรายจ่ายได้ จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์กำหนดโดยกฎหระทรวงฉบับที่ 143 (แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 222 สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่ม ใน 2542 เป็นต้นไป)
ก. ค่ารับรองหรือค่าบริการนั้น ต้องเป็นค่ารับรองหรือค่าบริการอันจำเป็นตามธรรมเนียมประเพณีทางธุรกิจ ทั่วไป และบุคคลซึ่งได้รับรองหรือรับบริการ ต้องมิใช่ลูกจ้างของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเว้นแต่ลูกจ้างดังกล่าว จะมีหน้าที่เข้าร่วมในการรับรองหรือการบริการนั้นด้วย
ข. ค่ารับรองหรือค่าบริการต้อง
1. เป็นค่าใช้จ่ายอันเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับการรับรองหรือการาบริการที่จะอำนวยประโยชน์แก่กิจการ เช่น ค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าเครื่องดื่ม ค่าดูมหรสพ ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการกีฬา เป็นต้น หรือ
2. เป็นค่าสิ่งของที่ให้แก่บุคคลซึ่งได้รับการรับรองหรือรับบริการ ไม่เกินคนละ 2,000 บาท ในแต่ละคราวที่ มีการรับรองหรือการบริการ
ค. จำนวนเงินค่ารับรองและค่าบริการให้นำมาหักเป็นรายจ่ายได้เท่ากับจำนวนเท่าที่ต้องจ่าย แต่รวมกันต้องไม่เกินร้อยละ 0.3 ของจำนวนเงินยอดรายได้หรือยอดขายที่ต้องนำมารวมหรือคำนวณกำไรสุทธิ ก่อนหักรายจ่ายใดในรอบระยะเวลาบัญชี หรือของจำนวนเงินทุนจดทะเบียนที่ได้รับชำระแล้วถึงวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี แล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า ทั้งนี้รายจ่ายที่จะนำมาหักได้จะต้องมีจำนวนสูงสุดไม่เกิน 10 ล้านบาท
ง. ค่ารับรองหรือค่าบริการนั้น ต้องมีกรรมการหรือผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้จัดการ หรือผู้ได้รับมอบหมายจากบุคคล ดังกล่าวเป็นผู้อนุมัติหรือคำสั่งจ่ายค่ารับรองหรือค่าบริการนั้นด้วย และต้องมีใบรับหรือหลักฐานของผู้รับเงินสำหรับเงินที่จ่ายเป็นค่ารับรองหรือค่าบริการ เว้นแต่ในกรณีที่ผู้รับเงินไม่มีหน้าที่ต้องออกใบรับตามประมวลรัษฎากร
ข้อสังเกต ค่ารับรองหรือค่าบริการที่หักเป็นค่าใช้จ่าย ให้รวมภาษีซื้อของค่ารับรอง หรือค่าบริการด้วย  
ตัวอย่าง บริษัท  ขอนแก่น จำกัด ทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท ในปีภาษี 2558 มีรายได้ทั้งปี 10 ล้านบาท มีรายจ่ายค่ารับรองลูกค้าตามธรรมเนียมประเพณีทางธุรกิจทั่วไป จำนวน 1 ล้าน บาท จะหักรายจ่ายค่ารับรองดังกล่าวต้องเปรียบระหว่าง (1)กับ (2) เอาจำนวนที่มากกว่า ดังนี้
          1. ร้อยละ 0.3 ของทุนจดทะเบียน   =  5,000,000 x 0.3%= 15,000 บาท
          2. ร้อยละ 0.3 ของรายได้              =  10,000,000 x 0.3 % =  30,000 บาท
         ดังนั้น ค่ารับรองที่หักได้ เท่ากับ 30,000 บาท ส่วนค่ารับรองที่เหลือ 1,000,000 – 30,000=970,000 บาท เป็นรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (4)
มาตรา 65 ตรี (5) รายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน หรือรายจ่ายในการต่อเติมเปลี่ยนแปลงขยายออก หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สินแต่ไม่ใช่เป็นการซ่อมแซมให้คงสภาพเดิม รายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน กรมสรรพากรถือตามหลักการลงบัญชีว่า รายจ่ายใดที่ก่อให้เกิดประโยชน์ เกินกว่าหนึ่งรอบระยะเวลาบัญชี ให้ถือเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนห้ามหักเป็นค่าใช้จ่าย โดยให้หักเป็นค่าสึกหรอหรือค่าเสื่อมราคาตามมาตรา 65 ทวิ (2)
              การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน ให้หักตามอัตราและเงื่อนไขที่สรรพากรกำหนดตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยหักค่าสึกหรอ และค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527  โดยเลือกใช้วิธีการทางบัญชีที่รับรองทั่วไป ทรัพย์สินที่จะนำมาหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา ต้องมีอายุการใช้งานมากกว่าหนึ่งปี และมีลักษณะเป็นการลงทุน  ทรัพย์สินที่ห้ามหัก ค่าสึกหรอ ได้แก่ ที่ดิน เพชร ทอง อัญมณีหรือทรัพย์สินอื่นที่โดยสภาพไม่เสื่อมราคา
                การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินให้คำนวณหักตามระยะเวลาที่ได้ทรัพย์สินนั้นมาในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีในกรณีที่รอบระยะเวลาใดไม่เต็มสิบสองเดือนให้เฉลี่ยตามส่วนสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีนั้น ทั้งนี้ ไม่เกินอัตราร้อยละของมูลค่าต้นทุนตามประเภทของทรัพย์สิน ดังต่อไปนี้                    

(1) อาคาร
      อาคารถาวร                                          ร้อยละ 5
      อาคารชั่วคราว                                       ร้อยละ 100
(2) ต้นทุนเพื่อการได้มาซึ่งแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สูญสิ้นไปได้                    ร้อยละ 5
(3) ต้นทุนเพื่อการได้มาซึ่งสิทธิการเช่า
              กรณีไม่มีหนังสือสัญญาเช่า หรือมีหนังสือสัญญาเช่าที่มีข้อกำหนด
      ให้ต่ออายุการเช่าได้ โดยเงื่อนไขในการต่ออายุนั้นเปิดโอกาสให้ต่ออายุ
      การเช่ากันได้ต่อ ๆ ไป                                                                   ร้อยละ 10
              กรณีมีหนังสือสัญญาเช่าที่ไม่มีข้อกำหนดให้ต่ออายุการเช่าได้หรือ
      มีข้อกำหนดให้ต่ออายุการเช่าได้เพียงระยะเวลาอันจำกัดแน่นอน                 ร้อยละ 100 หาร   ด้วยจำนวนปีอายุ             
                                                                                                       การเช่าและอายุที่ ต่อได้รวมกัน
(4) ต้นทุนเพื่อการได้มาซึ่งสิทธิในกรรมวิธีสูตร กู๊ดวิล เครื่องหมายการค้า
      สิทธิประกองกิจการตามใบอนุญาต สิทธิบัตร ลิขสิทธิ์หรือสิทธิอย่างอื่น
             กรณีไม่จำกัดอายุการใช้                                                           ร้อยละ 10
              กรณีจำกัดอายุการใช้                                                             ร้อยละ 100 หารด้วย
                                                                                                     ด้วยจำนวนปีอายุการใช้

(5) ทรัพย์สินอย่างอื่น ซึ่งโดยสภาพของทรัพย์สินนั้นสึกหรอหรือ
      เสื่อมราคาได้นอกจากที่ดินและสินค้า                                                   ร้อยละ 20
                    กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาโดยใช้วิธีการทางบัญชีที่รับรองทั่วไป ซึ่งมีอัตราการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาไม่เท่ากันในแต่ละปีระหว่างอายุการใช้ทรัพย์สิน บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นจะหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาตามวิธีนั้นในบางปีเกินอัตราที่กำหนดข้างต้นก็ได้ แต่จำนวนปีอายุการใช้ของทรัพย์สินเพื่อการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาต้องไม่น้อยกว่า 100 หารด้วยจำนวนร้อยละที่กำหนดข้างต้น
                  ทรัพย์สินประเภทรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกินสิบคนตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต ให้หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาอัตราร้อยละ 20 ของมูลค่าต้นทุน เฉพาะส่วนที่ไม่เกินหนึ่งล้านบาท
           เว้นแต่เป็นทรัพย์สินซึ่งมีไว้ใช้ในการประกอบกิจการให้เช่ารถยนต์    ให้หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาจากมูลค่าต้นทุนทั้งหมด ทั้งนี้ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจะต้องไม่นำทรัพย์สินดังกล่าวไปใช้ในกิจการอื่น ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
            กรณี บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งประกอบธุรกิจซื้อขายหรือ ให้เช่าซื้อรถยนต์ประเภทดังกล่าวไว้เพื่อเป็นสินค้า  ให้หักมูลค่าต้นทุนของสินค้าได้ทั้งหมด
             ค่าเช่าทรัพย์สินประเภทรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มี ที่นั่งไม่เกินสิบคนตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตหักค่าใช้จ่ายได้ไม่ เกินคันละ 36,000 บาท ต่อเดือน หรือไม่เกินคันละ 1,200 บาทต่อวันในกรณีที่เช่าเป็นรายวัน เศษของเดือนให้คิดเป็นวัน หากเช่า ไม่ถึงหนึ่งวัน ให้คำนวณค่าเช่าตามส่วนของระยะเวลาที่เช่า ทั้งนี้ โดยรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ด้วย   ทั้งนี้   ไม่ใช้บังคับกับรายจ่ายที่เกิดจากการเช่าทรัพย์สินประเภทรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกินสิบคน ในกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งประกอบธุรกิจให้เช่ารถยนต์ได้เช่ารถยนต์ประเภทดังกล่าวไว้เพื่อการให้เช่าต่อ (สามารถหักรายจ่ายค่าเช่ารถยนต์ได้ตามจำนวนที่เช่าจริง)

การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคากรณีพิเศษ
                  ก. เครื่องจักรและอุปกรณ์ของเครื่องจักรที่ใช้สำหรับการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี
 ให้หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาเบื้องต้นในวันที่ได้ทรัพย์สินนั้นมาในอัตราร้อยละ 40 ของมูลค่าต้นทุน สำหรับมูลค่าต้นทุนที่เหลือให้หักตามเงื่อนไขและอัตราร้อยละ 20 (ทยอยหักจนกว่าจะหมด)   ทรัพย์สินดังกล่าว จะต้องมีลักษณะและเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
                    (1) ต้องไม่เป็นเครื่องจักรและอุปกรณ์ของเครื่องจักรที่ใช้ผลิตสินค้าหรือให้บริการ เว้นแต่เครื่องจักรและอุปกรณ์ของเครื่องจักรดังกล่าวได้ใช้เพื่อการอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
                          (ก) การวิจัยอุตสาหกรรมขั้นพื้นฐาน ซึ่งหมายถึง การวิจัยตามแบบแผนหรือการค้นคว้าอย่างจริงจัง โดยมุ่งหมายที่จะค้นพบความรู้ใหม่อันอาจเป็นประโยชน์แก่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ กระบวนการ หรือการบริการขึ้นใหม่ หรือโดยมุ่งหมายที่จะนำความก้าวหน้าอย่างเห็นได้ชัดมาสู่ผลิตภัณฑ์ กระบวนการ หรือการบริการที่มีอยู่เดิม
                          (ข) การวิจัยเชิงประยุกต์ ซึ่งหมายถึง การเปลี่ยนผลการวิจัยอุตสาหกรรมขั้นพื้นฐานมาใช้เป็นแผนงาน แบบพิมพ์เขียว หรือแบบ ในการทำขึ้นมาใหม่เปลี่ยนแปลง หรือปรับปรุงซึ่งผลิตภัณฑ์ กระบวนการ หรือการบริการ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเพื่อขายหรือใช้เอง และให้หมายความรวมถึงการประดิษฐ์ต้นแบบที่ไม่สามารถใช้ในเชิงพาณิชย์แนวคิดในการจัดทำและออกแบบผลิตภัณฑ์กระบวนการ หรือการบริการหรือทางเลือกอื่นการสาธิตเบื้องต้นหรือโครงการนำร่องที่ไม่สามารถดัดแปลงหรือนำไปใช้เพื่อประโยชน์ในการอุตสาหกรรมหรือการพาณิชย์ แต่ไม่หมายความถึงการเปลี่ยนแปลงตามปกติหรือตามระยะเวลาของผลิตภัณฑ์ ระบบการผลิต กระบวนการผลิต การบริการ หรือกิจการอื่นที่ดำเนินงานอยู่ แม้ว่าการเปลี่ยนแปลง ดังกล่าวจะก่อให้เกิดความก้าวหน้าก็ตาม
                          (ค) การทดสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์
                          (ง) การปรับปรุงกรรมวิธีการผลิต เพื่อลดต้นทุนการผลิตหรือเพิ่มผลผลิต ทั้งนี้ ไม่ว่าจะใช้เพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีของตนเองหรือของผู้อื่น
                    (2) ต้องเป็นเครื่องจักรและอุปกรณ์ของเครื่องจักรที่ไม่เคยผ่านการใช้งานมาก่อน โดยเครื่องจักรและอุปกรณ์ดังกล่าวต้องสามารถนำไปใช้งานได้ตั้งแต่สองปีขึ้นไป และมีมูลค่าต้นทุนไม่ต่ำกว่า 100,000 บาท
     ตัวอย่าง บริษัท ขอนแก่น จำกัด ซื้อเครื่องจักรและอุปกรณ์ของเครื่องจักรใหม่ที่ใช้สำหรับการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี  มาใช้ในกิจการ ราคา 1,000,000 บาท และเครื่องจักรดังกล่าว พร้อมใช้งาน วันที่ 1 กรกฎาคม 2558    การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา หักได้ดังนี้
         (1) ในวันที่ 1 ก.ค.2558 หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาเบื้องต้นในวันที่ได้ทรัพย์สินนั้นมาในอัตราร้อยละ 40 ของ 1,000,000.- เท่ากับ 400,000 บาท  คงเหลือมูลค่าต้นทุน  600,000 บาท
         (2) ส่วนที่เหลือ  600
,000 บาท  หักอัตราร้อยละ 20  ในวันสิ้นรอบบัญชี (600,000 x20/100)= 120,000  เฉลี่ยตามระยะเวลาได้มา 6 เดือน ( 120,000/12x6) = 60,000 บาท
                ข.เครื่องบันทึกการเก็บเงิน         การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินประเภทเครื่องบันทึกการเก็บเงิน ให้หักได้ดังต่อไปนี้                                      
                    (1) ร้อยละ 100 ของมูลค่าต้นทุนตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ หรือ
                    (2) หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาเบื้องต้นในวันที่ได้ทรัพย์สินนั้นมาในอัตราร้อยละ 40 ของมูลค่าต้นทุน สำหรับมูลค่าต้นทุนส่วนที่เหลือให้หักตามเงื่อนไข  อัตราร้อยละ 20 (ทยอยหักจนกว่าจะหมด)   ทรัพย์สินดังกล่าว จะต้องมีลักษณะและเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
                          (1) ต้องเป็นทรัพย์สินของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยคำนวณตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งประกอบกิจการค้าปลีกหรือประกอบกิจการอย่างอื่นซึ่งมิใช่การค้าปลีกที่อธิบดีกรมสรรพากรอนุมัติให้ใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินในการออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ ทั้งนี้ ตามมาตรา 86/6 หรือมาตรา 86/7 แห่งประมวลรัษฎากร แล้วแต่กรณี
                          (2) ต้องเป็นเครื่องบันทึกการเก็บเงินที่มีลักษณะตามที่อธิบดีกรมสรรพารประกาศกำหนด แต่ไม่รวมถึงส่วนระบบควบคุมกลางของเครื่องคอมพิวเตอร์
                          (3) ต้องแจ้งการใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินในการออกใบกำกับภาษีอย่างย่อต่ออธิบดีกรมสรรพากรตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด ภายในเวลาสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับอนุมัติให้ใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงิน
บริษัท ขอนแก่น จำกัด ซื้อเครื่องบันทึกการเก็บเงินมาใช้ในกิจการ ราคา 100,000 บาท พร้อมใช้งาน วันที่ 1 กรกฎาคม 2558    การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา หักได้ดังนี้
 วิธีที่ (1) ในวันที่ 1 ก.ค.2558 หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาเบื้องต้นในวันที่ได้ทรัพย์สินนั้นมาในอัตราร้อยละ 100  คือ หักได้ 100,000 บาทครั้งเดียว( เหลือติดบัญชีไว้ 1 บาท)  หรือ จะเลือกหักตามวิธีที่ 2  ก็ได้คือ
 วิธีที่ 2  (1) ในวันที่ 1 ก.ค.2558 หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาเบื้องต้นในวันที่ได้ทรัพย์สินนั้นมาในอัตราร้อยละ 40 ของ 100,000.- เท่ากับ 40,000 บาท  คงเหลือมูลค่าต้นทุน  60,000 บาท
(2) ส่วนที่เหลือ  60,000 บาท  หักอัตราร้อยละ 20  ในวันสิ้นรอบบัญชี 60,000 x20/100= 12,000  เฉลี่ยตามระยะเวลาได้มา 6 เดือน( 12,000/12x6) = 6,000 บาท
                     ค.เครื่องคอมพิวเตอร์               การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินประเภทคอมพิวเตอร์ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซื้อ ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ หรือได้มาซึ่งสิทธิการใช้ แล้วแต่กรณี เพื่อมีไว้ในการประกอบกิจการของตนเอง ทั้งนี้ เฉพาะทรัพย์สินที่ได้มาและอยู่ในสภาพพร้อมที่จะใช้ได้ตามประสงค์ตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้มีผลใช้บังคับ ให้หักได้ดังต่อไปนี้
                    (1) ภายในสามรอบระยะเวลาบัญชีนับแต่วันที่ได้ทรัพย์สินนั้นมา ในกรณีที่รอบระยะเวลาบัญชีใดไม่เต็มสิบสองเดือน ให้เฉลี่ยตามส่วนสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีนั้น โดยจะเลือกใช้วิธีการทางบัญชีที่รับรองทั่วไปวิธีใดก็ได้
                    (2) กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีสินทรัพย์ถาวรซึ่งไม่รวมที่ดินไม่เกินสองร้อยล้านบาทและมีการจ้างแรงงานไม่เกินสองร้อยคน ให้หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาเบื้องต้นในวันที่ได้ทรัพย์สินนั้นมาในอัตราร้อยละสี่สิบของมูลค่าต้นทุน สำหรับมูลค่าต้นทุนส่วนที่เหลือให้หักตามเงื่อนไขและอัตราที่กำหนดไว้ใน (1)
                         ทรัพย์สินประเภทคอมพิวเตอร์ตามวรรคหนึ่งหมายความว่า เครื่องอิเล็กทรอนิกส์แบบอัตโนมัติ ทำหน้าที่เสมือนสมองกลใช้สำหรับแก้ปัญหาต่างๆ ทั้งที่ง่ายและซับซ้อน โดยวิธีทางคณิตศาสตร์ตลอดจนอุปกรณ์ของคอมพิวเตอร์อันได้แก่ เครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องช่วยหรือเครื่องประกอบกับคอมพิวเตอร์ รวมทั้งโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เพื่อให้คอมพิวเตอร์ใช้งานได้ตามวัตถุประสงค์
ตัวอย่าง บริษัท ขอนแก่น จำกัด ซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์มาใช้ในกิจการ ราคา 100,000 บาท พร้อมใช้งาน วันที่ 1 กรกฎาคม 2558    การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา หักได้ดังนี้
(1) หัก ภายใน 3 รอบระยะเวลาบัญชี  คือ 100,000 /3 = 33,333 บาท ต่อรอบระยะเวลาบัญชี
(2) บริษัท ขอนแก่น จำกัด มีสินทรัพย์ถาวรซึ่งไม่รวมที่ดินไม่เกินสองร้อยล้านบาทและมีการจ้างแรงงานไม่เกินสองร้อยคน  สามารถหักดังนี้
   2.1  หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาเบื้องต้นในวันที่ได้ทรัพย์สินนั้นมาในอัตราร้อยละ20  เท่ากับ  (100,000 /20 x 100) = 20,000
  2.2 ส่วนที่เหลือ (100,000 -20,000) เท่ากับ  80,000 หาร 3 หักรอบระยะเวลาบัญชีละ  26,666 บาท เป็นเวลา 3 รอบ/บช.  (หมายเหตุ รอบ บ/ช แรกรวมหักได้ (20,000+26,666) = 46,666 บาท)
           (ง.) การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินประเภทอาคารโรงงานที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีสินทรัพย์ถาวรซึ่งไม่รวมที่ดินไม่เกินสองร้อยล้านบาทและมีการจ้างแรงงานไม่เกินสองร้อยคน ที่ซื้อหรือได้รับโอนกรรมสิทธิ์เพื่อมีไว้ในการประกอบกิจการของตนเอง ให้หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาเบื้องต้นในวันที่ได้ทรัพย์สินนั้นมาในอัตราร้อยละ 25 ของมูลค่าต้นทุน สำหรับมูลค่าต้นทุนส่วนที่เหลือให้หักตามเงื่อนไขและในอัตราร้อยละ 5 ของมูลค่าต้นทุนจนกว่าจะหมด
          (จ.)  การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินประเภทเครื่องจักรและอุปกรณ์ของเครื่องจักรที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีสินทรัพย์ถาวรซึ่งไม่รวมที่ดินไม่เกิน สองร้อยล้านบาท และมีการจ้างแรงงานไม่เกินสองร้อยคน ที่ซื้อหรือได้รับโอนกรรมสิทธิ์เพื่อมีไว้ในการประกอบกิจการของตนเอง ให้หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาเบื้องต้นในวันที่ได้ทรัพย์สินนั้นมาในอัตราร้อยละ 40 ของมูลค่าต้นทุน สำหรับมูลค่าต้นทุนส่วนที่เหลือให้หักตามเงื่อนไขและในอัตราร้อยละ 20 ของมูลค่าต้นทุนจนกว่าจะหมด

                (ฉ.)  การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินประเภทอาคารถาวรที่บริษัทที่เป็นสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค(ROH) ที่ซื้อหรือได้รับโอนกรรมสิทธิ์เพื่อมีไว้ในการประกอบกิจการของตนเอง ให้หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาเบื้องต้นในวันที่ได้ทรัพย์สินนั้นมาในอัตราร้อยละยี่สิบห้าของมูลค่าต้นทุน สำหรับมูลค่าต้นทุนส่วนที่เหลือให้หักตามเงื่อนไขและในอัตราร้อยละ 5 ของมูลค่าต้นทุนจนกว่าจะหมด     ทั้งนี้ เฉพาะทรัพย์สินที่ได้มาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2545  
            (ช.)  การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินประเภทเครื่องจักรและอุปกรณ์ของเครื่องจักรที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซื้อหรือได้รับโอนกรรมสิทธิ์เพื่อมีไว้ในการประกอบกิจการของตนเอง ให้หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาเบื้องต้นในวันที่ได้ทรัพย์สินนั้นมาในอัตราร้อยละสี่สิบของมูลค่าต้นทุน สำหรับมูลค่าต้นทุนส่วนที่เหลือให้หักตามเงื่อนไขและในอัตราร้อยละ 20 ของมูลค่าต้นทุนจนกว่าจะหมดทั้งนี้ เฉพาะทรัพย์สินที่ได้มาและอยู่ในสภาพพร้อมที่จะใช้ได้ตามประสงค์ตั้งแต่วันที่ 7 สิงหาคม 2551 เป็นต้นไป วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2553
               บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินดังกล่าว จะต้องไม่ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 3(1) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 460) พ.ศ. 2549
           (ซ)  การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินประเภททรัพย์สินอย่างอื่น ซึ่งโดยสภาพของทรัพย์สินนั้นสึกหรอหรือเสื่อมราคาได้นอกจากที่ดินและสินค้าที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีทรัพย์สินถาวร ซึ่งไม่รวมที่ดินไม่เกินสองร้อยล้านบาทและมีการจ้างแรงงานไม่เกินสองร้อยคน ซื้อหรือได้รับโอนกรรมสิทธิ์เพื่อมีไว้ในการประกอบกิจการของตนเอง ให้หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาในอัตราร้อยละ100 ของมูลค่าต้นทุนของทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างรอบระยะเวลาบัญชีซึ่งมีมูลค่ารวมกันไม่เกิน 500,000 บาท  เฉพาะทรัพย์สินที่ได้มาและอยู่ในสภาพพร้อมที่จะใช้ได้ตามประสงค์ตั้งแต่วันที่  7 สิงหาคม 2551 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2553
           (ฌ)  การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินประเภททรัพย์สินอย่างอื่น  ซึ่งโดยสภาพของทรัพย์สินนั้นสึกหรอหรือเสื่อมราคาได้นอกจากที่ดินและสินค้า แต่ไม่รวมถึงยานพาหนะที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งเป็นผู้ประกอบอุตสาหกรรมท่องเที่ยวตามกฎหมายว่าด้วยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยซื้อหรือได้รับโอนกรรมสิทธิ์เพื่อมีไว้ใช้ในการประกอบกิจการของตนเอง ให้หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาเบื้องต้นในวันที่ได้ทรัพย์สินนั้นมาในอัตราร้อยละหกสิบของมูลค่าต้นทุน สำหรับมูลค่าต้นทุนส่วนที่เหลือให้หักตามเงื่อนไขและในอัตราร้อยละ 20  ทั้งนี้ ทรัพย์สินนั้นต้อง
    (๑) ไม่เป็นทรัพย์สินที่ได้รับสิทธิประโยชน์หรืออยู่ระหว่างการพิจารณาขอรับสิทธิประโยชน์สนับสนุนจากส่วนราชการ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม เพื่อการส่งเสริมการลงทุนด้านอนุรักษ์พลังงาน
    (๒) ไม่เป็นทรัพย์สินที่นำไปใช้ในกิจการที่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามกฎหมาย ว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
     (๓) ไม่เป็นทรัพย์สินที่เกิดจากรายจ่ายซึ่งได้จ่ายไปเป็นค่าจ้างเพื่อทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีให้แก่หน่วยงานของรัฐหรือเอกชนตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๒๙๗) พ.ศ. ๒๕๓๙

(๔) ไม่เป็นทรัพย์สินที่เกิดจากรายจ่ายตามมาตรา ๖๕ ตรี (๕) แห่งประมวลรัษฎากร และได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา ๓ (๑) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๔๖๐) พ.ศ. ๒๕๔๙
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ ๕๐๕) พ.ศ. ๒๕๕๓ ใช้บังคับกับทรัพย์สินที่ได้มาและอยู่ในสภาพพร้อมที่จะใช้ได้ตามวัตถุประสงค์ตั้งแต่วันที่ ๑๔  ตุลาคม ๒๕๕๓ จนถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ )
(ญ)  การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินประเภทเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตสินค้าหรือให้บริการรับจ้างผลิตสินค้าที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งมีทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกินห้าล้านบาทและมีรายได้จากการขายสินค้าหรือบริการรวมกันไม่เกินสามสิบล้านบาทต่อปีในรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้ใช้สิทธิ ให้หักได้ดังต่อไปนี้
(๑) ร้อยละหนึ่งร้อยของมูลค่าต้นทุน หรือ
(๒) หักตามเงื่อนไขและในอัตราร้อยละ 20 ของมูลค่าต้นทุนจนกว่าจะหมด ทรัพย์สินดังกล่าว ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังต่อไปนี้
“(๑) เป็นทรัพย์สินซึ่งได้ซื้อมาตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๕ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ และไม่เคยผ่านการใช้งานมาก่อน
(๒) อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานได้ตามประสงค์ภายในวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๖
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ ๕๖๓) พ.ศ. ๒๕๕๖ ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๕๖ เป็นต้นไป)
(๓) ไม่เป็นทรัพย์สินที่ได้รับสิทธิประโยชน์หรืออยู่ระหว่างการพิจารณาขอรับสิทธิประโยชน์สนับสนุนจากส่วนราชการ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม เพื่อการส่งเสริมการลงทุนด้านอนุรักษ์พลังงาน
(๔) ไม่เป็นทรัพย์สินที่นำไปใช้ในกิจการที่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
(๕) ไม่เป็นทรัพย์สินที่ใช้สิทธิหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาตามมาตรา ๔ เอกาทศ
(๖) ไม่เป็นทรัพย์สินที่เกิดจากรายจ่ายซึ่งได้จ่ายไปเป็นค่าจ้างเพื่อทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีให้แก่หน่วยงานของรัฐหรือเอกชนตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๒๙๗) พ.ศ. ๒๕๓๙
(๗) ไม่เป็นทรัพย์สินที่เกิดจากรายจ่ายตามมาตรา ๖๕ ตรี (๕) แห่งประมวลรัษฎากร และได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๕๓๒) พ.ศ. ๒๕๕๔
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ ๕๕๒) พ.ศ. ๒๕๕๕ ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ เป็นต้นไป)




มาตรา 65 ตรี (6) เบี้ยปรับและหรือเงินเพิ่มภาษีอากร ค่าปรับทางอาญา ภาษีเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ชำระ หรือพึงชำระ และภาษีซื้อของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน
           ผู้ประกอบการที่มีการจดทะเบียนอยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม มีหน้าที่ต้องคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยการนำภาษีขายหักออกจากภาษีซื้อ ทุกเดือนภาษี  หากภาษีขายมากกว่าภาษีซื้อผู้ประกอบการมีหน้าที่ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม และหากภาษีขายน้อยกว่าภาษีซื้อผู้ประกอบการมีสิทธิขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือนำไปเครดิตภาษีขายเดือนถัดไปได้
           ภาษีขาย หมายถึง ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนได้เรียกเก็บหรือพึงเรียกเก็บจากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการที่กิจการมีหน้าที่นำส่งกรมสรรพากร ในขณะที่
           ภาษีซื้อหมายถึงภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนถูกผู้ประกอบการจดทะเบียนอื่นเรียกเก็บ ซึ่งเกิดจากการจ่ายค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่กิจการมีสิทธิขอคืนหรือนำไปเครดิตภาษีขายได้
ตัวอย่าง   ผู้ประกอบการจ่ายค่าใช้จ่ายไป 10,000 บาท ถูกเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 700 บาท รวมเป็นเงิน 10,700บาท  ภาษีมูลค่าเพิ่มหรือ ภาษีซื้อ 700  บาทนั้นถือเป็นค่าใช้จ่ายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิไม่ได้
            เว้นแต่ภาษีซื้อที่ต้องห้ามนำมาหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม  บางกรณี ตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 243) พ.ศ.2543 และประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฯ (ฉบับที่ 42)  ดังต่อไปนี้ที่สามารถนำไปหักในการคำนวณกำไรสุทธิได้
    1.  ภาษีซื้อที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ที่เกิดจากการซื้อ เช่าซื้อ เช่า หรือรับโอนรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกินสิบคน ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตและภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อสินค้าหรือการรับบริการที่เกี่ยวกับรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกินสิบคน
ยกเว้น กิจการขายรถยนต์หรือให้เช่ารถยนต์ซึ่งซื้อรถยนต์ฯ ดังกล่าวมาเพื่อขายหรือให้เช่า และกิจการรับประกันภัยสำหรับรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีนั่งไม่เกินสิบคนที่สามารถนำภาษีซื้อไปหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้(แต่นำภาษีซื้อมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิไม่ได้)
    -  ตัวอย่าง  บริษัท ขอนแก่น จำกัด ซื้อรถยนต์นั่ง ราคา 1,070,000 บาท (ราคารถยนต์ 1,000,000 บาท ภาษีมูลค่าเพิ่ม 70,000 บาท) เพื่อนำไปใช้ในการวิ่งทดสอบสมรรถนะของยางรถยนต์ เข้าลักษณะเป็นการนำรถยนต์นั่งไปใช้ในการประกอบกิจการของตนเอง โดยไม่ได้นำไปขายหรือให้เช่า ดังนั้น ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อรถยนต์นั่ง จำนวน 70,000 บาท เพื่อใช้ในการวิ่งทดสอบสมรรถนะของยาง ถือเป็นภาษีซื้อที่ไม่ให้นำไปหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร (แต่นำไปหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ )
(2) ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีอย่างย่อ
(3) ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อทรัพย์สินเพื่อใช้หรือจะใช้ในกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือภาษีซื้อที่เกิดจากรายจ่ายของกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

(4) ภาษีซื้อที่เกิดจากรายจ่ายเพื่อการรับรองหรือเพื่อการอันมีลักษณะทำนองเดียวกันตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด
(5) ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีเต็มรูป ซึ่งรายการคำว่าใบกำกับภาษีมิได้ตีพิมพ์ขึ้น หรือมิได้จัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ในกรณีจัดทำใบกำกับภาษีขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ทั้งฉบับ
(6) ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีเต็มรูป ซึ่งรายการอื่นๆตามมาตรา 86/4(8) แห่งประมวลรัษฎากร มิได้จัดทำขึ้นตามวิธีการตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเช่น ใบกำกับภาษีที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ไม่ได้ระบุเลขทะเบียนรถในใบกำกับภาษี
(7) ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีเต็มรูป ซึ่งมีรายการในใบกำกับภาษีเป็นสำเนา (
copy) แต่ไม่รวมถึงใบกำกับภาษีที่ได้จัดทำรวมกับเอกสารทางการค้าอื่นซึ่งมีจำนวนหลายฉบับ และใบกำกับภาษีซึ่งมีรายการในใบกำกับภาษีเป็นสำเนามีข้อความว่า "เอกสารออกเป็นชุด" ปรากฏอยู่ด้วย
(8) ภาษีซื้อส่วนที่เฉลี่ยเป็นของกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งได้คำนวณตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
(9) ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อสินค้าหรือรับบริการ ซึ่งผู้ประกอบการจดทะเบียนนำไปใช้หรือจะใช้ในการประกอบกิจการทั้งประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและผู้ประกอบการจดทะเบียนดังกล่าวใช้สิทธิเลือกไม่นำภาษีซื้อทั้งหมดไปหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม เนื่องจากกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มมีรายได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของรายได้ของกิจการทั้งหมด
(10) ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีเต็มรูปซึ่งรายการได้ถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลง เว้นแต่รายการซึ่งได้ถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลงตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด
(11) ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อ เช่าซื้อ หรือรับโอนรถยนต์ที่มิใช่รถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต เพื่อใช้หรือจะใช้ในกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และต่อมาได้มีการดัดแปลงรถยนต์ดังกล่าวเป็นรถยนต์นั่ง หรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต ทั้งนี้ เฉพาะที่ได้กระทำภายใน 3 ปีนับแต่เดือนภาษีที่ได้รถยนต์ไว้ในครอบครอง มิให้ใช้บังคับสำหรับการขายรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต และการให้บริการเช่ารถยนต์ดังกล่าวของตนเองโดยตรง

(12) ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีเต็มรูปซึ่งรายการ ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ออกใบกำกับภาษีมิได้ตีพิมพ์ขึ้นหรือมิได้จัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ในกรณีจัดทำใบกำกับภาษีขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ทั้งฉบับ
             นอกจากมีภาษีซื้อบางชนิดที่เป็นภาษีซื้อต้องห้าม แต่ยอมให้ถือเป็นค่าใช้จ่ายได้ ดังกล่าวข้างต้นแล้ว  ภาษีซื้อกรณีอื่นๆที่เป็นภาษีซื้อต้องห้าม และ เป็นค่าใช้จ่ายรายจ่ายต้องห้ามด้วย ได้แก่ภาษีซื้อดังต่อไปนี้
(1) กรณีไม่มีใบกำกับภาษีหรือไม่อาจแสดงใบกำกับภาษีได้ว่ามีการชำระภาษีซื้อ เว้นแต่จะเป็นกรณีมีเหตุอันสมควรตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด
    (2) กรณีใบกำกับภาษีมีข้อความไม่ถูกต้องหรือ ไม่สมบูรณ์ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด
    (3) ภาษีซื้อที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการ ของผู้ประกอบการตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่อธิบดี
    (4)  ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีซึ่งออกโดยผู้ที่ไม่มีสิทธิออกใบกำกับภาษี(ใบกำกับภาษีปลอม)
หมายเหตุ สำหรับรายจ่ายต้องห้ามที่เป็น เบี้ยปรับและหรือเงินเพิ่มภาษีอากร ค่าปรับทางอาญา นั้นได้มีคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรที่ 10/2528 ว่า คำว่า เบี้ยปรับและหรือเงินเพิ่มภาษีอากร ค่าปรับทางอาญาตามบทบัญญัติมาตรา 65 ตรี (6) แห่งประมวลรัษฎากร  ดังกล่าวจะหมายความรวมถึงเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มและค่าปรับทางอาญาตามกฎหมายอื่นนอกจากประมวลรัษฎากร ด้วยหรือไม่คณะกรรมการฯได้พิจารณาแล้วในการประชุมครั้งที่ 14/2528 วันที่ 11 มิถุนายน 2528 มีคำวินิจฉัยดังต่อไปนี้ โดยที่การห้ามนำเบี้ยปรับและหรือเงินเพิ่มภาษีอากรค่าปรับทางอาญามาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคคลตามบทบัญญัติดังกล่าว เป็นการตัดสิทธิผู้เสียภาษีอากร ฉะนั้น จึงต้องวินิจฉัยคำว่า เบี้ยปรับและหรือเงินเพิ่มภาษีอากร ค่าปรับทางอาญาตามความหมายอย่างแคบ กล่าวคือ หมายถึงเบี้ยปรับและหรือเงินเพิ่มภาษีอากร ค่าปรับทางอาญาตามประมวลรัษฎากรเท่านั้น  (ส่วนเบี้ยปรับและหรือเงินเพิ่มภาษีอากร ค่าปรับทางอาญา ตามกฏหมายอื่นไม่ถือเป็นรายจ่ายต้องห้าม เช่น ค่าปรับอาญาตามกฏหมายอาญา )

มาตรา 65 ตรี (7) การถอนเงินโดยปราศจากค่าตอบแทนของผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
           ตัวอย่าง นายเอก เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด เอกการค้า   นายเอก ได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเดือน อยู่แล้ว นายเอก ได้ถอนเงินของห้างฯ ไปซื้อรถยนต์ไว้ใช้ส่วนตัวที่บ้าน ไม่ได้ซื้อมาเพื่อใช้ในกิจการของห้างฯ การถอนเงินดังกล่าวจะนามาหักเป็นรายจ่ายของห้างหุ้นส่วนจำกัด ไม่ได้ เนื่องจาก การถอนเงินดังกล่าวจึงเป็นการถอนเงินโดยปราศจากค่าตอบแทนของผู้เป็นหุ้นส่วน ดังนั้น จึง  ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (7) แห่งประมวลรัษฎากร
มาตรา 65 ตรี (8) เงินเดือนของผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วนเฉพาะส่วนที่จ่ายเกินสมควร
          ประมวลรัษฎากรห้ามมิให้กิจการนำเงินเดือนของผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วนเฉพาะส่วนที่จ่ายเกินสมควรมาหักเป็นรายจ่าย การที่กฎหมายกาหนดเงื่อนไขเช่นนี้ก็เพื่อป้องกันมิให้กิจการที่เป็นนายจ้างจ่ายค่าตอบแทนแรงงานในรูปของเงินเดือนให้ในจำนวนที่เกินสมควร ซึ่งเป็นการกำหนดรายจ่ายเงินเดือนให้สูงเกินปกติเพื่อลดกำไรสุทธิทำให้การเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลน้อยลง ดังนี้ หากกิจการมีการกำหนดจ่ายเงินเดือนไว้สูง ๆ เฉพาะเงินเดือนส่วนที่จ่ายเกินสมควรเท่านั้นที่กฎหมายกาหนดห้ามมิให้นามาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้
           อย่างไรก็ตาม ปัญหาการให้เงินเดือนให้ในจำนวนที่เกินสมควรนั้นไม่มีกฏหมายกำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่าต้องจ่ายเงินเดือนเท่าใหร่ถึงจะไม่เกินสมควร ในทางปฏิบัติต้องพิจารณาองค์ประกอบหลายๆด้านประกอบกันเช่น การจ้างงานในท้องตลาด รูปแบบและขนาดของการประกอบกิจการ รายได้จากการประกอบกิจการ กำไรของกิจการ ซึ่งต้องเหมาะสมสอดคล้องกันกับการจ่ายเงินเดือน เช่น
 บริษัท Aฯ มีทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท รายได้จากการขายสินค้าทั้งปี 10 ล้านบาท หากจ่ายเงินเดือนกรรมการผู้จัดการเดือนละ 500,000 บาท(ปีละ 6 ล้านบาท ) อย่างนี้ถือว่าเกินสมควร
บริษัท B ฯ มีทุนจดทะเบียน 50 ล้านบาท รายได้จากการขายสินค้าทั้งปี 10,000 ล้านบาท หากจ่ายเงินเดือนกรรมการผู้จัดการเดือนละ 500,000 บาท(ปีละ 6 ล้านบาท ) อย่างนี้ถือว่าไม่เกินสมควร
มาตรา 65 ตรี (9) รายจ่ายซึ่งกำหนดขึ้นเองโดยไม่มีการจ่ายจริง หรือรายจ่ายซึ่งควรจะได้จ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีอื่น เว้น แต่ในกรณีที่ไม่สามารถจะลงจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีใด ก็อาจลงจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีที่ถัดไปได้
         รายจ่ายที่กำหนดขึ้นเองโดยไม่มีการจ่ายจริง หมายถึง รายจ่ายที่กิจการได้กำหนดขึ้นเอง โดยมิได้มีการจ่ายเงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์ใด ๆ เป็นการตอบแทน การที่กฎหมายบัญญัติข้อห้ามนี้ขึ้นเพื่อป้องกันมิให้มีการกำหนดรายจ่ายปลอมขึ้น เช่น ค่าลิขสิทธิ์ ค่าที่ปรึกษา จากบริษัทในเครือในต่างประเทศ ฯลฯ โดยมิได้มีการให้บริการที่แท้จริง
      รายจ่ายซึ่งควรจะได้จ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีอื่น หมายถึง รายจ่ายที่มิใช่รายจ่ายของรอบระยะเวลาบัญชีนั้น โดยปกติรายจ่ายที่เป็นของรอบระยะเวลาบัญชีใด ก็ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น ดังนั้น รายจ่ายที่ควรจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีอื่นจึงห้ามมิให้นำมาหักเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น ซึ่งเงื่อนไขข้อห้ามนี้เป็นไปตามเกณฑ์สิทธิหรือเกณฑ์คงค้าง ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใช้ในการบันทึกรายได้และรายจ่ายอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม ประมวลรัษฎากรได้บัญญัติข้อยกเว้นให้ในกรณีที่ไม่สามารถจะลงจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีใด ก็อาจจะจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีถัดไปได้
        ตัวอย่าง เมื่อปี 2548 บริษัท เย็นฤดี จำกัด ถูกประเมินเรียกเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย ซึ่งบริษัทมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบตามมาตรา 50 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับเงินได้ปี 2544 และ 2545 จำนวน 10 ล้านบาท พร้อมเงินเพิ่ม จำนวน 150,000 บาท  บริษัท จ่ายเงินค่าภาษีที่ถูกประเมินในปี 2548  ย่อมสามารถนำภาษีที่จ่ายมาหักเป็นรายจ่ายในปี 2548 ได้ เพราะเป็นรายจ่ายซึ่งไม่สามารถจะจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีที่เกิดรายจ่ายขึ้นได้ ก็ลงจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีถัดไปได้(ส่วนเบี้ยปรับ และเงินเพิ่มหักไม่ได้)
มาตรา 65 ตรี (10) ค่าตอบแทนแก่ทรัพย์สินซึ่งบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเป็นเจ้าของเองและใช้เอง           
         การจ่ายเงินค่าเช่ารถบรรทุกของตนเอง หรือ การจ่ายเงินค่าเช่าอาคารสำนักงานที่เป็นกรรมสิทธิ์ของตนเอง ย่อมเป็นรายจ่ายที่เป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติและไม่มีช่องทางที่จะบันทึกรายการบัญชีสำหรับรายการดังกล่าวได้เลย
ตัวอย่าง บริษัท อเมริกา จำกัด เป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศอเมริกา  เป็นเจ้าของที่ดินแปลงหนึ่งในประเทศไทย ได้เข้ามาเปิดสาขาของบริษัทในประเทศไทย โดยก่อสร้างอาคารสำนักงานบนที่ดินแปลงดังกล่าว บริษัทซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่ได้คิดค่าเช่าที่ดินแปลงนี้ ปีละ 5,000,000 บาท รายจ่ายค่าเช่าที่ดินแปลงดังกล่าวนี้ บริษัทสาขาในประเทศไทยจะนำมาหักเป็นรายจ่ายในการคานวณกำไรสุทธิไม่ได้เนื่องจาก  บริษัทสำนักงานใหญ่และบริษัทสาขาในประเทศไทย ถือเป็นนิติบุคคลเดียวกัน ดังนั้นการจ่ายค่าเช่าของบริษัทสาขาในประเทศไทยให้บริษัทสำนักงานใหญ่จึงเป็นการจ่ายค่าตอบแทนแก่ทรัพย์สินที่บริษัทเป็นเจ้าของและใช้เอง ต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษี 
  มาตรา 65 ตรี (11) ดอกเบี้ยที่คิดให้สำหรับเงินทุน เงินสำรองต่างๆ หรือเงินกองทุนของตนเอง
          การจ่ายดอกเบี้ยที่ให้สำหรับเงินทุน เงินสำรองต่างๆ หรือเงินกองทุนของตนเอง ย่อมเป็นรายจ่ายที่เป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติและไม่มีช่องทางที่จะบันทึกรายการบัญชีสำหรับรายการดังกล่าวได้เลยเช่นเดียวกับกรณีตามมาตรา 65 ตรี(10)
       รายจ่ายต้องห้ามตาม มาตรา 65 ตรี(10)และ(11) ดังกล่าว เป็นกรณีของ profit center หรือ cost center ซึ่งเป็นแผนกต่างๆ ของบริษัทเดียวกัน แต่มีการคิดค่าบริการระหว่างกัน
          

มาตรา 65 ตรี (12) ผลเสียหายอันอาจได้กลับคืนเนื่องจากการประกันหรือสัญญาคุ้มกันใดๆหรือขาดทุนสุทธิในรอบระยะ เวลาบัญชีก่อนๆ เว้นแต่ผลขาดทุนสุทธิ ยกมาไม่เกินห้าปีก่อนรอบระยะเวลาบัญชีปีปัจจุบัน
           ก. ผลเสียหายอันอาจได้กลับคืนเนื่องจากการประกันหรือสัญญาคุ้มกันใดๆ 
         กรณีที่ทรัพย์สินชำรุดจนไม่สามารถใช้งานได้ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล จะนำมูลค่าต้นทุนที่เหลืออยู่ของทรัพย์สินนั้น ตัดเป็นรายจ่ายทั้งจำนวนไม่ได้ แต่หากได้ทำลายหรือขายไปซึ่งทรัพย์สินนั้น ก็มีสิทธิ์ตัดต้นทุนที่เหลืออยู่เป็นรายจ่ายได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร                                    
        ในกรณีที่ขายทรัพย์สินนั้นไป บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น ต้องนำราคาขายทรัพย์สินดังกล่าวมารวมคำนวณกำไรสุทธิ เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลด้วย
        กรณีที่ทรัพย์สินสูญหาย ซึ่งถือเป็นผลเสียหายจากการประกอบกิจการ และบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ประสงค์จะตัดต้นทุนที่เหลืออยู่ของทรัพย์สินนั้นเป็นรายจ่ายทั้งจำนวน ได้ดังนี้
          (ก) กรณีที่ทรัพย์สินที่สูญหายนั้น บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ได้มีการประกันหรือสัญญาคุ้มกันใด ๆ ไว้ กรณีดังกล่าวถือเป็นผลเสียหายอันอาจได้รับกลับคืนเนื่องจากการประกันหรือสัญญาคุ้มกันใด ๆ ดังนั้น เมื่อทรัพย์สินได้รับความเสียหายและกำลังรอการชดใช้จากบริษัทประกันภัย แต่ได้สิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชีไปก่อน เช่นนี้บริษัทและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล จะตัดผลเสียหายดังกล่าวเป็นรายจ่ายทันทีไม่ได้ ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (12) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น จะต้องรอจนกว่าจะได้รับค่าสินไหมที่ได้รับชดใช้จากบริษัทประกันภัยเสียก่อน ถ้าผลเสียหายมากกว่าค่าชดใช้ผลต่างถือเป็นผลเสียหายที่มีสิทธิ์หักเป็นรายจ่ายได้ แต่ถ้าค่าชดใช้สูงกว่าความเสียหาย ผลต่างถือเป็นรายได้ จึงต้องนำมารวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลด้วย
                        (ข) กรณีทรัพย์สินที่สูญหายนั้น ไม่มีการประกันหรือสัญญาคุ้มกันใด ๆ มูลค่าของต้นทุนที่เหลืออยู่ของทรัพย์สินนั้น ถือเป็นผลเสียหายจากการประกอบกิจการ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล มีสิทธิ์ตัดเป็นรายจ่ายได้ทั้งจำนวน ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร แต่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล จะต้องมีหลักฐานที่เชื่อถือได้ เพื่อแสดงให้เห็นว่าทรัพย์สินนั้นได้สูญหายจริง
(คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป. 58/2538 เรื่อง      ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการตัดมูลค่าต้นทุนที่เหลืออยู่ของทรัพย์สินที่สูญหายหรือชำรุดจนไม่สามารถใช้งานได้)
         (ข)  ผลขาดทุนสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีก่อนๆ
             บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเมื่อสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีในแต่ละปีจะต้องมีการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลโดยการนำรายได้มาหักออกจากรายจ่ายที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น หากผลการดำเนินงานพบว่ารายได้สูงกว่ารายจ่าย ผลต่างที่เกิดขึ้นจะเป็นกำไรสุทธิซึ่งต้องนำไปเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล และหากผลการดำเนินงานพบว่ารายได้ต่ำกว่ารายจ่าย ผลต่างที่เกิดขึ้นถือเป็นขาดทุนสุทธิ ผลขาดทุนสุทธิที่เกิดขึ้นมีสิทธินำไปหักออกจากผลกำไรในปีถัดไปได้แต่ไม่เกิน 5 ปี ตามมาตรา 65 ตรี (12) แห่งประมวลรัษฎากรดังนี้
           ผลขาดทุนสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีก่อนๆ เว้นแต่ผลขาดทุนสุทธิยกมาไม่เกิน 5 ปี ก่อนรอบระยะเวลาบัญชีปีปัจจุบัน  การนำผลขาดทุนสุทธิหรือผลขาดทุนสะสมจากปีก่อนมาหักออกจากกำไรสุทธิในปีปัจจุบันแต่ต้องไม่เกิน 5 ปี  
ตัวอย่าง บริษัท ขอนแก่น จำกัด ได้เริ่มดำเนินกิจการเมื่อปี 2540 มีผลกำไรหรือขาดทุนเกิดขึ้นในแต่ละปีดังนี้
   ปี              ผลกำไร         ผลขาดทุน            ยอดสะสม              หมายเหตุ  หน่วย ล้านบาท
2540                               (100)                 (100)
2541               20                                    ( 80)                         หักปีที่ 1
2542              10                                     ( 70)                         หักปีที่ 2
2543              15                                     ( 55)                          หักปีที่ 3
2544                               ( 80)              (55+80)                         หักปีที่ 4
2545              30                                  (25+80)                         หักปีที่ 5
2546              30                                  (25+50) ขาดทุนสะสม 25 ล้านบาท ไม่มีสิทธินำมาหักกำไร2547              60                                   (25+0) กำไรสุทธิที่ต้องเสียภาษี 10 ล้านบาท (60- 50 = 10)
2548              20                                   (25+0) ต้องเสียภาษีจากกำไรสุทธิ 20 ทั้งจำนวน

             ปัญหาในการนำผลขาดทุนสุทธิของกิจการไปหักออกจากกำไรสุทธิไม่เกิน 5 รอบระยะเวลาบัญชี หากหักกำไรสุทธิแล้วยังเหลืออยู่เกิน 5 รอบระยะเวลาบัญชีแล้ว บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลไม่มีสิทธิในการนำไปหักในปีที่ 6 อีกต่อไป

มาตรา 65 ตรี (13) รายจ่ายซึ่งมิใช่รายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ
            ตามปกติรายจ่ายที่จะนามาหักเป็นรายจ่ายในการคานวณกำไรสุทธินั้น จะต้องเป็นรายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ การจะถือเป็นรายจ่ายได้จะต้องพิจารณาถึงประเพณี ธรรมเนียมทางธุรกิจ ความจำเป็นตามสมควร หลักฐานข้อเท็จจริง เป็นแต่ละกรณีไป ในบางครั้งกิจการอาจมีรายจ่ายที่จ่ายไปแล้ว แต่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดาเนินธุรกิจถือเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการส่วนตัว ซึ่งตามประมวลรัษฎากรกาหนดเป็นข้อห้ามมิให้นำรายจ่ายที่ไม่เกี่ยวกับกิจการ หรือรายจ่ายที่มิใช่รายจ่ายเพื่อหากำไรโดยเฉพาะมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้
รายจ่ายที่มิใช่รายจ่ายเพื่อหากาไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ ได้แก่
 รายจ่ายค่าปรับทางอาญาที่พนักงานกระทาผิดกฎหมาย
 รายจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเช่า ของสถานประกอบการค้าในส่วนที่ใช้เป็นที่พักอาศัยด้วย
 
ค่าใช้จ่ายที่จ่ายในการทำบุญเลี้ยงพระ เนื่องในวันที่บริษัทครบรอบ 10 ปี

มาตรา 65 ตรี (14) รายจ่ายซึ่งมิใช่รายจ่ายเพื่อกิจการในประเทศไทยโดยเฉพาะ
                การห้ามมิให้นำรายจ่ายซึ่งมิใช่รายจ่ายเพื่อกิจการในประเทศไทยโดยเฉพาะมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล การที่กฎหมายบัญญัติเช่นนี้ เพื่อมิให้มีการนารายจ่ายของกิจการในต่างประเทศ หรือรายจ่ายของกิจการอื่นมาถือเป็นรายจ่ายของกิจการในประเทศไทย รายจ่ายประเภทนี้มักจะเกิดขึ้นจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในต่างประเทศ และมีสาขาประกอบธุรกิจในประเทศต่าง ๆ รวมทั้งประเทศไทยด้วย ซึ่งหากยอมให้นำรายจ่ายของสำนักงานใหญ่หรือสาขาในต่างประเทศมาหักเป็นรายจ่ายของกิจการในประเทศไทย ย่อมมีผลกระทบทำให้ประเทศไทยจัดเก็บภาษีเงินได้ได้น้อยลง
ตัวอย่าง บริษัท ABC จำกัด จดทะเบียนในประเทศสหรัฐอเมริกาได้เข้ามาตั้งสาขาประกอบกิจการในประเทศไทย สาขาจะนำค่าเช่าที่ทำการซึ่งสานักงานใหญ่เฉลี่ยเรียกเก็บมาหักเป็นรายจ่ายของสาขาในประเทศไทยม่ได้
               แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการส่งเสริมให้บริษัทต่างประเทศเข้ามาประกอบกิจการในประเทศไทย กรมสรรพากรได้กำหนดหลักเกณฑ์สำหรับรายจ่ายที่สาขาในประเทศไทยได้จ่ายไปให้สำนักงานใหญ่ หรือสาขาอื่นในต่างประเทศ เพื่อเป็นค่าตอบแทนในการให้ความช่วยเหลือหรือการให้บริการแก่กิจการของสาขาในประเทศไทยที่จะนำมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ และไม่เข้าลักษณะเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (14) แห่งประมวลรัษฎากร จะต้องเป็นกรณีที่มีหลักฐานชัดแจ้งว่ารายจ่ายดังกล่าวเป็นรายจ่ายที่มีลักษณะดังต่อไปนี้
1) รายจ่ายเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือหรือให้บริการของสำนักงานใหญ่หรือสาขาอื่นนั้นเกี่ยวกับกิจการของสาขาในประเทศไทยตามความเป็นจริง
2) รายจ่ายที่เกี่ยวกับการค้นคว้าและพัฒนา (Research and Development) โดยสาขาในประเทศไทยจะต้องได้รับบริการหรือได้นาผลการค้นคว้าและพัฒนามาใช้ประโยชน์ในกิจการของสาขาในประเทศไทยตามความเป็นจริง
3) รายจ่ายใดถ้าสำนักงานใหญ่หรือสาขาอื่นได้นาไปหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิของสำนักงานใหญ่หรือสาขาอื่นแล้ว จะนามาถือเป็นรายจ่ายของสาขาในประเทศอีกไม่ได้
4) รายจ่ายใดถ้าสำนักงานใหญ่หรือสาขาอื่นเรียกเก็บมายังสาขาในประเทศไทย จะต้องมีหลักเกณฑ์และวิธีการเป็นที่รับรองทั่วไป (Generally Accepted) และจะต้องถือปฏิบัติเช่นเดียวกับสาขาในประเทศอื่น ๆ และเป็นไปอย่างสม่าเสมอ
5) รายจ่ายดังกล่าวจะต้องมิใช่รายจ่ายของสำนักงานใหญ่หรือสาขาอื่นโดยเฉพาะ เช่น ค่าเช่าที่ทำการ ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าเครื่องเขียนเครื่องใช้ ค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของเครื่องมือเครื่องใช้ เป็นต้น
            ส่วนจำนวนเงิน หลักเกณฑ์ และวิธีการดังกล่าวข้างต้นที่จะนำมาถือเป็นรายจ่ายของสาขาในประเทศไทยได้ จะต้องมีหลักฐานหรือหนังสือรับรองโดยเจ้าหน้าที่ของต่างประเทศที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง หรือโดยบุคคลอื่นที่อธิบดีกรมสรรพากรเชื่อถือได้ และหลักฐานหรือหนังสือดังกล่าวจะต้องมีรายละเอียดเพียงพอที่แสดงให้เห็นว่า เป็นรายจ่ายที่จำเป็นและสมควรแก่การดำเนินการธุรกิจของสาขาในประเทศไทยตามความเป็นจริง
(คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป. 13/2529 เรื่อง      การเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตาม กฎหมายของต่างประเทศ และกระทำกิจการในประเทศไทย ตามมาตรา 66 และมาตรา 76 ทวิแห่งประมวลรัษฎากร )
มาตรา 65 ตรี (15) ค่าซื้อทรัพย์สินและรายจ่ายเกี่ยวกับการซื้อ หรือขายทรัพย์สินในส่วนที่เกินปกติโดย ไม่มีเหตุผลอันสมควร
          เหตุผลสำคัญที่กฎหมายกาหนดเช่นนั้นเพราะการลงรายจ่ายสาหรับค่าซื้อทรัพย์สินสูง ทำให้ต้นทุนของทรัพย์สินที่จะนำไปหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคามีราคาสูง ทำให้เกิดรายจ่ายที่เป็นค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาสูง กำไรสุทธิที่จะต้องเสียภาษีจะลดน้อยลง ส่งผลให้กิจการเสียภาษีให้รัฐน้อยลง สำหรับรายจ่ายเกี่ยวกับการซื้อหรือขายทรัพย์สิน กฎหมายกำหนดเป็นข้อห้ามแต่เฉพาะกรณีที่ไม่มีเหตุผลอันสมควร ดังนั้นหากมีค่าซื้อทรัพย์สินและรายจ่ายเกี่ยวกับการซื้อหรือขายทรัพย์สินโดยมีเหตุผลอันสมควรย่อมไม่ถือเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรานี้
ตัวอย่าง ห้างหุ้นส่วนจำกัด ขอนแก่นการยาง  ซื้อยางพาราชั้นหนึ่งมาจากบริษัท ยางไทย จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทของหุ้นส่วนคนหนึ่งในห้าง เพื่อนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้า ในราคากิโลกรัมละ 50 บาท รวม 2 ตัน เป็นเงิน 100,000 บาท ราคายางพาราชั้นหนึ่งในท้องตลาดขณะนั้นกิโลกรัมละ 24 บาท หากซื้อ 2 ตัน เป็นเงินเพียง 48,000 บาทห้างหุ้นส่วนจำกัด ขอนแก่นการยาง  จะหักรายจ่ายค่าซื้อยางพาราได้เพียง 48,000 บาท(ราคาตลาด) ผลต่างของราคายางพารา เป็นเงิน 52,000 บาท (100,000 – 48,000) ถือเป็นรายจ่ายเกี่ยวกับการซื้อทรัพย์สินในส่วนที่เกินปกติ โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร  จึงนำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีไม่ได้
     กิจการข้ามชาติ กับ TRANSFER PRICING
           ปัจจุบันการประกอบธุรกิจระหว่างประเทศได้พัฒนาไปอย่างมาก มีการขยายการลงทุนไปในประเทศต่างๆ อย่างรวดเร็ว ซึ่งการดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศ ก่อให้เกิดรูปแบบกลุ่มธุรกิจที่มี ผลประโยชน์ร่วมกันในการประกอบกิจการเป็นกิจการข้ามชาติ หรือที่เรียกว่า Multinational Enterprises : MNEs โดยกิจการข้ามชาติดังกล่าว มีการซื้อ - ขายสินค้าหรือให้บริการระหว่างกัน ก่อให้เกิดปัญหาการตั้งราคาโอน ที่เรียกว่า Transfer Pricing Transfer Pricing คือ การที่คู่สัญญาทำธุรกรรมระหว่างกัน โดยกำหนดราคาซื้อ-ขาย สินค้าหรือให้บริการที่แตกต่างไปจากราคาตลาด หรือ Arm's Length Price  ซึ่งกรมสรรพากรได้วางแนวทางปฎิบัติไว้ตามคำสั่งกรมสรรพากร  ที่ ป. 113/2545 เรื่อง      การเสียภาษีเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล กรณีการกำหนดราคาโอนให้เป็นไปตามราคาตลาด   ดังนี้
                เพื่อให้เจ้าพนักงานสรรพากรถือเป็นแนวทางปฏิบัติในการตรวจและแนะนำผู้เสียภาษีในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร กรณีการกำหนดราคาโอนให้เป็นไปตามราคาตลาด กรมสรรพากรจึงมีคำสั่ง ดังต่อไปนี้
                ข้อ 1  บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย หรือที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศตามมาตรา 66 และมาตรา 76 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร จะต้องคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร โดยนำรายได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชี หักด้วยรายจ่ายตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร
                ในการคำนวณรายได้และรายจ่ายตามวรรคหนึ่ง ให้ใช้เกณฑ์สิทธิ โดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจะต้องนำรายได้ที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีใด แม้จะยังไม่ได้ รับชำระในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นมารวมคำนวณเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น และให้นำ รายจ่ายทั้งสิ้นที่เกี่ยวกับรายได้นั้น แม้จะยังมิได้จ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นมารวมคำนวณเป็นรายจ่ายของรอบระยะเวลาบัญชีนั้น



                ข้อ 2  กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามข้อ 1 กระทำธุรกรรมกับคู่สัญญาของตนโดยไม่มีรายได้ตอบแทนหรือมีรายได้ตอบแทนต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควร หรือกรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามข้อ 1 กระทำธุรกรรมกับคู่สัญญาของตนโดยมีรายจ่ายสูงกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควร ถ้าบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นไม่ได้ปรับปรุงรายได้หรือรายจ่ายให้เป็นไปตามราคาตลาดเพื่อเสียภาษีเงินได้ ให้เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมิน รายได้หรือรายจ่ายให้เป็นไปตามราคาตลาด
                        คำว่า ราคาตลาดตามวรรคหนึ่งหมายความว่า ราคาของค่าตอบแทน ค่าบริการ หรือดอกเบี้ย ซึ่งคู่สัญญาที่เป็นอิสระต่อกันพึงกำหนดโดยสุจริตในทางการค้า กรณีโอนทรัพย์สิน ให้บริการ หรือให้กู้ยืมเงินที่มีลักษณะ ประเภท และชนิดเช่นเดียวกัน ณ วันที่โอนทรัพย์สิน ให้บริการ หรือให้กู้ยืมเงิน
                        คำว่า คู่สัญญาที่เป็นอิสระต่อกันหมายความว่า คู่สัญญาที่ไม่มีความสัมพันธ์ระหว่างกันในการจัดการ การควบคุม หรือร่วมทุน โดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม
                ข้อ 3  ในการคำนวณรายได้หรือรายจ่าย เพื่อให้ได้มาซึ่งราคาตลาดให้ถือปฏิบัติโดยเลือกใช้วิธีใดวิธีหนึ่งดังต่อไปนี้
                        (1) วิธีเปรียบเทียบกับราคาที่มิได้มีการควบคุม (Comparable Uncontrolled Price Method) โดยให้ทำการเปรียบเทียบกับค่าตอบแทน ค่าบริการ หรือดอกเบี้ยที่เรียกเก็บใน ทางการค้าระหว่างคู่สัญญาที่เป็นอิสระต่อกันกรณีโอนทรัพย์สิน ให้บริการ หรือให้กู้ยืมเงินที่มีประเภทและชนิดเดียวกันและอยู่ภายใต้เงื่อนไขเดียวกันหรือคล้ายคลึงกัน
                        (2) วิธีราคาขายต่อ (Resale Price Method) โดยให้นำค่าตอบแทนในการโอนทรัพย์สินหรือค่าบริการซึ่งผู้ซื้อสินค้าหรือบริการจากผู้ขายได้ขายต่อให้แก่บุคคลอื่นซึ่งเป็นคู่สัญญาที่เป็นอิสระต่อกันหักออกด้วยจำนวนกำไรขั้นต้นที่เหมาะสม
                        จำนวนกำไรขั้นต้นที่เหมาะสมให้คำนวณจากการคูณราคาขายต่อของทรัพย์สินหรือบริการดังกล่าวด้วยอัตรากำไรขั้นต้นที่เกิดจากการโอนทรัพย์สินหรือให้บริการในลักษณะ หรือประเภท หรือชนิดเดียวกันให้แก่คู่สัญญาที่เป็นอิสระต่อกัน
                         ตัวอย่าง
                        บริษัท ก. ขายสินค้าให้แก่บริษัท A ซึ่งเป็นบริษัทในเครือในราคา 50 บาท บริษัท A ขายสินค้านั้นต่อให้แก่บริษัท B ซึ่งเป็นบริษัททั่วไปในราคา 90 บาท ทั้งนี้ สมมุติให้อัตรากำไรขั้นต้นที่ขายให้แก่คู่สัญญาที่เป็นอิสระต่อกันในตลาดที่ขายสินค้าชนิดเดียวกันนั้น คือ 20% ของราคาขายต่อ
                 ราคาตลาดที่บริษัท ก. ขายสินค้าให้แก่บริษัท A คำนวณได้โดย                                                 
                                   ราคาสินค้าขายต่อให้แก่บริษัททั่วไป  =
90 บาท
                                             หัก กำไรขั้นต้น (
90 x 20%) = 18 บาท                                    
                                                                  ราคาตลาด =
72 บาท
                        (3) วิธีราคาทุนบวกกำไรส่วนเพิ่ม (Cost Plus Method) โดยให้นำต้นทุนของทรัพย์สินหรือบริการที่ขายให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือบริการบวกด้วยจำนวนกำไรขั้นต้นที่เหมาะสม
                          จำนวนกำไรขั้นต้นที่เหมาะสมให้คำนวณจากการคูณต้นทุนของทรัพย์สินหรือบริการดังกล่าวด้วยอัตรากำไรขั้นต้นที่เกิดจากการโอนทรัพย์สินหรือให้บริการในลักษณะ หรือประเภท หรือชนิดเดียวกันให้แก่คู่สัญญาที่เป็นอิสระต่อกัน         ตัวอย่าง
                        บริษัท ก. ขายสินค้าให้แก่บริษัท A ซึ่งเป็นบริษัทในเครือในราคา 75 บาท ต้นทุนสินค้าขายคือ 50 บาท บริษัท ข. ขายสินค้าชนิดเดียวกันให้แก่บริษัท B ซึ่งเป็นบริษัททั่วไปในราคา 100 บาท ต้นทุนสินค้าขายคือ 60 บาท ดังนั้น อัตรากำไรขั้นต้นที่ขายให้แก่คู่สัญญาที่เป็นอิสระต่อกัน คือ 40% ของราคาขายหรือ 66.67% ของต้นทุนสินค้า (40/60)
                        ราคาตลาดที่บริษัท ก. ขายสินค้าให้แก่บริษัท A คำนวณได้โดย                                 
                                  ต้นทุนสินค้าขายให้แก่บริษัทในเครือ =
50 บาท
                                      บวก กำไรขั้นต้น (
50 x 66.67%) = 33.34 บาท
                                                                ราคาตลาด = 83.34 บาท
                        (4) วิธีอื่น (Other Methods) หากวิธีตาม (1) (2) และ (3) ไม่อาจนำมา ใช้ในการคำนวณรายได้หรือรายจ่ายเพื่อให้ได้มาซึ่งราคาตลาดของค่าตอบแทน ค่าบริการ หรือ ดอกเบี้ย ให้ใช้วิธีอื่นซึ่งเป็นวิธีที่ได้รับรองโดยสากลและมีความเหมาะสมตามสภาพข้อเท็จจริงในทางการค้าที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีโอนทรัพย์สิน ให้บริการ หรือให้กู้ยืมเงินนั้น
ตัวอย่าง    บริษัท อิตาลี่ จำกัด คิดค่าบริการติดตั้งเครื่องจักร จากบริษัทในเครือ ในประเทศไทย ในราคา 1 ล้านยูโร โดยมีราคาที่แท้จริงเพียง 8 แสนยูโร   กรณีเช่นนี้ กรมสรรพากรไทยจะถือผลต่าง 2 แสนยูโร เป็นรายจ่ายต้องห้าม

                ข้อ 4  ในการตรวจสอบภาษีอากรของเจ้าพนักงานประเมินสำหรับวิธีคำนวณ รายได้หรือรายจ่ายเพื่อให้ได้มาซึ่งราคาตลาดตามข้อ 3 ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตาม ข้อ 1 ให้เจ้าพนักงานประเมินพิจารณาเอกสารหลักฐานดังต่อไปนี้ ซึ่งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้จัดทำขึ้นจริงในแต่ละขั้นตอนของการกระทำธุรกรรมและเก็บรักษาไว้ ณ สำนักงานของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
                        (1) เอกสารแสดงโครงสร้างและความสัมพันธ์ของกิจการในกลุ่มเดียวกัน รวมทั้งโครงสร้างและลักษณะของการประกอบธุรกิจของแต่ละกิจการ
                        (2) งบประมาณ แผนงานทางธุรกิจ และประมาณการทางการเงิน
                        (3) เอกสารแสดงกลยุทธ์ทางธุรกิจของผู้เสียภาษี และเหตุผลในการใช้ กลยุทธ์ดังกล่าว
                        (4) เอกสารแสดงยอดขาย ผลประกอบการของผู้เสียภาษีและลักษณะของธุรกรรมที่ทำกับกิจการในกลุ่มเดียวกัน
                        (5) เอกสารแสดงเหตุผลในการจัดทำธุรกรรมระหว่างประเทศที่ทำกับกิจการในกลุ่มเดียวกัน

                        (6) นโยบายการกำหนดราคา ความสามารถในการทำกำไรของแต่ละผลิตภัณฑ์และข้อมูลทางการตลาด รวมทั้งส่วนแบ่งกำไรของแต่ละกิจการ โดยต้องคำนึงถึงหน้าที่งาน ทรัพย์สิน และความเสี่ยงของแต่ละกิจการที่เกี่ยวข้อง
                        (7) เอกสารแสดงเหตุผลในการเลือกวิธีกำหนดราคา
                        (8) กรณีที่อาจเลือกวิธีกำหนดราคาได้หลายวิธี ให้มีเอกสารแสดง รายละเอียดวิธีอื่น ๆ นอกเหนือจากวิธีตาม (7) และเหตุผลที่ไม่เลือกวิธีดังกล่าว โดยต้องเป็นเอกสารที่จัดทำขึ้นในขณะเดียวกันกับการตัดสินใจเลือกวิธีตาม (7)
                        (9) เอกสารที่ใช้เป็นหลักฐานแสดงหลักการพื้นฐานและท่าทีในการเจรจาของผู้เสียภาษีสำหรับธุรกรรมที่ทำกับกิจการในกลุ่มเดียวกัน
                        (10) เอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดราคา (ถ้ามี)
                        คำว่ากิจการในกลุ่มเดียวกันตามวรรคหนึ่งหมายความว่า กิจการในกลุ่มบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์ระหว่างกันในการจัดการ การควบคุม หรือร่วมทุน โดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม
                        กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามข้อ 1 ได้จัดทำเอกสารหลักฐานตามวรรคหนึ่ง โดยมีรายละเอียดเพียงพอที่แสดงให้เห็นว่า วิธีคำนวณรายได้หรือรายจ่ายเพื่อให้ได้มาซึ่งราคาตลาดตามข้อ 3 ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเป็นวิธีที่เหมาะสมถูกต้อง ให้เจ้าพนักงานประเมินถือปฏิบัติตามวิธีคำนวณรายได้หรือรายจ่ายเพื่อให้ได้มาซึ่งราคาตลาดของบริษัทหรือ ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น
                ข้อ 5  กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามข้อ 1 ประสงค์จะทำข้อตกลงการกำหนดราคาเป็นการล่วงหน้ากับกรมสรรพากรสำหรับการกระทำธุรกรรมใดที่ทำกับคู่สัญญาของตน ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลยื่นคำขอจัดทำข้อตกลงการกำหนดราคาเป็นหนังสือพร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้องต่ออธิบดีกรมสรรพากร เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นต้องดำเนินการตามข้อตกลงการกำหนดราคา

       กล่าวโดยสรุป ย่อมถือว่ากฎหมายภาษีของไทย ได้ให้อำนาจแก่เจ้าพนักงาน ไว้เพียงพอแล้ว แต่ปัญหาที่แท้จริงก็คือ การขาดข้อมูลของราคาตลาดต่างๆ ในประเทศคู่ค้านั่นเอง...
มาตรา 65 ตรี (16) ค่าของทรัพยากรธรรมชาติที่สูญหรือสิ้นไปเนื่องจากกิจการที่ทำ
     ค่าของทรัพยากรธรรมชาติที่สูญสิ้นไป เนื่องจากกิจการที่ทำ เช่น การทำเหมืองแร่ การขุดเจาะน้ำมันและก๊าซ การทำป่าไม้ เป็นต้น ถือเป็นสินทรัพย์สิ้นเปลือง ห้ามนำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษี ส่วนค่าใช้จ่ายในการบุกเบิกเพื่อให้ได้มาซึ่งแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ หรือต้นทุนเพื่อการได้มาซึ่งแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สูญสิ้นไปได้ กฎหมายยอมให้หักเป็นค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาได้ตามพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 145) .. 2527
ตัวอย่าง บริษัท NGV จำกัด เป็นบริษัทที่จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นในประเทศอเมริกา เข้ามาทำการขุดเจาะก๊าซธรรมชาติในประเทศไทย โดยจ่ายค่าสัมปทานให้แก่รัฐบาลไทย คิดเป็นเงิน 100 ล้านบาท จากการประมาณของบริษัท NGV จำกัด คาดว่าจะสามารถขุดก๊าซธรรมชาติได้ถึง 5 ปี โดยจะได้ก๊าซธรรมชาติปีละ 40 ล้านบาท ในกรณีนี้มูลค่าก๊าซธรรมชาติที่สูญสิ้นไปปีละ 40 ล้านบาท จะนามาหักเป็นรายจ่ายไม่ได้ ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (16) แห่งประมวลรัษฎากร ส่วนค่าสัมปทาน100 ล้านบาท สามารถนำมาหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาได้ร้อยละ 5 จนกว่าจะหมด

มาตรา 65 ตรี (17) ค่าของทรัพย์สินนอกจากสินค้าที่ตีราคาต่ำลง ทั้งนี้ ภายใต้บังคับมาตรา 65 ทวิ

          การตีราคาลดของสินทรัพย์อื่นนอกจากสินค้าคงเหลือตามมาตรา65 ตรี (17)แห่งประมวลรัษฎากร
มีสาระสำคัญคือห้ามนำราคาทรัพย์สินที่ตีราคาลดลง  มาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิทางภาษี  เพราะการที่กิจการจะตีราคาทรัพย์สินลดลง โดยยังมิได้มีการขายทรัพย์สินจริง รายการผลขาดทุนจากการตีราคาทรัพย์สินลดลงจึงเป็รายการที่ยังไม่ได้เกิดขึ้น จริง (
Unrealized Loss) อีกทั้ง เป็นการตีราคาโดยผู้ประกอบการแต่ฝ่ายเดียว จึงถือเป็นรายจ่ายต้องห้าม  

      ตัวอย่างที่ 1  เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2558 บริษัท ขอนแก่น จำกัด ซื้อ ที่ดินมูลค่า10,000,000 บาท
                       ต่อมาเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2559 ราคายุติธรรมจากการประเมินราคาที่ดินมูลค่า
                       9,000,000 บาท กิจการจึงต้องปรับปรุงรายการที่ดินดังนี้
                       เดบิต   ขาดทุนจากการตีราคาสินทรัพย์        1,000,000
                                                             เครดิต ที่ดิน                              1,000,000
                การบันทึกบัญชีดังกล่าวข้างต้นมีผลกระทบต่อกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล จึงต้องบวกกลับด้วยรายการขาดทุนจากการตีราคาสินทรัพย์ 1,000,000 บาท เนื่องจากรายการขาดทุนจากการตีราคาที่ดินจำนวน 1,000,000 บาท   ในทางหลักการบัญชีถือเป็นค่าใช้จ่ายในงบกำไรขาดทุนทางบัญชี แต่ในทางภาษีอากรในมาตรา 65 ตรี (17) แห่งประมวลรัษฎากรกำหนดว่าเป็นการห้ามนำส่วนที่ตีราคาลดลงของสินทรัพย์อื่นนอกจากสินค้าคงเหลือมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิทางภาษี เพราะการที่กิจการจะตีราคาทรัพย์สินลดลง โดยยังมิได้มีการขายทรัพย์สินจริง รายการผลขาดทุนจากการตีราคาทรัพย์สินลดลงจึงเป็นรายการที่ยังไม่ได้เกิดขึ้น จริง(Unrealized Loss) อีกทั้ง เป็นการตีราคาโดยผู้ประกอบการแต่ฝ่ายเดียว จึงถือเป็นรายจ่ายมิได้

มาตรา 65 ตรี (18) รายจ่ายซึ่งผู้จ่ายพิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับ
             ตามปกติแล้วรายจ่ายทุกรายการต้องมีหลักฐานแสดงว่ามีการจ่ายเงิน เช่น ใบส่งของ ใบแจ้งหนี้ สัญญาหรือใบเสร็จรับเงิน เป็นต้น เพื่อใช้เป็นหลักฐานแสดงว่ามีการจ่ายจริง ซึ่งจะนาไปถือเป็นรายจ่ายได้ แต่ในบางกรณีแม้ว่าจะมีการจ่ายจริง แต่ปรากฏว่าผู้จ่ายไม่อาจหาเอกสารหลักฐานมาเพื่อพิสูจน์ว่ามีการจ่ายจริง เช่น รายจ่ายค่าแรงกรรมกรรายวัน หรือรายจ่ายจานวนเล็กน้อย ดังนั้น ถ้าพิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับเงินก็จะนำไปหักเป็นรายจ่ายไม่ได้
ตัวอย่าง บริษัท อุดร จำกัด ได้รับรองลูกค้าโดยจ่ายเป็นค่าอาหารให้แก่ร้านอาหารเป็นเงิน 5,000 บาท แต่ทางร้านไม่ได้ออกใบเสร็จรับเงินให้ บริษัทจะหักรายจ่ายดังกล่าวไม่ได้ เพราะเป็นรายจ่ายซึ่งพิสูจน์ผู้รับไม่ได้

มาตรา 65 ตรี (19) รายจ่ายใดๆ ที่กำหนดจ่ายจากผลกำไรที่ได้เมื่อสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชีแล้ว
                รายจ่ายประเภทนี้ ได้แก่ เงินโบนัสหรือเงินรางวัลที่จ่ายให้แก่กรรมการหรือพนักงานของบริษัท ซึ่งโดยมากมักจะกำหนดจ่ายโดยคิดเป็นร้อยละของยอดกำไรที่ได้จากการดำเนินงานจึงถือได้ว่าเป็นรายจ่ายที่กำหนดจ่ายจากผลกำไรที่ได้เมื่อสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี ซึ่งถือเป็นรายจ่ายไม่ได้
ตัวอย่าง บริษัท หนองคาย จำกัด ได้ทำสัญญาเช่าโรงกลั่นสุราจากกรมสรรพสามิต โดยตกลงจะแบ่งกำไรสุทธิจากการประกอบกิจการให้แก่ทางราชการ 20% ส่วนแบ่งกำไรที่จ่ายให้แก่ทางราชการดังกล่าว จะนำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิของบริษัทไม่ได้ เพราะเป็นรายจ่ายที่กำหนดจ่ายจากผลกำไรที่ได้เมื่อสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชีแล้ว

มาตรา 65 ตรี (20) รายจ่ายที่มีลักษณะทำนองเดียวกับที่ระบุไว้ใน (1) ถึง (19) ซึ่งจะกำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา
ข้อสังเกต ปัจจุบันมีพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 315) พ.ศ. 2540 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 504) พ.ศ. 2553 กำหนดว่ารายจ่ายต่อไปนี้ ไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ (ใช้บังคับสำหรับทรัพย์สินที่ได้มา หรือที่ได้ทำสัญญาเช่าเป็นหนังสือตั้งแต่วันที่ 29 พฤษภาคม 2539 เป็นต้นไป)
1. มูลค่าต้นทุนของทรัพย์สินประเภทรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกินสิบคนตามกฎหมาย ว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตเฉพาะส่วนที่เกินคันละหนึ่งล้านบาท ทั้งนี้ ไม่รวมถึงกรณีที่
ก. ผู้ประกอบธุรกิจซื้อขายหรือให้เช่าซื้อรถยนต์ มีรถยนต์ประเภทดังกล่าวได้เพื่อเป็นสินค้า หรือ
ข. ผู้ประกอบธุรกิจให้เช่ารถยนต์มีรถยนต์ประเภทดังกล่าวไว้ เพื่อการให้เช่าเฉพาะมูลค่าที่เหลือหลังจากหักค่า สึกหรอและค่าเสื่อมราคาตามมาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร
คำว่า "ทรัพย์สิน" หมายความรวมถึง ทรัพย์สินที่ได้มาโดยการซื้อ รวมถึงการเช่าซื้อหรือการซื้อขาย เงินผ่อนด้วย
2. ค่าเช่าทรัพย์สินประเภทรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกินสิบคนตามกฎหมายว่าด้วยพิกัด อัตราภาษีสรรพสามิต เฉพาะค่าเช่าส่วนที่เกินคันละสามหมื่นหกพันบาทต่อเดือนในกรณีที่เช่าเป็นรายเดือนหรือรายปี หรือค่าเช่าส่วนที่เกินคันละหนึ่งพันสองร้อยบาทต่อวันในกรณีที่เช่าเป็นรายวันเศษของเดือนให้คิดเป็นวัน หากเช่าไม่ถึงหนึ่งวัน ให้คำนวณค่าเช่าตามส่วนของระยะเวลาที่เช่าทั้งนี้ โดยรวมภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย   แต่ไม่รวมถึง กรณีที่รายจ่ายที่เกิดจากการเข่าทรัพย์สิน ประเภทรถยนต์นั่ง และรถยนต์โดยสาร ที่มีที่นั่งไม่เกินสิบคน ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต ในกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งประกอบธุรกิจให้เช่ารถยนต์ ได้เช่ารถยนต์ประเภทดังกล่าวไว้เพื่อการเช่า โดยใช้บังคับสำหรับค่าเช่า ที่จ่าย ตั้งแต่ 14 ตุลาคม 2544 เป็นต้นไป(พระราชกฤษฎีกาฯ(ฉบับที่504) พ.ศ. 2553)
   โดยสรุปค่าเช่ารถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกินสิบคนนำมาหักเป็นรายจ่ายได้ดังนี้
     คันละ 36,000 บาทต่อเดือน (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)  หรือ  คันละ 1,200 บาทต่อวัน (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)
 (กรณีเช่าเป็นรายวันเศษของเดือนคิดเป็นวัน  หากเช่าไม่ถึง 1 วัน ให้คำนวณค่าเช่าตามส่วนของระยะเวลาที่เช่า)
ตัวอย่าง บริษัท ขอนแก่น จำกัด ได้จ่ายค่าเช่ารถยนต์เพื่อใช้ประกอบกิจการเป็นเวลา 1 เดือน ๆ ละ 35,000 บาท ภาษีซื้อ 2,450 บาท ค่าเช่าที่ถือเป็นรายจ่ายต้องห้าม = (35,000 + 2,450 36,000) = 1,450 บาท
   รายจ่ายที่มีสิทธิหักได้เพิ่มขึ้นจากที่จ่ายจริง                 ปกติการประกอบธุรกิจต่าง ๆ รายจ่ายที่จ่ายเพื่อกิจการสามารถนามาหักเป็นรายจ่ายได้เท่าที่จ่ายไป มีบางกรณีที่กฎหมายให้หักน้อยกว่าที่จ่ายไปหรือไม่ยอมให้หักรายจ่ายเพื่อส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตสินค้าหรือให้บริการ หรือเพื่อการประหยัดพลังงานหรือมีนโยบายส่งเสริมสนับสนุนธุรกิจหรือนโยบายด้านสังคม จึงมีมาตรการภาษีที่สำคัญยอมให้หักรายจ่ายได้มากกว่าที่จ่ายจริง สรุปได้ดังนี้
1
.พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 487) หักได้ 1.25 เท่า ของที่จ่ายจริง
รายจ่ายเพื่อการได้มาซึ่งทรัพย์สินประเภทเครื่องจักรอุปกรณ์หรือวัสดุที่มีผลต่อการประหยัดพลังงาน (รวมค่าติดตั้ง) หักได้ 1.25 เท่า ของที่จ่ายจริง  ทรัพย์สินที่ได้มาและใช้งานภายใน วันที่ 31 ธ.ค. 2553 - ใช้กับบุคคลธรรมดา บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล2.พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 460) หักได้ 1.25 เท่า ของที่จ่ายจริง
รายจ่ายเพื่อการลงทุนหรือต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทาให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สิน (มิใช่ซ่อมแซมให้คงสภาพเดิม) 1.25 เท่าของที่จ่ายจริง
 -เฉพาะบริษัทที่จดทะเบียนใน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
 - จัดทำโครงการมูลค่า 5 ล้านบาทขึ้นไป
 
- รายจ่ายภายใน 5 รอบระยะเวลาบัญชี ที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 ม.ค. 2549 เป็นต้นไป  3.พระราชกฤษฎีกา(ฉบับที่ 437)  หักได้ 2 เท่าของที่จ่ายจริง ได้แก่
  -  รายจ่ายฝึกอบรมลูกจ้างของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลรายจ่ายส่งลูกจ้างเข้ารับการศึกษา หรือฝึกอบรมในสถานศึกษา หรือสถานฝึกอบรมฝีมือแรงงานที่ทางราชการจัดตั้งขึ้นหรือที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศกำหนด
- รายจ่ายฝึกอบรมให้แก่ลูกจ้างตาหมลักเกณฑ์ที่อธิบดีกรมสรรพากร ประกาศกำหนด
การใช้สิทธิ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด
4.พระราชกฤษฎีกา(ฉบับที่ 437)หักได้ 2 เท่าของที่จ่ายจริง
 -รายจ่ายในการฝึกเตรียมเข้าทำงานสำหรับกิจการผู้ดำเนินการฝึก
รายจ่ายในการฝึกเตรียมเข้าทำงานเพื่อประโยชน์ของกิจการผู้ดำเนินการ
-   ฝึกผู้ดำเนินการฝึกเป็นบุคคลธรรมดา บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล

5.พระราชกฤษฎีกา(ฉบับที่ 428)หักได้ 2 เท่าของที่จ่ายจริง
รายจ่ายในการจัดสร้างและการบำรุงรักษาสนามเด็กเล่น สวนสาธารณะหรือสนามกีฬาเอกชนที่เปิดให้ประชาชนใช้โดยไม่คิดค่าบริการหรือ สนามเด็กเล่นสวนสาธารณะหรือสนามกีฬาของทางราชการ
สามารถหักรายจ่ายได้ 2 เท่า แต่ต้อง ไม่เกินร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิ ก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะ และรายจ่ายเพื่อการศึกษาหรือการกีฬา

6.พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 499)หักได้ 2 เท่าของที่จ่ายจริง
รายจ่ายสำหรับอุปกรณ์อานวยความสะดวกสำหรับคนพิการเป็นรายจ่ายในการจัดให้มีอุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวก หรือบริการในอาคาร สถานที่ ยานพาหนะ บริการขนส่ง หรือบริการสาธารณะอื่น ให้แก่คนพิการในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ ผู้ใช้สิทธิเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือภาษีเงินได้นิติบุคคล
7. พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 499)หักได้ 2 เท่าของที่จ่ายจริง
-รายจ่ายค่าจ้างคนพิการเข้าทำงานที่จ่ายให้คนพิการ  นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการซึ่งรับคนพิการที่มีบัตรประจาตัวคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเข้าทำงาน ผู้ใช้สิทธิเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือภาษีเงินได้นิติบุคคล
8.พระราชกฤษฎีกา(ฉบับที่ 519)  หักได้ 3 เท่าของที่จ่ายจริง
-ค่าจ้างคนพิการเข้าทางานในสถานประกอบการเกินกว่าร้อยละ 60 ของลูกจ้างในสถานประกอบการ และมีการจ้างงานเกินกว่า 180 วันในรอบระยะเวลาบัญชี

- หัก 3 เท่าของรายจ่ายในการจ้างคนพิการที่มีบัตรประจาตัวคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเข้าทางานในสถานประกอบการเกินกว่าร้อยละ 60 ของลูกจ้างในสถานประกอบการ และมีการจ้างงานเกินกว่า 180 วันในรอบระยะเวลาบัญชี
9.พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 297) หักได้ 2 เท่าของที่จ่ายจริง
ค่าจ้างทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีของบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จ่ายให้แก่หน่วยงานของรัฐหรือเอกชน ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประกาศกำหนดตาม ประกาศกระทรวงการคลัง เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 4) ลงวันที่ 16 ธ.ค. 2539
10.รายจ่ายบางประเภทของกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน หักได้ 2 เท่าของที่จ่ายจริง
รายจ่ายค่าขนส่ง ค่าไฟฟ้า และค่าประปา ที่ใช้ในการประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนหักได้ 2 เท่า ของที่จ่ายจริง  ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน
11.พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 503) หักได้ 2 เท่าของที่จ่ายจริง
     รายจ่ายเพื่อร่วมออกร้าน นิทรรศการ งานแสดงสินค้าในและต่างประเทศ เช่น ค่าเช่าพื้นที่ ค่าก่อสร้างสถานที่จัดแสดง ค่าประกันภัย ค่าระวาง หรือค่าขนส่งสินค้าและอุปกรณ์ ที่ใช้ในการเข้าร่วมงานออก ร้าน งานนิทรรศการหรืองานแสดงสินค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ
      - เฉพาะกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีหนังสือรับรองจากหน่วยงานของรัฐว่าได้เข้าร่วมงานจริง รายจ่ายที่ได้จ่ายตั้งแต่วันที่
14 ตุลาคม 2553 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2554
12.พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 506) หักได้ 2 เท่าของที่จ่ายจริง
-รายจ่ายค่าห้องพัก ค่าห้องสัมมนา ค่าขนส่ง รายจ่ายอื่นในการอบรมสัมมนาลูกจ้างที่จัดขึ้นในประเทศ หรือที่จ่ายให้ธุรกิจท่องเที่ยวเพื่อการอบรมสัมมนาในประเทศ
- รายจ่ายที่ได้จ่ายไปเป็นค่าห้องสัมมนา ค่าห้องพัก ค่าขนส่งหรือรายจ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องในการอบรมสัมมนาภายใน ประเทศที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตาม

- หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกาหนด

13.พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 506) หักได้ 2 เท่าของที่จ่ายจริง
-รายจ่ายค่าห้องพัก ค่าห้องสัมมนา ค่าขนส่ง รายจ่ายอื่นในการอบรมสัมมนาลูกจ้างที่จัดขึ้นในประเทศ หรือที่จ่ายให้ธุรกิจท่องเที่ยวเพื่อการอบรมสัมมนาในประเทศ
-รายจ่ายที่ได้จ่ายไปเป็นค่าห้องสัมมนา ค่าห้องพัก ค่าขนส่งหรือรายจ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องในการอบรมสัมมนาภายใน ประเทศที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้จัดขึ้นให้แก่ลูกจ้าง หรือ
- รายจ่ายที่ได้จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนาเที่ยวตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจนาเที่ยวและมัคคุเทศก์เพื่อการอบรมสัมมนาดังกล่าวเป็นเวลาสองรอบระยะเวลาบัญชีสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่
1 มกราคม พ.ศ. 2553
-ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
14.พระราชกฤษฎีกา(ฉบับที่ 515) หักได้ 2 เท่าของที่จ่ายจริง
รายจ่ายในการจัดหาหนังสือหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อส่งเสริมการอ่านสาหรับโรงเรียน สถานศึกษา สถาบันอุดมศึกษาทั้งของทางราชการและเอกชน
-หัก 2 เท่าของที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของกาไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะ หรือเพื่อการสาธารณประโยชน์ และรายจ่ายเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการกีฬา
15.พระราชกฤษฎีกา(ฉบับที่ 515) หักได้ 2 เท่าของที่จ่ายจริง
รายจ่ายในการจัดหาหนังสือหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อส่งเสริมการอ่านสาหรับหอสมุดหรือห้องสมุดของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหัก 2 เท่าของรายจ่าย เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 50,000 บาทในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี
16.รายจ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษาหักได้ 2 เท่าของที่จ่ายจริงได้แก่
  -16.1  รายจ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษา ตามพรฎ.ฯ (ฉบับที่
420) พ.ศ.2547(ไม่กำหนดระยะเวลาสิ้นสุด)
  -16.2  รายจ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษา ตามพรฎ.(ฉบับที่ ๕๕๘) พ.ศ. ๒๕๕๖"  ใช้สำหรับการบริจาคที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๖ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๘
  -16.3 รายจ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษา ตาม พรฎ. (ฉบับที่ ๖๑๖)พ.ศ. ๒๕๕๙ สำหรับการบริจาคที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่   ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๙ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๑  
หมายเหตุ ต้องไม่ซ้ำกับรายจ่ายเพื่อการศึกษา ตามมาตรา
65 ตรี(3) แห่งประมวลรัษฎากร(เลือกหักอย่างใดอย่างหนึ่ง)
17.พระราชกฤษฎีกา(ฉบับที่ 541)หักได้ 2 เท่าของที่จ่ายจริง
 รายจ่ายเพื่อสนับสนุนโครงการฝึกอบรมอาชีพและการจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการบาบัด แก้ไข ฟื้นฟู และสงเคราะห์เด็กและเยาวชนของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนหรือศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน ในกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม
 -หัก 2 เท่าของที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของกาไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะ หรือเพื่อการสาธารณประโยชน์ และรายจ่ายเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการกีฬา ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด
18.พระราชกฤษฎีกา(ฉบับที่ 559)หักได้ 2 เท่าของที่จ่ายจริง
- รายจ่ายในการจัดหาอุปกรณ์กีฬา การฝึกซ้อมหรือการแข่งขัน การจัดสร้างและพัฒนาสนามกีฬาหรือศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติการส่งเสริมสนับสนุนการจัดการแข่งขันกีฬา หรือการพัฒนานักกีฬาและบุคลากรด้านกีฬา ที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๖ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๘
- หัก 2 เท่าของที่จ่ายจริง  แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของกาไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะ หรือเพื่อการสาธารณประโยชน์ และรายจ่ายเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการกีฬา ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กฎหมายกาหนด
19.พระราชกฤษฎีกา(ฉบับที่ 519)หักได้ 2 เท่าของที่จ่ายจริง
 - รายจ่ายในการจัดให้คนพิการได้รับสิทธิในการเข้าถึง และใช้ประโยชน์จากสิ่งอานวยความสะดวกที่เป็นของสาธารณะ รวมทั้งสวัสดิการและความช่วยเหลืออื่นจากรัฐ
- หัก 2 เท่าของรายจ่าย แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของกาไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณะประโยชน์ และรายจ่ายเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการกีฬา
20.พระราชกฤษฎีกา(ฉบับที่ 520) หักได้ 2 เท่าของที่จ่ายจริง
-เงินบริจาคให้กองทุนพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการจัดตั้งขึ้น

- หัก 2 เท่าของเงินบริจาค แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณะประโยชน์ และรายจ่ายเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการกีฬาสำหรับการบริจาคตั้งแต่วันที่๑ ม.ค. ๒๕๕๔ เป็นต้นมา
21.พระราชกฤษฎีกา(ฉบับที่ 526)
  หักได้ 2 เท่าของที่จ่ายจริง
- รายจ่ายที่จ่ายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดตั้งหรือสนับสนุนการดาเนินงานของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

- หัก 2 เท่าของรายจ่าย แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณะประโยชน์ และรายจ่ายเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการกีฬา
22.พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 598) พ.ศ. 2559  หักรายจ่ายเป็นจำนวน 3 เท่าของที่จ่ายจริง
 - รายจ่ายเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากเดิมให้หักรายจ่ายได้
2 เท่าของรายจ่ายดังกล่าว
-สำหรับเงินได้ ที่จ่ายตั้งแต่วันที่
1 มกราคม 2558 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2562ให้หักรายจ่ายเพิ่มขึ้นอีก 1 เท่า  รวมเป็นให้สามารถหักรายจ่ายเป็นจำนวน 3 เท่า)
- ทั้งนี้รายจ่ายดังกล่าวต้องไม่เกินอัตราส่วนของรายได้ของกิจการที่ต้องนำมารวมคำนวณกาไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีตามสัดส่วนที่กำหนด ทั้งนี้สำหรับเงินได้ ที่จ่ายตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2562    ดังนี้
(1) รายจ่าย 1 เท่าแรกหักเป็นรายจ่ายตามปกติของกิจการซึ่งต้องเป็นไปตามมาตรฐานการบัญชี
(2) รายจ่ายเท่าที่ 2 หักเป็นรายจ่ายเพิ่มได้อีก 1 เท่าทันทีในรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้จ่ายไป

(3) รายจ่ายเท่าที่ 3 หักเป็นรายจ่ายได้เพิ่มอีก 1 เท่าในรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้จ่ายไปเช่นกัน หากเป็นรายจ่ายซึ่งได้จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2558 ถึง 31 ธันวาคม 2562 ทั้งนี้ เมื่อรวมกับการหักตามเงื่อนไขข้อ (2) (คือถือเป็นฐานค่าวิจัยเท่าที่ 2 และเท่าที่ 3รวมกัน) ต้องไม่เกินอัตราส่วนของรายได้ของกิจการที่ต้องนำมารวมคำนวณกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีเดียวกัน โดยมีเงื่อนไขดังนี้

เงื่อนไขข้อที่ 1 ผู้ที่จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีต้องเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากฐานกำไรสุทธิ (ภ.ง.ด.50)

เงื่อนไขข้อที่ 2 ได้จ่ายรายจ่ายเพื่อการทำวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้แก่หน่วยงานของรัฐหรือเอกชน ตามที่อธิบดีประกาศกำหนด
เงื่อนไขข้อที่
3 หลักเกณฑ์ในการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคคลจากรายจ่ายเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เป็นดังนี้
(1) รายจ่าย 1 เท่าแรกหักเป็นรายจ่ายตามปกติของกิจการซึ่งต้องเป็นไปตามมาตรฐานการบัญชี
สำหรับต้นทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนานั้นในทางบัญชีต้องถือว่าต้นทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนาในกรณีที่การวิจัยประสบความสำเร็จถือเป็นสินทรัพย์ไม่มีตัวตน กิจการจะโอนต้นทุนโครงการวิจัยพัฒนาเป็นสินทรัพย์ไม่มีตัวตนได้ก็ต่อเมื่อเป็นไปตามย่อหน้าที่ 57 ของมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 38 (ปรับปรุง 2558) เรื่อง สินทรัพย์ไม่มีตัวตน ดังต่อไปนี้
57.1 มีความเป็นไปได้ทางเทคนิคที่จะทำสินทรัพย์ไม่มีตัวตนเสร็จสมบูรณ์เพื่อนำมาใช้หรือขายได้
57.2 กิจการมีความตั้งใจที่จะทำสินทรัพย์ไม่มีตัวตนเสร็จสมบูรณ์และนำมาใช้งานหรือขาย
57.3 กิจการมีความสามารถที่จะนำสินทรัพย์ไม่มีตัวตนนั้นมาใช้งานหรือขาย
57.4 กิจการสามารถแสดงให้เห็นถึงวิธีการที่สินทรัพย์ไม่มีตัวตนจะก่อให้เกิดประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในอนาคต นอกจากนี้ กิจการต้องสามารถแสดงให้เห็นว่าสินทรัพย์ไม่มีตัวตนหรือผลผลิตจากสินทรัพย์ไม่มีตัวตนนั้นมีตลาดรองรับ หรือหากกิจการนำสินทรัพย์ไม่มีตัวตนไปใช้งานเป็นการภายใน กิจการต้องสามารถแสดงให้เห็นถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากสินทรัพย์ไม่มีตัวตนนั้น
57.5 กิจการมีทรัพยากรด้านเทคนิค ด้านการเงิน และด้านอื่นอย่างเพียงพอที่จะนำมาใช้ ในการพัฒนาให้เสร็จสิ้นสมบูรณ์ และนำสินทรัพย์ไม่มีตัวตนมาใช้งานหรือขาย
57.6 กิจการมีความสามารถที่จะวัดมูลค่าของรายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ไม่มีตัวตนที่เกิดขึ้นในระหว่างการพัฒนาได้อย่างน่าเชื่อถือ
2) ก่อให้เกิดประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในอนาคตแก่กิจการ       สินทรัพย์ไม่มีตัวตน หมายถึง สินทรัพย์ที่ไม่เป็นตัวเงินที่สามารถระบุได้และไม่มีลักษณะทางกายภาพ ดังนั้น ต้นทุนในการวิจัยและพัฒนาจะถูกโอนมาเป็นสินทรัพย์ไม่มีตัวตนได้ก็ต่อเมื่อการวิจัยนั้นเสร็จสมบูรณ์และสามารถใช้ประโยชน์ได้จริง ในทางบัญชีนั้น ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่จ่ายไปเป็นต้นทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนาจะถูกโอนเข้าบัญชีงานระหว่างทำ จนกระทั่งงานวิจัยฯ สำเร็จลงจึงโอนมาเป็นสินทรัพย์ไม่มีตัวตน ซึ่งการบัญชีสำหรับสินทรัพย์ไม่มีตัวตนจะขึ้นอยู่กับอายุการให้ประโยชน์ของสินทรัพย์ ลำดับต่อมากิจการจะต้องปันส่วนคิดค่าตัดจำหน่ายของสินทรัพย์ไม่มีตัวตนที่อายุการให้ประโยชน์ทราบได้แน่นอนอย่างเป็นระบบตลอดอายุการให้ประโยชน์ของสินทรัพย์นั้น โดยเลือกวิธีตัดจำหน่ายที่ใช้ในการปันส่วนจำนวนที่คิดค่าตัดจำหน่ายของสินทรัพย์ไม่มีตัวตนตามเกณฑ์ที่เป็นระบบตลอดอายุการให้ประโยชน์ของสินทรัพย์นั้นมีหลายวิธีการ วิธีการดังกล่าวรวมถึง วิธีเส้นตรง วิธียอดคงเหลือลดลง และวิธีจำนวนผลผลิต และใช้วิธีการนั้นอย่างสม่ำเสมอในทุกงวด ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามาตรฐานการบัญชีก็ว่ากันในทำนองต้องบันทึกเป็นสินทรัพย์และหักค่าเสื่อมราคานั่นเอง
(2) รายจ่ายเท่าที่ 2 หักเป็นรายจ่ายเพิ่มได้อีก 1 เท่าทันทีในรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้จ่ายไป
(3) รายจ่ายเท่าที่ 3 หักเป็นรายจ่ายได้เพิ่มอีก 1 เท่าในรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้จ่ายไปเช่นกัน หากเป็นรายจ่ายซึ่งได้จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2558 ถึง 31 ธันวาคม 2562 ทั้งนี้ เมื่อรวมกับการหักตามเงื่อนไขข้อที่ 3 (2) สรุปคือถือเป็นฐานค่าวิจัยเท่าที่ 2 และเท่าที่ 3 ต้องไม่เกินอัตราส่วนของรายได้ของกิจการที่ต้องนำมารวมคำนวณกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีเดียวกัน ดังนี้
รายได้
อัตราส่วนของรายได้ที่จะ
ได้รับการยกเว้นรายจ่าย
1-50 ล้าน
60%
50-200 ล้าน
9%
200 ล้านบาทขึ้นไป
6%
เงื่อนไขข้อที่ 4 ผู้ที่ใช้สิทธิหักรายจ่าย 3 เท่าตามพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ ต้องไม่นำรายจ่ายดังกล่าวไปใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
ตัวอย่าง หากในปี 2559 มีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล 4 รายต่างมีรายได้ 600 ล้านบาท แต่ละกิจการได้จ่ายค่าใช้จ่ายในการทำวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้แก่หน่วยงานของรัฐหรือเอกชน ตามเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนดในแต่ละกรณีดังนี้
บริษัท ชอบวิจัย จำกัด
20 ล้านบาท
บริษัท ช่วยวิจัย จำกัด
40 ล้านบาท
บริษัท ช่ำชองวิจัย จำกัด
60 ล้านบาท
บริษัท เชี่ยวชาญวิจัย จำกัด
100 ล้านบาท
ฐานค่าวิจัยที่แต่ละบริษัทจะสามารถหักรายจ่ายเพื่อการวิจัยเท่าที่ 3 ได้ต้องไม่เกินค่าวิจัยเท่าที่ 2 + เท่าที่ 3 ภายใต้อัตราดังนี้
รายได้
ขั้นรายได้
อัตราส่วนของรายได้
ตามพระราชกฤษฎีกา
ฐานรายจ่ายค่าวิจัย
ต้องไม่เกิน
1-50 ล้าน
50,000,000
60%
30,000,000
50-200 ล้าน
150,000,000
9%
13,500,000
50-200 ล้าน
400,000,000
6%
24,000,000
รวม
67,500,000


นำมาพิจารณาเปรียบเทียบรายจ่ายค่าวิจัยฯ เพื่อหักรายจ่ายเท่าที่ 3
บจ.ชอบวิจัย
บจ.ช่วยวิจัย
บจ.ช่ำชองวิจัย
บจ.เชี่ยวชาญวิจัย
เท่าที่ 1
20 ล้าน
40 ล้าน
60 ล้าน
100 ล้าน
เท่าที่ 2
20 ล้าน
40 ล้าน
60 ล้าน
100 ล้าน
เท่าที่ 3* หักได้ไม่เกินที่กำหนด
20 ล้าน
27.5 ล้าน
7.5 ล้าน
-
เปรียบเทียบเท่าที่ 2+3 ตามจริง
40 ล้าน
80 ล้าน
120 ล้าน
200 ล้าน
รวม 3 เท่า
60 ล้าน
107.5 ล้าน
127.ล้าน
200 ล้าน

หมายเหตุ* ฐานอัตราค่าวิจัยเท่าที่ 2 + เท่าที่ 3 ที่นำมาใช้ในการคำนวณว่าจะหักรายจ่ายเท่าที่ 3 ได้หรือไม่นั้น ตามตัวอย่างเมื่อคำนวณแล้วต้องไม่เกิน 67.5 ล้าน แต่กรณีที่กิจการจ่ายค่าวิจัยไปเกินกว่าฐานดังกล่าวย่อมส่งผลให้หักรายจ่ายค่าวิจัยเท่าที่ 3 ไม่ได้เท่านั้น แต่รายจ่ายค่าวิจัยเท่าที่ 2 ยังคงหักได้ตามปกติเพราะไม่มีเพดานจำกัดสิทธิ

เมื่อในด้านภาษีอากรกิจการสามารถนำค่าใช้จ่ายในการวิจัยฯ มาใช้หักเป็นรายจ่ายได้ 2 เท่า หรือ 3 เท่าตามแต่กรณี ก็ย่อมเท่ากับว่าค่าใช้จ่ายในการวิจัยฯ ในเท่าแรกในทางบัญชีกิจการจะต้องนำไปบันทึกเป็นทรัพย์สินหักค่าเสื่อมราคา ส่วนเท่าที่ 2 และ 3 หากคำนวณเปรียบเทียบแล้วไม่เกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ ก็หักเป็นรายจ่ายได้ทันทีในปีที่ได้จ่ายค่าจ้างทำวิจัยไป เพราะมาตรา 4 และมาตรา 5 ของพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 598) พ.ศ. 2559 บัญญัติไว้ชัดเจนว่า

มาตรา 4 ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเป็นจำนวนร้อยละ 100 ของรายจ่ายที่ได้จ่ายไปเพื่อทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้แก่หน่วยงานของรัฐหรือเอกชนตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด...

มาตรา 5 ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเป็นจำนวนร้อยละ 100 ของรายจ่ายที่ได้จ่ายไปเพื่อทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2558 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2562 เพิ่มขึ้นจากสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 4 แต่เมื่อรวมสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามพระราชกฤษฎีกานี้แล้ว ต้องไม่เกินอัตราส่วนของรายได้ของกิจการที่ต้องนำมารวมคำนวณกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีเดียวกัน ตามลำดับต่อไปนี้....

เมื่อพิจารณาหลักเกณฑ์ตามมาตรฐานการบัญชีประกอบกับหลักเกณฑ์ตามพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 598) พ.ศ. 2559 แล้วจะเห็นได้ว่ารายจ่ายในทางภาษี (รายจ่ายเท่าที่ 2 และเท่าที่ 3) ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้จ่ายไปเพื่อทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด สามารถหักเป็นรายจ่ายได้ทันทีในรอบระยะเวลาบัญชีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้จ่ายไป
สำหรับรายจ่าย 1 เท่าแรกที่เป็นต้นทุนเพื่อการวิจัยฯ จะถือเป็นรายจ่ายได้ในปีใดนั้นต้องพิจารณาแยกเป็น 4 กรณีดังนี้

1. กรณีโครงการวิจัยเสร็จภายใน 1 รอบระยะเวลาบัญชีและประสบความสำเร็จ

1.1 ในทางบัญชีกิจการจะต้องโอนต้นทุนโครงการวิจัยที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นเข้าเป็นบัญชีสินทรัพย์ไม่มีตัวตน หากโครงการวิจัยอำนวยประโยชน์แก่กิจการมากกว่า 1 รอบระยะเวลาบัญชี ก็ให้คำนวณคิดค่าตัดจำหน่ายสินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตนตลอดอายุการให้ประโยชน์ของสินทรัพย์นั้น

1.2 ในทางภาษีอากรต้นทุนการวิจัยและพัฒนาถือเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนเป็นรายจ่ายต้องห้ามในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร แต่สามารถคำนวณหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาทรัพย์สินดังกล่าวได้ตามหลักเกณฑ์ของมาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากรประกอบกับพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 145) พ.ศ.2527 โดยสามารถคำนวณหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาตามมาตรา 4 (4) เนื่องจากเข้าลักษณะเป็นต้นทุนเพื่อการได้มาซึ่งสิทธิในกรรมวิธี สูตร กู๊ดวิลล์ เครื่องหมายการค้า สิทธิประกอบกิจการตามใบอนุญาต สิทธิบัตร ลิขสิทธิ์ หรือสิทธิอย่างอื่นโดยคำนวณหักได้ตามอัตราดังนี้
กรณีไม่จำกัดอายุการใช้งาน
= ร้อยละ 10
กรณีจำกัดอายุการใช้งาน
= ร้อยละ 100

จำนวนปีอายุการใช้งาน

2. กรณีโครงการวิจัยเสร็จภายใน 1 รอบระยะเวลาบัญชีแต่ไม่ประสบความสำเร็จ
2.1 ในทางบัญชีกิจการจะต้องรับรู้ต้นทุนโครงการวิจัยเป็นรายจ่ายทั้งจำนวนในรอบระยะเวลาบัญชีที่การวิจัยไม่ประสบความสำเร็จนั้น
2.2 ในทางภาษีอากรหากการวิจัยและพัฒนาดังกล่าวเป็นรายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ และมีหลักฐานพิสูจน์ผู้รับได้กิจการก็สามารถนำมาถือเป็นรายจ่ายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีที่การวิจัยไม่ประสบความสำเร็จและได้จ่ายค่าจ้างวิจัยฯ ทั้งจำนวน

3. กรณีโครงการวิจัยเสร็จภายในหลายรอบระยะเวลาบัญชีและประสบความสำเร็จ
3.1 ในทางบัญชีรอบระยะเวลาบัญชีที่การวิจัยยังไม่เสร็จ กิจการจะต้องโอนต้นทุนวิจัยที่เกิดขึ้นทั้งหมดในแต่ละปีเป็นสินทรัพย์ระหว่างดำเนินการ (งานระหว่างทำ) จนกระทั่งเมื่องานวิจัยเสร็จและประสบความสำเร็จสามารถใช้ประโยชน์ได้จริงจึงโอนสินทรัพย์ระหว่างดำเนินการไปเป็นสินทรัพย์ไม่มีตัวตน หากโครงการวิจัยอำนวยประโยชน์แก่กิจการมากกว่า 1 รอบระยะเวลาบัญชี ก็ให้คำนวณคิดค่าตัดจำหน่ายสินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตนตลอดอายุการให้ประโยชน์ของสินทรัพย์นั้น
3.2 ในทางภาษีอากร เป็นไปเช่นเดียวกับข้อ 1.2 แต่ให้เริ่มคำนวณค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาในรอบระยะเวลาบัญชีที่ทรัพย์สินนั้นพร้อมใช้งานได้ตามความประสงค์
4. กรณีโครงการวิจัยเสร็จภายในหลายรอบระยะเวลาบัญชีแต่ไม่ประสบความสำเร็จ
4.1 ในทางบัญชีรอบระยะเวลาบัญชีที่ดำเนินการวิจัยยังไม่เสร็จ กิจการจะต้องโอนต้นทุนวิจัยที่เกิดขึ้นทั้งหมดในแต่ละปีเป็นสินทรัพย์ระหว่างดำเนินการ (งานระหว่างทำ) จนกระทั่งเมื่องานวิจัยเสร็จแต่ไม่ประสบความสำเร็จก็ให้โอนบัญชีสินทรัพย์ระหว่างดำเนินการรับรู้เป็นค่าใช้จ่ายทั้งจำนวน
4.2 ในทางภาษีอากร รอบระยะเวลาบัญชีที่ดำเนินการวิจัยยังไม่เสร็จ เมื่อทางบัญชีถือเป็นสินทรัพย์ระหว่างดำเนินการ กิจการจึงยังไม่สามารถนำสินทรัพย์ระหว่างดำเนินการดังกล่าวมาถือเป็นรายจ่ายได้ จนกระทั่งเมื่องานวิจัยเสร็จแต่ไม่ประสบความสำเร็จก็ให้โอนบัญชีสินทรัพย์ระหว่างดำเนินการรับรู้เป็นค่าใช้จ่ายทั้งจำนวนนั้น หากการวิจัยและพัฒนาดังกล่าวเป็นรายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ และมีหลักฐานพิสูจน์ผู้รับได้กิจการก็สามารถนำมาถือเป็นรายจ่ายได้ทั้งจำนวน ในรอบระยะเวลาบัญชีที่การวิจัยไม่ประสบความสำเร็จ
   การที่มีกฎหมายออกมาส่งเสริมให้กิจการสามารถหักรายจ่ายเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมได้เพิ่มมากขึ้น ย่อมส่งผลให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต่างๆ อาจพิจารณาส่งเสริมด้านการวิจัยมากขึ้นอันจะเป็นผลดีในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชน รวมถึงการเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจด้วยการใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืนต่อไป อีกทั้งนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เกิดจากการวิจัยย่อมส่งผลให้ผู้ประกอบการสามารถพัฒนาสินค้าของตนให้มีความทันสมัย โดดเด่น อันจะเป็นการเพิ่มยอดขายและสร้างรายได้เพิ่มมากขึ้นต่อไปด้วย เมื่อท่านผู้ประกอบการได้ทราบถึงหลักเกณฑ์ในการหักรายจ่ายเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมแล้วก็สามารถนำไปปรับใช้เพื่อการวางแผนภาษีธุรกิจ เช่น อาจจะพิจารณาลงทุนวิจัยผันแปรไปตามวงเงินของรายได้ที่กิจการของท่านได้รับเพื่อให้กิจการของท่านได้รับประโยชน์จากการวิจัยควบคู่ไปกับการประหยัดภาษีอย่างเต็มที่อีกด้วย
หมายเหตุ
ข้อมูลตัวอย่างจาก วารสารเอกสารภาษีอากร ฉบับเดือนเมษายน 2559คอลัมน์ : บทความพิเศษ : พุทธิมา เกิดศิริ
23.พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 604) พ.ศ. 2559 หักรายจ่าย เป็นจานวน 2 เท่า
รายจ่ายจ่าย เพื่อการลงทุนหรือการต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สิน แต่มิใช่เป็นการซ่อมแซมให้คงสภาพเดิม ไม่รวมถึงการลงทุนในทรัพย์สินโดยการซื้อหรือเช่าซื้อทรัพย์สินนั้นมา"

 - ให้สามารถหักรายจ่าย เป็นจำนวน 2 เท่า โดยเป็นการดำเนินการที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักของกิจการ ถ้าเป็นรถยนต์ต้องอยู่ในประเทศไทย
- ไม่เป็นทรัพย์สินที่นำไปใช้ในกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

   -  ทรัพย์สินดังกล่าว ต้องเกิดจากการลงทุน หรือการต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สินที่เกิดขึ้นจากสัญญา ใบสั่งซื้อ ใบสั่งจ้าง หรือข้อตกลงในลักษณะทำนองเดียวกันทั้งสิ้น แล้วแต่กรณี ที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2559  ดังนี้
 (1) ต้องขออนุญาตก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 โดยยื่นคำขอรับใบอนุญาตต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2559 หรือ
(2) ต้องแจ้งก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารตามมาตรา 39 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 โดยแจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2559 หรือ (3) กรณีที่ไม่ถือเป็นการดัดแปลงอาคารตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และกฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2528) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 จะต้องเกิดจากสัญญาจ้าง ใบสั่งจ้างหรือข้อตกลงในลักษณะทำนองเดียวกันทั้งสิ้นที่ได้กระทาตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2559


5.6 อัตราภาษี และการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล
(1) อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลฐานกำไรสุทธิ
อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีเสียภาษีจากกำไรสุทธิ  เดิมตามประมวลรัษฎากรจัดเก็บในอัตราร้อยละ 30 ของกำไรสุทธิ  แต่ได้มีการออกกฏหมายลดอัตราภาษี ดังต่อไปนี้
     1. กรณีลดอัตราภาษี
          (1.1) กรณีทั่วไป   บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ไม่ใช่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตาม (1.2)
 ทั้งจำนวนร้อยละ  20 ของกำไรสุทธิ  (พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 42) พ.ศ.2559
           (1.2) กรณี SMEs บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 30 ล้านบาท ต่อเนื่องกัน ตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2555 เป็นต้นมาโดยในรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2558 เป็นต้นไปตาม พ.ร.ฎ. (ฉบับที่ 530) แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.ฎ. (ฉบับที่ 564)พ.ร.ฎ. (ฉบับที่ 583
               กำไรสุทธิ (บาท)                                                  อัตราภาษี(ร้อยละ)
             ไม่เกิน  300,000                                                        ยกเว้น
             เกิน 300,000  แต่ไม่เกิน  3,000,000                                  15
            เกิน 3,000,000 ขึ้นไป                                                      20
1.3 บางกรณีมีการลดอัตรา ดังนี้
            1..3.1 ลดอัตราลงจัดเก็บร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิ เฉพาะกิจการวิเทศธนกิจ
            1.3..2 ลดอัตราสำหรับบริษัทที่มีหลักฐานจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
            1..3.3 ลดอัตราลง จัดเก็บในอัตราร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิ สำหรับบริษัทที่ประกอบกิจการสำนักปฏิบัติการภูมิภาค(ROH)
            1..3.4 ลดอัตราจัดเก็บในอัตราร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิ ให้แก่บริษัทที่ได้รับอนุญาตให้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงตามกฎหมายว่าด้วยการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง เฉพาะเพื่อการนำเข้าและส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ในเขตปลอดอากร หรือระหว่างเขตปลอดอากร
            1.3..5 ลดอัตราภาษีลง ให้จัดเก็บในอัตราร้อยละ 3 ของกำไรสุทธิให้แก่บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งมีสถานประกอบการตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ และมีรายได้เกิดขึ้นจากการผลิตสินค้า หรือการขายสินค้าในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจหรือการให้บริการในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ ตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลัง วันที่ 31 ธันวาคม 2552 ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด    
             เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ ได้แก่ท้องที่จังหวัด ยะลา นราธิวาส ปัตตานี สตูล  จังหวัดสงขลา(เฉพาะ อำเภอจะนะ อำเภอนาทวี อำเภอเทพาและ อำเภอสะบ้าย้อย)                        
(2) การคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกำไรสุทธิ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีหน้าที่เสีย ภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกำไรสุทธิและต้องคำนวณภาษีเงินได้ นิติบุคคล และยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีปีละ 2 ครั้ง ดังนี้
                 2.1. การคำนวณเงินได้นิติบุคคลครึ่งรอบระยะเวลาบัญชีนั้น ได้มีบัญญัติไว้ในมาตรา 67 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร  โดยยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.51 ภายใน 2 เดือน นับแต่วันครบครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี ( วันสุดท้ายของทุก 6 เดือนแรกของรอบระยะเวลาบัญชี)  ดังนี้
                ก. ในกรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล นอกจากที่กล่าวใน (2) ให้จัดทำประมาณการกำไร สุทธิ หรือขาดทุนสุทธิ ซึ่งได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่ได้กระทำหรือจะได้กระทำในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น แล้ว ให้คำนวณและชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลจากจำนวนกึ่งหนึ่งของประมาณการกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น
                ข. ในกรณีบริษัทจดทะเบียนธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์หรือ บริษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์ หรือ บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ หรือ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนดให้คำนวณและชำระภาษีจากกำไรสุทธิ ของรอบระยะเวลาหกเดือนนับแต่วัน แรกของรอบระยะเวลาบัญชีตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในมาตรา 65 ทวิ และ 65 ตรี ภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งรอบระยะเวลาบัญชีนี้ให้ถือเป็นเครดิตในการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลเมื่อสิ้น รอบระยะเวลาบัญชีคือ เอาไปหักออกจากภาษีที่ต้องเสียจากกำไรสุทธิของทั้งรอบระยะเวลาบัญชีและในกรณีที่ภาษีที่เสีย ไว้ครึ่งรอบระยะเวลาบัญชีสูงกว่าภาษีที่จะต้องเสียทั้งรอบระยะเวลาบัญชี บริษัทหรือห้างหุ้นส่วน นิติบุคคลก็มีสิทธิขอคืนภาษีที่ชำระไว้เกินได้

            กรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีรอบระยะเวลาบัญชีแรกหรือรอบระยะเวลาบัญชีสุดท้าย น้อยกว่า 12 เดือน ไม่ต้องยื่นแบบแสดงรายการและเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี

          2.2 การคำนวณเงินได้นิติบุคคลจากกำไรสุทธิ เมื่อสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี การคำนวณกำไรสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลให้คำนวณกำไรสุทธิตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ใน ประมวลรัษฎากร โดยนำกำไรสุทธิดังกล่าวคูณด้วยอัตราภาษี เงินได้นิติบุคคล จะได้ภาษีเงินได้นิติบุคคล ที่ต้องชำระ ถ้าคำนวณกำไรสุทธิออกมาแล้วปรากฏว่า ไม่มีกำไรสุทธิ หรือขาดทุนสุทธิ บริษัทไม่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ถ้าการจัดทำบัญชีของบริษัทได้จัดทำขึ้นตามหลักบัญชีโดยไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขในประมวลรัษฎากรเมื่อ จะคำนวณภาษีบริษัทจะต้องปรับปรุงกำไรสุทธิดังกล่าวให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ใน ประมวลรัษฎากรแล้วจึง คำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล
            การเสียภาษีเงินได้จากกำไรสุทธิเมื่อสิ้นรอบ ระยะเวลาบัญชีจะต้องยื่นแบบแสดงรายการพร้อมชำระภาษี (ถ้ามี) ตามแบบ ภ.ง.ด.50 ภายใน 150 วันนับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี
                                         -------------จบตอนที่ 2 มีต่อตอนที่ 3-------------------

1 ความคิดเห็น: