วันอังคารที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

บทที่ 5 ภาษีมูลค่าเพิ่ม ตอนที่ 2


เอกสารประกอบการเรียนการสอน
วิชา การภาษีอากร/ภาษีอากร 1
รหัสวิชา 961365/960102
ภาคเรียนที่ 1  ปีการศึกษา 2558 คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ผู้สอน : นายวินัย  เนื้อนาจันทร์   นักวิชาการสรรพากรเชี่ยวชาญ (อาจารย์พิเศษ)

บทที่ 5  ภาษีมูลค่าเพิ่ม ตอนที่ 2     
Value Added Tax หรือ VAT
 หน้าที่ของผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

               เมื่อผู้ประกอบการได้จดทะเบียนเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว ผู้ประกอบการมีหน้าที่ ต้องทำอยู่ 3 อย่างคือ
 1.ต้องออกใบกำกับภาษี เมื่อมีการขายหรือการให้บริการ
 2.ต้องจัดทำรายงานภาษีมูลค่าเพิ่ม คือ รายงานภาษีซื้อ รายงานภาษีขาย รายงานสินค้าและวัตถุดิบคงเหลือ
 3.ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม ภ.พ.30 ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนภาษี ทุกเดือนไม่ว่าจะมีรายรับหรือไม่

                     ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม(Tax Point)

               แต่เรามักจะพบว่า แล้วเราควรจะออกใบกำกับภาษีเมื่อใด เพราะกิจการแต่ละประเภทธุรกิจ มีความแตกต่างกันในลักษณะขั้นตอนการดำเนินงาน จุดความรับผิดทางภาษีมูลค่าเพิ่ม(Tax Point) ก็แตกต่างกันไปด้วย พอจะจำแนกแนววิธีปฏิบัติของความรับผิดทางภาษีมูลค่าเพิ่มได้ประมาณ 4 แนวทาง คือ 
              
  1.ธุรกิจขายสินค้า
    1.1 การขายสินค้าทั่วไป จุดความรับผิดชอบ(Tax Point)เกิดขึ้นเมื่อมีการส่งมอบสินค้า แต่หากมีการกระทำต่อไปนี้เกิดขึ้นก่อนการส่งมอบสินค้า ก็ให้จุดความรับผิดเกิดขึ้นทันทีที่มีการกระทำนั้น ๆ
        ก.การโอนกรรมสิทธิ์สินค้า 
        ข.ได้รับชำระค่าสินค้า
              ค.ได้ออกใบกำกับภาษี
    1.2 การขายสินค้าตามสัญญาให้เช่าซื้อ / สัญญาซื้อขายผ่อนชำระ โดยที่กรรมสิทธิ์ในสินค้ายังไม่ได้โอนไปให้ผู้ซื้อ  โดยผู้ซื้อได้รับมอบสินค้าไปแล้ว จุดความรับผิดในภาษีมูลค่าเพิ่ม(Tax Point) ให้เกิดขึ้นเมื่อถึงกำหนดชำระราคาตาม  งวดที่ถึงกำหนดในแต่ละงวด แม้ยังไม่ได้รับเงินค่างวด ยกเว้นหากมีการกระทำต่อไปนี้เกิดขึ้นก่อนถึงกำหนดชำระราคาในแต่ละงวด ก็ให้ถือว่าจุดความรับผิด เกิดขึ้นทันทีที่มีการกระทำนั้น ๆ                                       
        ก.ได้รับชำระราคาสินค้า
         ข.ได้ออกใบกำกับภาษี
    1.3 การขายสินค้า โดยมีการตั้งตัวแทนเพื่อขาย  ในกรณีที่มีการแต่งตั้งตัวแทนเพื่อขายสินค้าและได้ส่งมอบสินค้า   ให้กับตัวแทนแล้วนั้น โดยที่ตัวแทนขายนั้นจะต้องได้รับการแต่งตั้งเพื่อขาย ตามประเภทของสินค้าและเป็นไปตามหลักเกณฑ์   ตามที่รัฐมนตรีกำหนด  จุดความรับผิดทางภาษี(Tax Point)จะเกิดขึ้น ต่อเมื่อตัวแทนขายได้ส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้ซื้อ เว้นแต่มีการกระทำต่อไปนี้เกิดขึ้น ก็ให้จุดความรับผิด(Tax Point)เกิดขึ้นทันทีที่มีการกระทำนั้น ๆ
        ก.ตัวแทนโอนกรรมสิทธิ์สินค้าให้ผู้ซื้อ
        ข.ตัวแทนได้รับชำระค่าสินค้า
        ค.ตัวแทนได้นำสินค้าไปใช้ โดยตัวแทนเองหรือคนอื่น
        ง.ได้ออกใบกำกับภาษี
    1.4 การขายสินค้าโดยการส่งออก
        ก.การส่งออกสินค้า ให้จุดความรับผิด(Tax Point)เกิดขึ้นเมื่อ
          - มีการชำระอากรขาออก
          มีการวางหลักประกันอากรขาออก
          - จัดให้มีผู้ค้ำประกันอากรขาออก
        ข.การส่งออกสินค้า ในกรณีที่นำสินค้าเข้าไปในเขตอุตสาหกรรมส่งออกให้ความรับผิด(Tax Point)เกิดขึ้นเมื่อ วันที่นำสินค้าเข้าไปในเขตอุตสาหกรรมส่งออก
        ค.การส่งออกสินค้าที่อยู่ในคลังสินค้าทัณฑ์บนของศุลกากร ให้จุดรับผิด(Tax Point)เกิดขึ้น พร้อมกับความรับผิดตามกฎหมายของกรมศุลกากร
     1.5 การขายสินค้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 และภายหลังได้มีการโอนกรรมสิทธิ์ในสินค้าดังกล่าว อันทำให้ผู้รับโอนสินค้ามีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มก็ให้ความรับผิด(Tax Point)เกิดขึ้นเมื่อมีการโอนกรรมสิทธิ์สินค้า
   2.ธุรกิจให้บริการ
    2.1 การให้บริการทั่วไป
        จุดความรับผิด(Tax Point) เกิดขึ้นเมื่อได้มีการชำระราคาค่าบริการนั้น ๆ เว้นแต่มีการกระทำดังต่อไปนี้เกิดขึ้นก่อน ก็ให้จุดความรับผิด(Tax Point)นั้นเกิดขึ้นทันที ที่มีการกระทำนั้น ๆ
        ก.ได้ใช้บริการนั้น ๆ ด้วยตนเองหรือโดยคนอื่น
        ข.ได้ออกใบกำกับภาษี
     2.2 การให้บริการตามสัญญาที่กำหนดค่าตอบแทนตามส่วนของการบริการนั้น ๆ จุดความรับผิด(Tax Point)ตามส่วนของบริการนั้น ๆ เกิดขึ้นเมื่อได้มีการชำระค่าบริการตามส่วนของบริการนั้น ๆ เมื่อการให้บริการนั้น ๆ ตามส่วนเสร็จสิ้นลง เว้นแต่มีการกระทำดังต่อไปนี้เกิดขึ้น ก็ให้ความรับผิด(Tax Point)เกิดขึ้นทันทีที่มีการกระทำนั้น ๆ
        ก.ได้ใช้บริการโดยตนเองหรือ คนอื่น
        ข.ได้ออกใบกำกับภาษี
     2.3 การให้บริการที่ทำในต่างประเทศ แต่ได้มีการใช้บริการในประเทศไทย จุดความรับผิด(Tax Point)ทั้งหมดหรือบางส่วน เกิดขึ้นเมื่อมีการชำระราคาค่าบริการทั้งหมดหรือบางส่วน แล้วแต่กรณี
     2.4 การให้บริการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0
ทั้งนี้ตามมาตรา 80/1 (5) และภายหลังได้มีการโอนกรรมสิทธิ์ในบริการอันทำให้ผู้รับโอนสิทธิ์ในบริการมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 82/1 (2) ให้ความรับผิด(Tax Point)ทั้งหมดเกิดขึ้นเมื่อได้รับชำระราคาค่าบริการ
     2.5 การขายสินค้าหรือการให้บริการได้รับชำระด้วยเช็ค
ในกรณีนี้ ให้จุดความรับผิด(Tax Point)เกิดขึ้น ตามวันที่ที่ปรากฏในเช็ค ผู้ประกอบการต้องออกใบกำกับภาษี และใบรับตามวันที่ในเช็ค  แต่หากได้รับมอบเช็คลงวันที่ที่ผ่านมาแล้ว ก็ให้ผู้ประกอบการจัดทำใบกำกับภาษีและใบรับลงวันที่ตามวันที่ในเช็คนั้น ๆ ยกเว้นกรณีต่อไปนี้ ให้จัดทำใบกำกับภาษีและใบรับตามวันที่ได้รับมอบเช็คเท่านั้น
         ก.กรณีรัฐบาล,องค์การของรัฐบาล,เทศบาล,สุขาภิบาล,อบต.,อบจ.
         ข.กรณีผู้ออกเช็คเป็นบุคคลธรรมดา,บริษัท/ห้างหุ้นส่วนจำกัดหรือนิติบุคคลอื่น ซึ่งได้ออกเอกสารรับรองว่า ได้ส่งมอบเช็คในวัน เดือน ปี ใดและได้ส่งมอบเอกสารดังกล่าว ให้ในวันเดียวกันที่ส่งมอบเช็คนั้น และให้ผู้ประกอบการต้องมีเอกสารดังกล่าวพร้อมให้เจ้าหน้าที่สรรพากรตรวจสอบทันที
   3. การนำเข้าสินค้า
      1.1 การนำเข้าสินค้าโดยทั่วไป ให้ความรับผิดชอบ(Tax Point)เกิดขึ้นเมื่อ
          - มีการชำระอากรขาเข้า
          - วางหลักประกันอากรขาเข้า
          มีการจัดให้มีผู้ค้ำประกันอากรขาเข้า
เว้นแต่ไม่ต้องเสียอากรขาเข้า ก็ให้ถือว่าความรับผิด(Tax Point)เกิดขึ้นในวันที่มีการออกใบขนสินค้าของกรมศุลกากร
      1.2 การนำเข้าสินค้าในราชอาณาจักร เข้าไปในเขตอุตสาหกรรมส่งออก แล้วนำสินค้าดังกล่าว ออกจากเขตฯ โดยมิใช่เพื่อการส่งออก ให้ความรับผิด(Tax Point)เกิดขึ้นในวันที่ได้มีการนำสินค้าออกจากเขตอุตสาหกรรม
      1.3 การนำเข้า กรณีของตกค้างในกรมศุลกากร ให้จุดความรับผิด(Tax Point)เกิดขึ้นเมื่อทางราชการ ได้นำมาขายทอดตลาดหรือขายโดยวิธีอื่น เพื่อนำเงินมาชำระค่าภาษี ค่าเก็บรักษา ค่าขนย้าย ฯลฯ
      1.4 การนำเข้าสินค้าที่ได้รับการยกเว้นอากรของกรมศุลกากร ซึ่งได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่หากภายหลังสินค้าดังกล่าว ต้องเสียอากรของกรมศุลกากรผู้รับโอนสินค้าดังกล่าว ต้องรับผิดภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย โดยให้รับผิดพร้อม ๆ กับความรับผิด(Tax Point)ของกรมศุลกากร
   4.การขายสินค้าหรือให้บริการอื่น
      4.1 การขายสินค้าที่ไม่มีรูปร่าง เช่น สิทธิ์ในสิทธิบัตร,กู๊ดวิลส์,การขายสินค้าที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน หรือสินค้าที่ไม่อาจกำหนดได้แน่นอนว่ามีการส่งมอบเมื่อใด ให้ความรับผิด(Tax Point)เกิดขึ้นเมื่อได้รับชำระราคาค่าสินค้า เว้นแต่มีการกระทำต่อไปนี้เกิดขึ้นก่อนก็ให้จุดความรับผิด(Tax Point)เกิดขึ้นทันทีที่มีการกระทำนั้น ๆ
          ก.โอนกรรมสิทธิ์สินค้า
          ข.ได้ออกใบกำกับภาษี
      4.2 การขายกระแสไฟฟ้า น้ำประปา หรือสินค้าที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน ให้จุดความรับผิด(Tax Point)เกิดขึ้นเมื่อได้ชำระค่าสินค้าหรือได้มีการออกใบกำกับภาษีก่อนการได้รับชำระราคาค่าสินค้า ก็ให้จุดรับผิด(Tax Point)เกิดขึ้นเมื่อได้ออกใบกำกับภาษี
      4.3 การขายสินค้าหรือการให้บริการ ด้วยเครื่องอัตโนมัติ โดยการหยอดเหรียญ, หรือบัตรหรือการกระทำในลักษณะดังกล่าว ให้ความรับผิด(Tax Point)เกิดขึ้นเมื่อได้นำเงิน เหรียญ บัตร หรือสิ่งอื่น ๆ ในทำนองเดียวกันออกจากเครื่องอัตโนมัติ
      4.4 การขายสินค้าโดยการชำระราคาด้วยการใช้บัตรเครดิต หรือในลักษณะทำนองเดียวกัน ให้ความรับผิดชอบ(Tax Point)เกิดขึ้นเมื่อส่งมอบสินค้า เว้นแต่มีการกระทำดังต่อไปนี้เกิดขึ้น ให้จุดรับผิด(Tax Point)เกิดขึ้นทันทีที่มีการกระทำนั้นๆ
          ก.โอนกรรมสิทธิ์สินค้า
          ข.มีการออกหลักฐานการใช้บัตรเครดิต
          ค.ได้ออกใบกำกับภาษี
       4.5 การขายสินค้าตามสัญญาจะขายสินค้า ให้ความรับผิด(Tax Point)เกิดขึ้นเมื่อมีการส่งมอบสินค้า เว้นแต่มีการกระทำดังต่อไปนี้เกิดขึ้นก่อนก็ให้จุดความรับผิด(Tax Point) เกิดขึ้นทันทีที่มีการกระทำนั้น ๆ
          ก.โอนกรรมสิทธิ์สินค้า
          ข.ได้รับชำระราคาค่าสินค้า
          ค.ได้ออกใบกำกับภาษี
       4.6 เมื่อผู้ประกอบการได้นำสินค้าไปใช้โดยตนเองหรือผู้อื่น โดยมิใช่เพื่อการประกอบกิจการโดยตรง (ใช้ส่วนตัว) ให้จุดความรับผิด(Tax Point)เกิดขึ้นเมื่อได้มีการนำสินค้าไปใช้หรือส่งมอบให้คนอื่นไปใช้
       4.7 ในกรณีสินค้าขาดหายจากรายงานสินค้าคงเหลือและวัตถุดิบ ให้จุดความรับผิด(Tax Point)เกิดขึ้นเมื่อตรวจพบ
       4.8 ในกรณีผู้ประกอบการมีสินค้าคงเหลือ หรือทรัพย์สินที่ผู้ประกอบการมีไว้ในการประกอบกิจการ ณ วันเลิกประกอบกิจการ ให้ความรับผิด(Tax Point)เกิดขึ้นเมื่อเลิกประกอบกิจการหรือแจ้งเลิกประกอบกิจการ เว้นแต่ได้รับอนุญาตให้ออกใบกำกับภาษี,ใบเพิ่มหนี้,ใบลดหนี้ ต่อไปได้เป็นการชั่วคราวจนกว่าจะหยุดประกอบกิจการ ตามมาตรา 78
       4.9 ในกรณีผู้ประกอบการมีสินค้าหรือทรัพย์สินที่ผู้ประกอบการมีไว้ในการประกอบกิจการ ณ วันที่มีคำสั่งถอนทะเบียนมูลค่าเพิ่มหรือ ณ วันที่ได้รับแจ้งการเพิกถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้จุดรับผิด(Tax Point)เกิดขึ้นเมื่อได้รับแจ้งคำสั่งถอนหรือได้รับแจ้งการเพิกถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เว้นแต่จะได้รับอนุญาตให้ออกใบกำกับภาษี,ใบเพิ่มหนี้,ใบลดหนี้ ต่อไปได้เป็นการชั่วคราว จนกว่าจะหยุดประกอบกิจการ ตามมาตรา 78
                 
                      ฐานภาษี  (TAX  BASE)(.79)
1.สำหรับการขายสินค้าหรือการให้บริการ (ในราชอาณาจักร)
             ฐานภาษี  ได้แก่มูลค่าทั้งหมดที่ผู้ประกอบการได้รับหรือพึงได้รับจากการขายสินค้าหรือการให้บริการ ซี่งก็คือราคาของสินค้านั้นเอง  รวมทั้งภาษีสรรพสามิตด้วย (ไม่ว่าจะเป็นเงินทรัพย์สิน ค่าตอบแทน ค่าบริการ หรือประโยชน์ใด ซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน)
2.สำหรับการนำเข้าสินค้า(ม.79/2)
     ได้แก่มูลค่าของสินค้านำเข้า (ราคา C.I.F.) บวกอากรขาเข้า +ภาษีสรรพสามิต+  ค่าธรรมเนียมพิเศษตามกฎหมาย BOI + ค่าธรรมเนียมอื่น
 3.สำหรับการส่งออก(ม.79/1)     ได้แก่มูลค่าของสินค้าส่งออก (ราคา F.O.B.) บวกภาษีสรรพสามิต และภาษีและค่าธรรมเนียมอื่น แต่ไม่รวมอากรขาออก

                                   รายการที่ไม่รวมเป็นมูลค่าของฐานภาษี(.79(1)-(4))
           
o     ส่วนลด/ค่าลดหล่อนที่ลดให้ขณะขายสินค้า/ให้บริการ (ส่วนลดการค้า  TRADE  DISCOUNT) ที่ได้แสดงให้เห็นไว้ชัดแจ้งในใบกำกับภาษี เต็มรูป(TAX  INVOICE)เว้นแต่กรณีการออกใบกำกับภาษีอย่างย่อจะไม่แสดงส่วนลด/ ค่าลดหย่อนดังกล่าวไว้ในใบกำกับภาษีอย่างย่อก็ได้
o   ค่าชดเชย/เงินอุดหนุน/ส่งเสริมการขาย
o     ภาษีขาย
o   กรณีของแจกของแถมของชิงโชคของชิงรางวัล   กรณีของแจกถ้าหากว่ามูลค่าของของที่แจกน้อยกว่าหรือเท่ากับมูลค่าของของที่ขายให้คิด VAT จากราคาของที่ขายเท่านั้น
o  กรณีของชิงรางวัลถ้าหากว่ามูลค่าของของที่ชิงรางวัลรวมกันน้อยกว่าหรือเท่ากับมูลค่าของของที่ขายให้คิด VAT จากราคาของที่ขายเท่านั้น
o      สินค้าที่แจก หรือ ให้เป็นของขวัญ เนื่องในโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี เช่น ปีใหม่ สงกรานต์ เปิดตัวแนะนำสินค้า เฉพาะที่เป็นปฏิทิน ไดอารี หรือ สินค้าที่มัลักษณะเป็นของขวัญของชำร่วยที่มีโลโก้ของผู้ประกอบการอยู่ และมีราคาไม่เกินสมควร
o    สินค้าที่แจกเป็นของตัวอย่างเนื่องในกิจกรรมส่งเสริมการขาย
o  มูลค่าทองรูปพรรณ ที่ขาย เป็นจำนวนเท่ากับ ราคาทองรูปพรรณที่สมาคมค้าทองประกาศรับซื้อคืนในวันที่ขายทองรูปพรรณ เฉพาะผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ประกอบกิจการค้าทองคำและมีใบอนุญาตค้าของเก่า
o มูลค่าสินค้าที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนบริจาคให้ทางราชการ หรือ บริจาคให้สถานศึกษาทางราชการ สถานศึกษาเอกชน
o มูลค่าของอาหารเครื่องดื่มที่นายจ้างจัดให้พนักงานในระหว่างปฏิบัติงาน ตามระเบียบสวัสดิการและไม่เกินสมควร
ใบกำกับภาษี
การออกใบกำกับภาษี
   ใบกำกับภาษี คือ เอกสารหลักฐานสำคัญ ซึ่งผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มจะต้องจัดทำและออกให้กับผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการทุกครั้งที่มีการขายสินค้าหรือให้บริการ เพื่อแสดงมูลค่าของสินค้าหรือบริการและจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนเรียกเก็บหรือพึงเรียกเก็บจากผู้ซื้อสินค้า หรือรับบริการในแต่ละครั้ง   - กรณีการขายสินค้า ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีพร้อมทั้งส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อในในทันทีที่มีการส่งมอบสินค้าให้กับผู้ซื้อ
   - กรณีการให้บริการ ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีพร้อมทั้งส่งมอบให้แก่ผู้รับบริการในทันทีที่ได้รับชำระราคาค่าบริการ

        ผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องจัดทำใบกำกับภาษีอย่างน้อย 2 ฉบับ ดังนี้
         - ต้นฉบับ ผู้ประกอบการต้องส่งมอบให้กับผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ
         - สำเนา ผู้ประกอบการต้องเก็บรักษาไว้เพื่อเป็นหลักฐานประกอบการลงรายงานภาษีเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปีนับแต่วันที่ทำรายงาน        สำหรับผู้ประกอบการจดทะเบียนที่เป็นผู้ซื้อสินค้าหรือรับบริการต้องเรียกใบกำกับภาษีจากผู้ประกอบการจดทะเบียนอื่น ซึ่งเป็นผู้ขายสินค้าหรือให้บริการเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม และหากผลการคำนวณภาษีปรากฏว่า ภาษีซื้อมากกว่าภาษีขาย ถือเป็นเครดิตภาษี ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีสิทธินำไปชำระภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนภาษีถัดจากเดือนภาษีที่คำนวณภาษีนั้น และหากในเดือนภาษีที่นำเครดิตภาษีไปชำระยังมีเครดิตภาษีคงเหลืออยู่อีกก็มีสิทธินำไปชำระภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนภาษีถัดไปได้         ในกรณีผู้ประกอบการจดทะเบียน ไม่ใช้สิทธินำเครดิตภาษีที่เหลืออยู่ไปชำระภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนถัดไป ก็มีสิทธิขอคืนภายใน 3 ปี นับแต่วันพ้นกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษีสำหรับเดือนภาษีนั้น

ผู้มีหน้าที่ออกใบกำกับภาษี 

   1. ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มโดยคำนวณจากภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อ
   2. ผู้ขายทอดตลาดที่มิใช่ส่วนราชการ ซึ่งขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ประกอบการจดทะเบียน โดยให้ผู้ขายทอดตลาดออกใบกำกับภาษีในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียนเจ้าของทรัพย์สิน (มาตรา 86/3 และคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.87/2542)
   3. ตัวแทนในราชอาณาจักร ของผู้ประกอบการจดทะเบียนในราชอาณาจักร โดยมีการตั้งตัวแทนเพื่อขายและได้ส่งมอบสินค้าให้ตัวแทนแล้ว ทั้งนี้ เฉพาะสัญญาการแต่งตั้งตัวแทนเพื่อขายตามประเภทของสินค้าและเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี (มาตรา 86 วรรคสี่)
   4. ตัวแทนในราชอาณาจักร ของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่อยู่นอกราชอาณาจักร ตัวแทน จะออกใบกำกับภาษีในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่อยู่นอกราชอาณาจักรได้ต่อเมื่อผู้ประกอบการจดทะเบียนนอกราชอาณาจักร ได้ยื่นคำขออนุมัติตามระเบียบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด (มาตรา 86/2)
   5. ผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักร และเข้ามาประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการในราชอาณาจักรเป็นครั้งคราว โดยได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรม-สรรพากรกำหนด (มาตรา 85/3 และมาตรา 86 วรรคสอง)
   6. ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ถูกขีดชื่อออกจากทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เพราะเลิกประกอบกิจการหรืออธิบดีสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม อธิบดีกรมสรรพากรจะอนุญาตให้ผู้ประกอบการที่ถูกขีดชื่อออกจากทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าว ออกใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้หรือใบลดหนี้ต่อไปเป็นการชั่วคราวจนกว่าจะหยุดประกอบกิจการ โดยต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด (มาตรา 86/11)

   7. ผู้ประกอบการที่ประกอบกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่ได้แจ้งขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและได้รับอนุมัติให้เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยคำนวณจากภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อในแต่ละเดือนภาษี (มาตรา 82/3)
ประเภทของใบกำกับภาษี
   1. ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป
       (1) ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป
       (2) ใบกำกับภาษีอย่างย่อ
   2. เอกสารอื่นที่ถือเป็นใบกำกับภาษี
       (1) ใบเพิ่มหนี้
       (2) ใบลดหนี้
       (3) ใบเสร็จรับเงินที่ส่วนราชการออกให้ในการขายทอดตลาด
       (4) ใบเสร็จรับเงินของกรมสรรพากร กรมศุลกากรหรือกรมสรรพสามิต เฉพาะส่วนที่เป็นภาษี 
การจัดทำใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป
     1. ผู้ประกอบการจดทะเบียนโดยทั่วไป มีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ ซึ่งใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปจะต้องมีรายการอย่างน้อยดังต่อไปนี้ (มาตรา 86/4)
          (1)   คำว่า "ใบกำกับภาษี"
          (2)   เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ขายสินค้าหรือให้บริการ
          (3)   ชื่อ ที่อยู่ ของผู้ขายสินค้าหรือให้บริการ
          (4)   ชื่อ ที่อยู่ ของผู้ซื้อสินค้าหรือรับบริการ
          (5)   หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษีและหมายเลขลำดับของเล่ม (ถ้ามี)
          (6)   วัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับภาษี
          (7)   ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณและมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ
          (8)   จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ โดยให้แยกออกจากมูลค่าของสินค้าหรือของบริการให้ชัดแจ้ง
           (9) ข้อความอื่นตามที่อธิบดีกำหนด ได้แก่
                ๑)        ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ขายสินค้าหรือให้บริการลงรายการเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ และรายการสถานประกอบการของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการในรายงานภาษีขายตามข้อ ๒/๑ ดังนี้
                                           (๑) รายการเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ ให้ลงรายการดังกล่าวเฉพาะกรณีการลงรายการสำหรับใบกำกับภาษีตามมาตรา ๘๖/๔ แห่งประมวลรัษฎากร ใบเพิ่มหนี้ตามมาตรา ๘๖/๙ แห่งประมวลรัษฎากร หรือใบลดหนี้ตามมาตรา ๘๖/๑๐ แห่งประมวลรัษฎากรซึ่งออกให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการซึ่งต้องมีและใช้เลขประจำตัวในการปฏิบัติการตามประมวลรัษฎากรตามมาตรา ๓ เอกาทศ แห่งประมวลรัษฎากร แล้วแต่กรณี
                                           (๒) รายการสถานประกอบการ ให้ลงรายการของสถานประกอบการซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่ หรือสาขาที่ .. ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน และเป็นสถานประกอบการที่ปรากฏตามใบกำกับภาษีตามมาตรา ๘๖/๔ แห่งประมวลรัษฎากร ใบเพิ่มหนี้ตามมาตรา ๘๖/๙ แห่งประมวลรัษฎากร หรือใบลดหนี้ตามมาตรา ๘๖/๑๐ แห่งประมวลรัษฎากร ที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนได้ออกให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการนั้น แล้วแต่กรณี
                                           รายการเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรตาม (๑) และรายการสถานประกอบการตาม (๒) ให้ลงรายการดังกล่าวสำหรับใบกำกับภาษีตามมาตรา ๘๖/๔ แห่งประมวลรัษฎากร ที่ได้จัดทำขึ้นตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๗ เป็นต้นไป และสำหรับใบเพิ่มหนี้ตามมาตรา ๘๖/๙ แห่งประมวลรัษฎากร และใบลดหนี้ตามมาตรา ๘๖/๑๐ แห่งประมวลรัษฎากร ที่อ้างอิงใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งได้จัดทำขึ้นตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๗ เป็นต้นไป
                          ในกรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนได้จัดทำใบกำกับภาษีตามมาตรา ๘๖/๔ แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ประกอบการจดทะเบียนจะต้องระบุข้อความรายการเกี่ยวกับสถานประกอบการของผู้ประกอบการจดทะเบียนตามที่ปรากฏในใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.๒๐) ซึ่งเป็นสถานที่ที่ได้ขายสินค้าหรือให้บริการไว้ในใบกำกับภาษีดังกล่าว สำหรับการจัดทำใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ที่ได้จัดทำตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๗ เป็นต้นไป ดังนี้
                                           (๑) กรณีสถานประกอบการที่เป็นสำนักงานใหญ่ของผู้ประกอบการจดทะเบียนเป็นสถานที่ที่ได้ขายสินค้าหรือให้บริการนั้น ให้ระบุข้อความคำว่า สำนักงานใหญ่ซึ่งเป็นสถานประกอบการตามที่ปรากฏในใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ในใบกำกับภาษีดังกล่าวด้วย
                                           (๒) กรณีสถานประกอบการที่เป็นสาขาของผู้ประกอบการจดทะเบียนเป็นสถานที่ที่ได้ขายสินค้าหรือให้บริการนั้น ให้ระบุข้อความคำว่า สาขาที่ ..ซึ่งเป็นสถานประกอบการตามที่ปรากฏในใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ในใบกำกับภาษีดังกล่าวด้วย
                                           ข้อความคำว่า สำนักงานใหญ่และ สาขาที่ ..ตาม (๑) และ (๒) จะตีพิมพ์ จัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ประทับด้วยตรายาง เขียนด้วยหมึก พิมพ์ดีด หรือทำให้ปรากฏขึ้นด้วยวิธีการอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกันก็ได้
ในกรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนได้จัดทำใบกำกับภาษีตามมาตรา ๘๖/๔ แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องระบุข้อความรายการเกี่ยวกับสถานประกอบการตามที่ปรากฏในใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.๒๐) ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการนั้นไว้ในใบกำกับภาษีดังกล่าว สำหรับการจัดทำใบกำกับภาษีตามมาตรา ๘๖/๔ แห่งประมวลรัษฎากร ที่ได้จัดทำตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๗ เป็นต้นไป ดังนี้
                                           (๑) กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนระบุที่อยู่ของสถานประกอบการที่เป็นสำนักงานใหญ่ตามที่ปรากฏในใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ เป็นที่อยู่ของผู้ซื้อสินค้าหรือรับบริการในใบกำกับภาษี ให้ระบุข้อความคำว่า สำนักงานใหญ่ซึ่งเป็นสถานประกอบการตามที่ปรากฏในใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มนั้นไว้ในใบกำกับภาษีดังกล่าวด้วย
                                           (๒) กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนระบุที่อยู่ของสถานประกอบการที่เป็นสาขาตามที่ปรากฏในใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ เป็นที่อยู่ของผู้ซื้อสินค้าหรือรับบริการในใบกำกับภาษี ให้ระบุข้อความว่า สาขาที่ ..ซึ่งเป็นสถานประกอบการตามที่ปรากฏในใบทะเบียนภาษี มูลค่าเพิ่มนั้นไว้ในใบกำกับภาษีดังกล่าวด้วย
                                           ข้อความคำว่า สำนักงานใหญ่และ สาขาที่ ..ตาม (๑) และ (๒) จะตีพิมพ์ จัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ประทับด้วยตรายาง เขียนด้วยหมึก พิมพ์ดีด หรือทำให้ปรากฏขึ้นด้วยวิธีการอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกันก็ได้
         กรณีที่มีการขายสินค้าเป็นเงินเชื่อ และผู้ประกอบการจดทะเบียนได้ออกใบกำกับภาษี / ใบส่งของ อยู่ในฉบับเดียวกัน โดยส่งมอบสำเนาใบกำกับภาษี / ใบส่งของให้กับผู้ซื้อพร้อมกับการส่งมอบสินค้า ส่วนต้นฉบับของใบกำกับภาษี / ใบส่งของ จะส่งมอบให้กับผู้ซื้อต่อเมื่อได้รับชำระราคาค่าสินค้า กรณีนี้ถือว่ามิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งกำหนดให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องส่งมอบต้นฉบับของใบกำกับภาษี (เอกสารฉบับแรก) ให้กับผู้ซื้อเมื่อมีการส่งมอบสินค้า
         สำเนาใบกำกับภาษี/ใบส่งของที่ผู้ซื้อได้รับ ผู้ซื้อจะนำไปใช้เป็นหลักฐานในการขอหักภาษีซื้อไม่ได้
         ในทางปฏิบัติ หากผู้ประกอบการต้องการเก็บต้นฉบับใบส่งของไว้เพื่อเป็นหลักฐานในการฟ้องคดีกรณีผู้ซื้อไม่ชำระราคาค่าสินค้า ผู้ประกอบการควรออกใบกำกับภาษีแยกต่างหากจากใบส่งของและส่งมอบต้นฉบับใบกำกับภาษี พร้อมทั้งสำเนาใบส่งของให้กับผู้ซื้อเมื่อมีการส่งมอบสินค้า โดยเก็บต้นฉบับใบส่งของไว้เพื่อเป็นหลักประกันในการชำระหนี้ หรือเพื่อความสะดวก ผู้ประกอบการอาจออกใบกำกับภาษีและใบส่งของอยู่ในเอกสารชุดเดียวกัน โดยถือปฏิบัติตามข้อกำหนดเกี่ยวกับการออกใบกำกับภาษีแบบเป็นชุด ก็ได้
    2. ใบกำกับภาษีที่มีลักษณะเป็นแบบเอกสารออกเป็นชุด ในกรณีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีความประสงค์จะออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปรวมกับเอกสารการค้าอื่น เช่น ใบเสร็จรับเงิน ใบส่งของ ใบแจ้งหนี้ ซึ่งมีจำนวนหลายฉบับในชุดเดียวกัน และใบกำกับภาษีไม่ใช่เอกสารฉบับแรก ให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้
     (1) ในเอกสารฉบับแรกของเอกสารชุดดังกล่าว หรือในเอกสารฉบับอื่นที่มิใช่ฉบับแรก แต่เป็นต้นฉบับของเอกสารฉบับอื่นใดก็ตาม ซึ่งมิใช่ฉบับที่เป็นใบกำกับภาษี จะต้องมีข้อความว่า "ไม่ใช่ใบกำกับภาษี" ไว้ในเอกสารฉบับนั้นด้วย
     (2) ในเอกสารทุกฉบับของเอกสารชุดดังกล่าว จะต้องมีข้อความว่า "เอกสารออกเป็นชุด" ไว้ด้วย
     (3) ในเอกสารฉบับที่ถือว่าเป็นสำเนาของเอกสารฉบับอื่นจะต้องมีข้อความว่า "สำเนา" ไว้ทุกฉบับ
    ข้อความตาม (1) ถึง (3) ดังกล่าวข้างต้น จะต้องตีพิมพ์ขึ้นหรือจัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ในกรณีจัดทำใบกำกับภาษีขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ทั้งฉบับ จะประทับด้วยตรายาง เขียนด้วยหมึก พิมพ์ดีด หรือกระทำให้ปรากฏขึ้นด้วยวิธีการอื่นในลักษณะทำนองเดียวกันไม่ได้
     3. กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนมีสถานประกอบการหลายแห่ง และสถานประกอบการที่มิใช่สำนักงานใหญ่ได้นำใบกำกับภาษีของสถานประกอบการที่เป็นสำนักงานใหญ่ไปส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการทุกครั้งที่มีการขายสินค้าหรือการให้บริการ จะต้องมีข้อความว่า "สาขาที่ออกใบกำกับคือ….." ไว้ในใบกำกับภาษีดังกล่าว โดยข้อความดังกล่าวจะตีพิมพ์ จัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ประทับด้วยตรายางเขียนด้วยหมึก พิมพ์ดีด หรือทำให้ปรากฏขึ้นด้วย วิธีการอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกันก็ได้
     4. กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียน ซึ่งประกอบกิจการสถานบริการน้ำมัน ได้ขายน้ำมันเชื้อเพลิงหรือได้ขายสินค้าหรือบริการที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับรถยนต์ ที่ต้องจดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ จะต้องระบุ "เลขทะเบียนรถยนต์" ไว้ในใบกำกับภาษี โดยข้อความดังกล่าวจะตีพิมพ์ จัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ประทับด้วยตรายาง เขียนด้วยหมึก พิมพ์ดีด หรือทำให้ปรากฏขึ้นด้วย วิธีการอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกันก็ได้
     5. กรณีของการฝากขายสินค้าตามสัญญาการตั้งตัวแทนเพื่อขายสินค้า ซึ่งตัวการและตัวแทนเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 10 หรือร้อยละ 0 และทำสัญญาตั้งตัวแทนเพื่อขายสินค้า โดยตัวการได้ส่งมอบสัญญาให้แก่เจ้าพนักงานสรรพากรภายใน 15 วันนับแต่วันทำสัญญาตั้งตัวแทน เมื่อตัวแทนได้ขายสินค้าให้กับผู้ซื้อ ตัวแทนต้องออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปในนามของตัวการ โดยตัวแทนต้องระบุชื่อ ที่อยู่และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของตัวแทนด้วย
     6. กรณีได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากร ให้ออกใบกำกับภาษีเป็นหน่วยเงินตราต่างประเทศ จะต้องระบุอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยไว้ในใบกำกับภาษี โดยอัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าว จะต้องตีพิมพ์ จัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ประทับด้วยตรายาง เขียนด้วยหมึก พิมพ์ดีด หรือวิธีการอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกันก็ได้ (อัตราแลกเปลี่ยน ให้ใช้อัตราอ้างอิงประจำวันที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ประกาศไว้เป็นอัตราแลกเปลี่ยนของวันถัดไป ตามมาตรา 9 แห่งประมวลรัษฎากร)
การยกเลิกใบกำกับภาษีฉบับเดิม แล้วออกฉบับใหม่ ทำอย่างไร   กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งได้จัดทำใบกำกับภาษีที่มีรายการในส่วนที่เป็นสาระสำคัญไม่ถูกต้องครบถ้วน เมื่อได้รับการร้องขอให้ยกเลิกใบกำกับภาษีฉบับเดิมและจัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ที่ถูกต้อง ให้ดำเนินการดังนี้

     1. เรียกคืนใบกำกับภาษีฉบับเดิมและนำมาประทับตราว่า "ยกเลิก" หรือขีดฆ่าแล้วเก็บรวบรวมไว้กับสำเนาใบกำกับภาษีฉบับเดิม
     2. จัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ซึ่งเป็นเลขที่ใหม่ แต่จะต้องลงวัน เดือน ปี ให้ตรงกับ วัน เดือน ปี ตามใบกำกับภาษีฉบับเดิม และ
     3. หมายเหตุไว้ในใบกำกับภาษีฉบับใหม่ว่า "เป็นการยกเลิกและออกใบกำกับภาษีฉบับใหม่แทนฉบับเดิมเลขที่เล่มที่…." และหมายเหตุการยกเลิกใบกำกับภาษีไว้ในรายงานภาษีขายของเดือนภาษีที่จัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ด้วย
     4. ผู้ประกอบการที่ขอให้ยกเลิกใบกำกับภาษีฉบับเดิม และออกฉบับใหม่ ต้องถ่ายเอกสารใบกำกับภาษีฉบับเดิม (ฉบับที่ขอยกเลิก) ติดเรื่องไว้ และส่งมอบใบกำกับภาษีฉบับที่ขอยกเลิกคืนให้ผู้ออกใบกำกับภาษีนำไปรวมกับสำเนาไว้เป็นหลักฐาน
     5. ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ออกใบกำกับภาษีฉบับใหม่ หมายเหตุการยกเลิกใบกำกับภาษีไว้ในรายงานภาษีขายประจำเดือนที่ออกใบกำกับภาษีฉบับใหม่แทนด้วย

การออกใบแทนใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ ใบลดหนี้

    ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ได้จัดทำใบกำกับภาษี หรือใบเพิ่มหนี้ หรือใบลดหนี้แล้ว ต่อมาหากได้รับการร้องขอจากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการซึ่งทำใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ หรือใบลดหนี้สูญหาย ถูก
ทำลาย หรือชำรุดในสาระสำคัญ ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนนั้นออกใบแทนใบกำกับภาษี ใบแทนใบเพิ่มหนี้ หรือใบแทนใบลดหนี้ให้กับผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการนั้น โดยดำเนินการดังนี้
      1. ถ่ายสำเนาใบกำกับภาษี สำเนาใบเพิ่มหนี้ หรือสำเนาใบลดหนี้ และให้บันทึกรายการดังนี้ลงในภาพถ่ายหรือด้านหลังของภาพถ่ายดังกล่าว
          (1) ใบแทนออกให้ครั้งที่
          (2) วัน เดือน ปี ที่ออกใบแทน
          (3) คำอธิบายย่อ ๆ ถึงสาเหตุที่ออกใบแทน
          (4) ลงลายมือชื่อของผู้ออกใบแทน

      2. ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งออกใบแทนตาม 1. บันทึกรายการตาม (1) - (4) ไว้ด้านหลังสำเนาใบกำกับภาษี สำเนาใบเพิ่มหนี้ หรือสำเนาใบลดหนี้ด้วย
      3. ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ออกใบกำกับภาษีฉบับใหม่ หมายเหตุการยกเลิกใบกำกับภาษีไว้ในรายงานภาษีขายประจำเดือนที่ออกใบกำกับภาษีฉบับใหม่แทน โดยระบุชื่อผู้ซื้อ เลขที่/เล่มที่ วันที่ของใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ หรือใบลดหนี้ที่ได้มีการออกใบแทน
ตัวอย่าง






                                           
ใบกำกับภาษีอย่างย่อ
      ผู้ที่มีหน้าที่ออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ ก็คือผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่ประกอบการในลักษณะขายปลีก หรือการให้บริการในลักษณะบริการรายย่อยแก่บุคคลจำนวนมากซึ่งเป็นกิจการค้าปลีกมีสิทธิออกใบกำกับภาษีอย่างย่อได้ และหากจะใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินออกใบกำกับภาษีอย่างย่อต้องขออนุมัติกับกรมสรรพากรก่อน
        ส่วนการขายปลีก เป็นการขายให้กับผู้ซื้อที่จะนำไปขายให้กับผู้บริโภคโดยตรง ขายในปริมาณพอสมควรที่ไปบริโภคหรืออุปโภคไม่ได้นำไปขายต่อหรือผลิตเพื่อขายต่อ เช่น กิจการแผงลอย ขายของชำ ขายยา ห้างสรรพสินค้า ฯลฯ
       กิจการให้บริการรายย่อยกับบุคคลจำนวนมาก เช่น กิจการภัตตาคาร กิจการโรงแรม กิจการซ่อมแซมทุกชนิด โรงภาพยนต์ ปั๊มน้ำมัน ฯลฯ

ใบกำกับภาษีอย่างย่อ
ต้องมีข้อความต่อไปนี้
1.      คำว่า ใบกำกับภาษีอย่างย่อ  TAX INVOICE (ABB)
2.     ชื่อที่อยู่ของผู้ออกใบกำกับภาษี (เต็มรูป ก็ได้ ย่อก็ได้ โลโก้ก็ได้)
3.     เลขประจำตัวผู้เสียภาษี
4.     หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษี และลำดับของเล่ม (ถ้ามี)
5.     วัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับภาษี
6.     ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้า หรือบริการ (เต็มรูป ก็ได้ ย่อก็ได้ โลโก้ก็ได้)
7.     ราคาสินค้า หรือบริการ ต้องมีข้อความระบุว่าได้รวมภาษีมูลค่าเพิ่มไว้แล้ว        (VAT INCLUDED)
8.     โดยปกติผู้ประกอบการจดทะเบียน VAT ต้องออกใบกำกับภาษีทุกครั้งที่ขายสินค้าหรือบริการ แต่มีบางกรณีที่อาจจะไม่ต้องออกใบกำกับภาษีก็ได้
ผู้ประกอบการที่จดทะเบียน  VAT อาจจะไม่ต้องออกใบกำกับภาษีก็ได้ ถ้าอยู่ในเงื่อนไขดังต่อไปนี้
ต้องเป็นผู้ประกอบการที่ขายสินค้าในลักษณะขายปลีก หรือให้บริการรายย่อยกับบุคคลจำนวนมาก  ยอดขายสินค้าหรือให้บริการในแต่ละครั้งต้องไม่เกิน  1,000 บาท
ยอดขายในแต่ละเดือนต้องไม่ถึง 300,000 บาท
ลูกค้าไม่ร้องขอใบกำกับภาษี
เมื่อสิ้นวันทำการต้องนำเอารายการที่ไม่ได้ออกใบกำกับภาษีมารวมกันและรวมยอดเป็นฉบับเดียว


ใบเพิ่มหนี้

กรณีผู้ประกอบการได้ขายสินค้าหรือบริการ และมีการนำส่งภาษีขายไปแล้ว ต่อมาพบว่ามีการเพิ่มราคาสินค้าที่ขาย อาจจะเกิดจากการคำนวณราคาผิดพลาดคำนวณราคาต่ำกว่าราคาจริง ซึ่งทำให้ VAT ขายพลาดไปด้วย ต้องออกใบเพิ่มหนี้ให้ผู้ซื้อ ผู้ซื้อถือเป็นใบกำกับภาษีนำไปเป็นภาษีซื้อส่วนผู้ขายถือเป็นภาษีขาย

          ใบเพิ่มหนี้มีสาระสำคัญ อย่างน้อยต่อไปนี้
คำว่า ใบเพิ่มหนี้
ชื่อที่อยู่ของผู้ขาย
เลขประจำตัวผู้เสียภาษีของผู้ขาย
ชื่อที่อยู่ผู้ซื้อ
วัน เดือน ปี ที่ออกใบเพิ่มหนี้
หมายเลข ลำดับเดิมของใบกำกับภาษีเดิม แสดงมูลค่าของสินค้าเดิม มูลค่าที่ถูกต้องและผลต่างของจำนวนที่เพิ่มขึ้น
อธิบายสาเหตุของการออกใบเพิ่มหนี้
๑ กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ได้ขายสินค้าหรือให้บริการและได้ออกใบกำกับภาษีตามมาตรา ๘๖/๔ แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเป็นใบกำกับภาษีที่ได้จัดทำขึ้นตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๗ เป็นต้นไป และต่อมาได้ออกใบเพิ่มหนี้ตามมาตรา ๘๖/๙ แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งอ้างอิงใบกำกับภาษีฉบับดังกล่าว ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ออกใบเพิ่มหนี้จะต้องระบุข้อความดังต่อไปนี้ ไว้ในใบเพิ่มหนี้ด้วย
                                             (๑) เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ
                                             (๒) ข้อความรายการเกี่ยวกับสถานประกอบการตามที่ปรากฏในใบทะเบียนภาษี มูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.๒๐) ของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ได้ขายสินค้าหรือให้บริการซึ่งเป็นผู้ออกใบเพิ่มหนี้ ดังนี้
                                             (ก) กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งเป็นผู้ออกใบเพิ่มหนี้ ได้ออกใบเพิ่มหนี้โดยอ้างอิงใบกำกับภาษีตามมาตรา ๘๖/๔ แห่งประมวลรัษฎากร โดยใบกำกับภาษีดังกล่าวได้ระบุสถานประกอบการของผู้ออกใบเพิ่มหนี้เป็นสำนักงานใหญ่ไว้ในใบกำกับภาษีนั้น ให้ระบุข้อความว่า สำนักงานใหญ่ซึ่งเป็นสถานประกอบการของผู้ออกใบเพิ่มหนี้ตามที่ปรากฏในใบกำกับภาษีนั้นไว้ในใบเพิ่มหนี้ดังกล่าวด้วย
                                             (ข) กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งเป็นผู้ออกใบเพิ่มหนี้ได้ออกใบเพิ่มหนี้โดยอ้างอิงใบกำกับภาษีตามมาตรา ๘๖/๔ แห่งประมวลรัษฎากร โดยใบกำกับภาษีดังกล่าวได้ระบุสถานประกอบการของผู้ออกใบเพิ่มหนี้เป็น สาขาที่ ..ไว้ในใบกำกับภาษีนั้น ให้ระบุข้อความว่า สาขาที่ ..ซึ่งเป็นสถานประกอบการของผู้ออกใบเพิ่มหนี้ตามที่ปรากฏในใบกำกับภาษีนั้นไว้ในใบเพิ่มหนี้ดังกล่าวด้วย
                                             (๓) ข้อความรายการเกี่ยวกับสถานประกอบการตามที่ปรากฏในใบทะเบียนภาษี มูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.๒๐) ของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ได้ซื้อสินค้าหรือรับบริการซึ่งเป็นผู้รับใบเพิ่มหนี้ ดังนี้
                                             (ก) กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งเป็นผู้ออกใบเพิ่มหนี้ ได้ออกใบเพิ่มหนี้โดยอ้างอิงใบกำกับภาษีตามมาตรา ๘๖/๔ แห่งประมวลรัษฎากร โดยใบกำกับภาษีดังกล่าวได้ระบุสถานประกอบการของผู้รับใบเพิ่มหนี้เป็นสำนักงานใหญ่ไว้ในใบกำกับภาษีนั้น ให้ระบุข้อความว่า สำนักงานใหญ่ซึ่งเป็นสถานประกอบการของผู้รับใบเพิ่มหนี้ตามที่ปรากฏในใบกำกับภาษีนั้นไว้ในใบเพิ่มหนี้ดังกล่าวด้วย
                                             (ข) กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งเป็นผู้ออกใบเพิ่มหนี้ ได้ออกใบเพิ่มหนี้โดยอ้างอิงใบกำกับภาษีตามมาตรา ๘๖/๔ แห่งประมวลรัษฎากร โดยใบกำกับภาษีดังกล่าวได้ระบุสถานประกอบการของผู้รับใบเพิ่มหนี้เป็น สาขาที่ ..ไว้ในใบกำกับภาษีนั้น ให้ระบุข้อความว่า สาขาที่ ..ซึ่งเป็นสถานประกอบการของผู้รับใบเพิ่มหนี้ตามที่ปรากฏในใบกำกับภาษีนั้นไว้ในใบเพิ่มหนี้ดังกล่าวด้วย

ใบลดหนี้
   กรณีผู้ประกอบการได้ขายสินค้าหรือบริการ และได้มีการนำส่งภาษีขายไปแล้ว ต่อมาพบว่ามีการลดราคาสินค้าที่ขาย อาจจะเกิดจากการคำนวณราคาผิดพลาดคำนวณราคาสูงกว่าความเป็นจริง  ซึ่งทำให้ VAT ขายพลาดไปด้วย ผู้ขายต้องออกใบลดหนี้ให้ผู้ซื้อ ผู้ซื้อถือเป็นใบกำกับภาษี โดยผู้ซื่อนำไปหักออกจากภาษีซื้อ ส่วนผู้ขายนำมาหักออกจากภาษีขาย

          สาระสำคัญของใบลดหนี้
1.      คำว่า ใบลดหนี้
2.     ซื่อที่อยู่ผู้ขาย
3.     เลขประจำตัวผู้เสียภาษีของผู้ขาย
4.     ชื่อ ที่อยู่ผู้ซื้อ
5.     วัน เดือน ปี ที่ออกใบลดหนี้
6.     หมายเลขลำดับเดิมของใบกำกับภาษีเดิม แสดงมูลค่าของสินค้าเดิมมูลค่าที่ถูกต้องและผลต่างของจำนวนที่ลดลง
7.     อธิบายสาเหตุของการออกใบลดหนี้
 
                  กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ได้ขายสินค้าหรือให้บริการและได้ออกใบกำกับภาษีตามมาตรา ๘๖/๔ แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเป็นใบกำกับภาษีที่ได้จัดทำขึ้นตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๗ เป็นต้นไป และต่อมาได้ออกใบลดหนี้ตามมาตรา ๘๖/๑๐ แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งอ้างอิงใบกำกับภาษีฉบับดังกล่าว ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ออกใบลดหนี้จะต้องระบุข้อความดังต่อไปนี้ ไว้ในใบลดหนี้ด้วย
                                    (๑) เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ
                                    (๒) ข้อความรายการเกี่ยวกับสถานประกอบการตามที่ปรากฏในใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.๒๐) ของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ได้ขายสินค้าหรือให้บริการซึ่งเป็นผู้ออกใบลดหนี้ ดังนี้
                                    (ก) กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งเป็นผู้ออกใบลดหนี้ ได้ออกใบลดหนี้โดยอ้างอิงใบกำกับภาษีตามมาตรา ๘๖/๔ แห่งประมวลรัษฎากร โดยใบกำกับภาษีดังกล่าวได้ระบุสถานประกอบการของผู้ออกใบลดหนี้เป็นสำนักงานใหญ่ไว้ในใบกำกับภาษีนั้น ให้ระบุข้อความว่า สำนักงานใหญ่ซึ่งเป็นสถานประกอบการของผู้ออกใบลดหนี้ตามที่ปรากฏในใบกำกับภาษีนั้นไว้ในใบลดหนี้ดังกล่าวด้วย
                                    (ข) กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งเป็นผู้ออกใบลดหนี้ ได้ออกใบลดหนี้โดยอ้างอิงใบกำกับภาษีตามมาตรา ๘๖/๔ แห่งประมวลรัษฎากร โดยใบกำกับภาษีดังกล่าวได้ระบุสถานประกอบการของผู้ออกใบลดหนี้เป็น สาขาที่ ..ไว้ในใบกำกับภาษีนั้น ให้ระบุข้อความว่า สาขาที่ ..ซึ่งเป็นสถานประกอบการของผู้ออกใบลดหนี้ตามที่ปรากฏในใบกำกับภาษีนั้นไว้ในใบลดหนี้ดังกล่าวด้วย
                                    (๓) ข้อความรายการเกี่ยวกับสถานประกอบการตามที่ปรากฏในใบทะเบียนภาษี มูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.๒๐) ของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ได้ซื้อสินค้าหรือรับบริการซึ่งเป็นผู้รับใบลดหนี้ ดังนี้
                                    (ก) กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งเป็นผู้ออกใบลดหนี้ ได้ออกใบลดหนี้โดยอ้างอิงใบกำกับภาษีตามมาตรา ๘๖/๔ แห่งประมวลรัษฎากร โดยใบกำกับภาษีดังกล่าวได้ระบุสถานประกอบการของผู้รับใบลดหนี้เป็นสำนักงานใหญ่ไว้ในใบกำกับภาษีนั้น ให้ระบุข้อความว่า สำนักงานใหญ่ซึ่งเป็นสถานประกอบการของผู้รับใบลดหนี้ตามที่ปรากฏในใบกำกับภาษีนั้นไว้ในใบลดหนี้ดังกล่าวด้วย
                                    (ข) กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งเป็นผู้ออกใบลดหนี้ ได้ออกใบลดหนี้โดยอ้างอิงใบกำกับภาษีตามมาตรา ๘๖/๔ แห่งประมวลรัษฎากร โดยใบกำกับภาษีดังกล่าวได้ระบุสถานประกอบการของผู้รับใบลดหนี้เป็น สาขาที่ ..ไว้ในใบกำกับภาษีนั้น ให้ระบุข้อความว่า สาขาที่ ..ซึ่งเป็นสถานประกอบการของผู้รับใบลดหนี้ตามที่ปรากฏในใบกำกับภาษีนั้นไว้ในใบลดหนี้ดังกล่าวด้วย


        ภาษีซื้อต้องห้าม
  ภาษีซื้อดังต่อไปนี้ ไม่ให้นำมาหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม
(1) ไม่มีใบกำกับภาษีหรือไม่อาจแสดงใบกำกับภาษีได้ว่ามีการชำระภาษีซื้อ เว้นแต่จะเป็นกรณีมีเหตุอันสมควรตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด
(2) ใบกำกับภาษีมีข้อความไม่ถูกต้องหรือไม่สมบูรณ์ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด
(3) ภาษีซื้อที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการของผู้ประกอบกิจการตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด เช่น ภาษีซื้อที่ไม่เข้าลักษณะเป็นรายจ่ายเพื่อกิจการหรือเพื่อหากำไร
(4) ภาษีซื้อที่เกิดจากรายจ่ายเพื่อการรับรองหรือมีลักษณะทำนองเดียวกัน
(5) ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีซึ่งออกโดยผู้ที่ไม่มีสิทธิออกใบกำกับภาษี เช่น ผู้ที่มิได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
(6) ภาษีซื้อ ให้มีสิทธินำไปหักในการคำนวณภาษีในเดือนภาษีหลังจากนั้นได้ แต่ต้องไม่เกินหกเดือนนับแต่เดือนถัดจากเดือนที่ออกใบกำกับภาษี
(7)  ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อ เช่าซื้อ เช่า หรือรับโอนรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต และภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อสินค้าหรือการรับบริการที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต
(8) ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีอย่างย่อตามมาตรา 86/6 และมาตรา 86/7 แห่งประมวลรัษฎากร
(9) ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อทรัพย์สินเพื่อใช้หรือจะใช้ในกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือภาษีซื้อที่เกิดจากรายจ่ายของกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
(10) ภาษีซื้อที่เกิดจากการก่อสร้างอาคารหรืออสังหาริมทรัพย์อื่นเพื่อใช้หรือจะใช้ในกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และต่อมาได้ขาย หรือให้เช่าหรือนำไปใช้ในกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ทั้งนี้ เฉพาะที่ได้กระทำภายในสามปีนับแต่เดือนภาษีที่ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์
(11)  ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งรายการตามมาตรา 86/4(1) แห่งประมวลรัษฎากรมิได้ตีพิมพ์ขึ้น หรือมิได้จัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ในกรณีจัดทำใบกำกับภาษีขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ทั้งฉบับ
(12) ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งรายการตามมาตรา 86/4(8) แห่งประมวลรัษฎากรมิได้จัดทำขึ้นตามวิธีการตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 86/4(8) แห่งประมวลรัษฎากร เช่น กรณีใบกำกับภาษีระบุที่อยู่ของสำนักงานใหญ่ แต่สาขาได้ทำใบกำกับภาษีจะต้องมีข้อความว่า "สาขาที่ออกใบกำกับภาษีคือ ......"
(13) ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งมีรายการในใบกำกับภาษีเป็นสำเนา (copy) แต่ไม่รวมถึงใบกำกับภาษีที่ได้จัดทำรวมกับเอกสารทางการค้าอื่น ซึ่งมีจำนวนหลายฉบับ และใบกำกับภาษีซึ่งมีรายการในใบกำกับภาษีเป็นสำเนามีข้อความว่า เอกสารออกเป็นชุดปรากฏอยู่ด้วย
(14) ภาษีซื้อส่วนที่เฉลี่ยเป็นของกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งได้คำนวณตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 82/6 แห่งประมวลรัษฎากร
(15) ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อสินค้าหรือรับบริการ ซึ่งผู้ประกอบการจดทะเบียนนำไปใช้หรือจะใช้ในการประกอบกิจการทั้งประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและผู้ประกอบการจดทะเบียนดังกล่าวใช้สิทธิเลือกไม่นำภาษีซื้อทั้งหมดไปหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม เนื่องจากกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มมีรายได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของรายได้ของกิจการทั้งหมด ทั้งนี้ ตามข้อ 3(2) แห่งประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเฉลี่ยภาษีซื้อ ตามมาตรา 82/6 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ.2535
(16)ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากรซึ่งรายการตามมาตรา 86/4 ได้ถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลง เว้นแต่รายการซึ่งได้ถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลงตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด
(17) ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อ เช่าซื้อ หรือรับโอนรถยนต์ที่มิใช่รถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต เพื่อใช้หรือจะใช้ในกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และต่อมาได้มีการดัดแปลงรถยนต์ดังกล่าวเป็นรถยนต์นั่ง หรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต ทั้งนี้ เฉพาะที่ได้กระทำภายในสามปีนับแต่เดือนภาษีที่ได้รถยนต์ไว้ในครอบครอง
(18) ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากรซึ่งรายการตามมาตรา 86/4(2) แห่งประมวลรัษฎากร มิได้ตีพิมพ์ขึ้น หรือมิได้จัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ในกรณีจัดทำใบกำกับภาษีขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ทั้งฉบับ


 ---------------------------------------------------------------------------
 จบตอนที่ 2 มีต่อตอนที่ 3



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น