วันอังคารที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

บทที่ 6 ภาษีธุรกิจเฉพาะและอากรแสตมป์


เอกสารประกอบการเรียนการสอน
วิชา การภาษีอากร/ภาษีอากร 1
รหัสวิชา 961365/960102
ภาคเรียนที่ 1  ปีการศึกษา 2558 คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ผู้สอน : นายวินัย  เนื้อนาจันทร์   นักวิชาการสรรพากรเชี่ยวชาญ (อาจารย์พิเศษ)

บทที่ 6
ภาษีธุรกิจเฉพาะและอากรแสตมป์     

ขอบเขตของเนื้อหา
 
   - ผู้มีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะ 
  -  การประกอบกิจการที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
   - กิจการที่ไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
  - ฐานภาษีและอัตราภาษี
   - หน้าที่ของผู้ประกอบกิจการที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
   - การยื่นแบบแสดงรายการภาษีธุรกิจเฉพาะ
  -  การขอคืนภาษีธุรกิจเฉพาะ
   - กำหนดเวลาในการยื่นแบบแสดงรายการภาษี (ภ.ธ.40) 
   - สถานที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีธุรกิจเฉพาะ
  -  ตราสารที่ต้องเสียอากรแสตมป์
   - ผู้มีหน้าที่เสียอากรแสตมป์
   - วิธีการเสียอากร
   - การยกเว้นอากร
   - การลดอากร
  -  ความรับผิดกรณีไม่ปิดแสตมป์บริบูรณ์ และการไม่ออกใบรับ
   - ข้อเสียของการมิได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์
   - การขอคืนเงินอากร
วัตถุประสงค์ของบทเรียน
-         เพื่อให้นักศึกษาทราบถึงหลักการและวิธีการจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะ
-         เพื่อให้นักศึกษาสามารถคำนวณภาษีธุรกิจเฉพาะและยื่นแบบแสดงรายการภาษีธุรกิจเฉพาะได้อย่างถูกต้อง
-         เพื่อให้นักศึกษาทราบถึงหลักการและวิธีการเสียอากรแสตมป์







ภาษีธุรกิจเฉพาะ (SBT)

       ภาษีธุรกิจเฉพาะ เป็นภาษีตามประมวลรัษฎากรประเภทหนึ่ง จัดเก็บจากการประกอบกิจการเฉพาะอย่างแทนภาษีการค้าที่ถูกยกเลิก ภาษีธุรกิจเฉพาะเริ่มใช้บังคับใน พ.ศ.2535 พร้อมกันกับภาษีมูลค่าเพิ่ม   องค์ประกอบของภาษีธุรกิจเฉพาะประกอบไปด้วย
  
 1. ผู้มีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
 2. การประกอบกิจการที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
 3. กิจการที่ไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
 4. ฐานภาษีและอัตราภาษี
 5. หน้าที่ของผู้ประกอบกิจการที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
 6. การยื่นแบบแสดงรายการภาษีธุรกิจเฉพาะ 
 7. การขอคืนภาษีธุรกิจเฉพาะ
 8. กำหนดเวลาในการยื่นแบบแสดงรายการภาษี (ภ.ธ.40) 
 9. สถานที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษี   

 1. ผู้มีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
  ผู้มีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ได้แก่ ผู้ประกอบกิจการที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ไม่ว่าผู้ประกอบกิจการดังกล่าวจะประกอบกิจการในรูปของ
        -   บุคคลธรรมดา
        -   คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล
        -   กองมรดก
        -   ห้างหุ้นส่วนสามัญ
        -   กองทุน
        -   หน่วยงานหรือกิจการของเอกชนที่กระทำโดยบุคคลธรรมดาตั้งแต่สองคนขึ้นไปอันมิใช่นิติบุคคล
        -   องค์การของรัฐบาล สหกรณ์ และองค์กรอื่นที่กฎหมายกำหนดให้เป็นนิติบุคคล

           ในกรณีผู้ประกอบกิจการอยู่นอกราชอาณาจักร ให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการประกอบกิจการรวมตลอดถึง ลูกจ้าง ตัวแทน หรือผู้ทำการแทนซึ่งมีอำนาจในการจัดการแทนโดยตรง หรือโดยปริยายที่อยู่ในราชอาณาจักร เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีร่วมกับผู้ประกอบกิจการดังกล่าวข้างต้น

2. การประกอบกิจการที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
  กิจการที่จะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะได้แก่ การประกอบกิจการดังต่อไปนี้ในราชอาณาจักร โดยกิจการนั้น ไม่ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ
        1.   การธนาคาร ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ หรือกฎหมายเฉพาะ
        2.   การประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ ตามกฎหมายว่าด้วย การประกอบ ธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์
        3.   การรับประกันชีวิต ตามกฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิต
             (ข้อสังเกต : กิจการประกันภัย ไม่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะ แต่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม)
        4.   การรับจำนำ ตามกฎหมายว่าด้วยโรงรับจำนำ
        5.   การประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ เช่น การให้กู้ยืมเงินค้ำประกัน แลกเปลี่ยนเงินตรา ออก ซื้อ หรือขายตั๋วเงิน หรือรับส่งเงินไปต่างประเทศด้วยวิธีต่าง ๆ
              ในกรณีที่มีปัญหาว่า กิจการใดเป็นการประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์หรือไม อธิบดีกรมสรรพากรจะเสนอให้คณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรพิจารณากำหนดขอบเขตและเงื่อนไขของการประกอบกิจการดังกล่าวนั้นก็ได้และเมื่อคณะกรรมการวินิจฉัย ภาษีอากรได้วินิจฉัยแล้ว ให้ประกาศคำวินิจฉัยนั้นในราชกิจจานุเบกษา
        6.   การขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร ไม่ว่าอสังหาริมทรัพย์นั้นจะได้มาโดยวิธีใดก็ตาม ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 342) พ.ศ.2541 (ใช้บังคับตั้งแต่ 1 มกราคม 2542 เป็นต้นไป) ดังต่อไปนี้
              การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ถือว่าเป็นทางการค้าหรือหากำไรตามพระราชกฤษฎีกาฯ ได้แก่การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ดังต่อไปนี้

            (1)   (1) การขายอสังหาริมทรัพย์ของผู้ซึ่งได้รับอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดิน ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการจัดสรรที่ดิน
            (2)   การขายห้องชุดของผู้ประกอบการซึ่งเป็นผู้ขอจดทะเบียนอาคารชุดตามกฎหมายว่าด้วย อาคารชุด

            (3)   การขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารที่สร้างขึ้นเพื่อขาย รวมถึงการขายที่ดินอันเป็นที่ตั้งของ อาคารดังกล่าว
            (4)   การขายอสังหริมทรัพย์ที่ไม่เข้าลักษณะตาม (1) (2) หรือ (3) เฉพาะกรณีที่มีการแบ่งขาย หรือแบ่งแยกไว้เพื่อขาย โดยได้จัดทำถนนหรือสิ่งสาธารณูปโภคอื่น หรือให้คำสั่นว่าจะจัดให้มีสิ่งดังกล่าว
            (5)   การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ขายมีไว้ในการประกอบกิจการเฉพาะของบริษัทหรื ห้างหุ้นส่วน ที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล องค์การของรัฐบาล สหกรณ์ และองค์กรอื่นที่กฎหมายกำหนดให้เป็นนิติบุคคล
            (6)   การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่เข้าลักษณะตาม (1) (2) (3) (4) (5) ที่ได้กระทำภายในห้าปี นับแต่วันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้น เว้นแต่
                    (ก)   การขายหรือการถูกเวนคืนตามกฎหมาย ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์
                    (ข)   การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยทางมรดก
                    (ค)   การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ใช้เป็นสถานที่อยู่อาศัยอันเป็นแหล่งสำคัญที่ผู้ขายมีชื่อ อยู่ในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปีที่นับแต่วันที่ได้มาซึ่ง อสังหาริมทรัพย์นั้นในกรณีที่ที่ดินและอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างตาม (ค) ได้มาไม่พร้อมกันกำหนดเวลาห้า ปีตามความใน (16) ให้ถือตามระยะเวลาการได้มาซึ่งที่ดินหรืออาคารหรือสิ่งปลูกสร้างที่ได้มาภายหลัง
                    (ง)   การโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ โดยไม่มีค่าตอบแทน ให้แก่บุตรชอบด้วยกฎหมายของตน แต่ไม่รวมถึงบุตรบุญธรรม
                    (จ)   การโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ ทางมรดกให้แก่ทายาท โดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรมซึ่งเป็นทายาทโดยธรรม
                    (ฉ)   การโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ให้แก่ส่วนราชการหรือ องค์การของรัฐบาลโดยไม่มีค่าตอบแทน
                    (ช)   การแลกเปลี่ยนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์กับส่วนราชการ หรือองค์การของรัฐบาลเฉพาะในกรณีที่ส่วนราชการหรือองค์การของรัฐบาลนั้นมิได้มีการจ่ายค่าตอบแทนเป็นอย่าง อื่น นอกจากอสังหาริมทรัพย์ที่แลกเปลี่ยนนั้น

                  หมายเหตุ ผู้มีเงินได้ที่ได้รับเงินได้พึงประเมินจากการขายอสังหาริมทรัพย์ตาม (6) ซึ่งได้ถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และได้เสียภาษีธุรกิจเฉพาะไว้แล้วเมื่อถึงกำหนดยื่นรายการเสียภาษีเงินได้ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินได้ดังกล่าว มาคำนวณเป็นเงินได้พึงประเมิน ทั้งนี้เพื่อเป็นการบรรเทาภาระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา(พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 376 พ.ศ.2544)

            (7)   การขายหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในตลาดหลักทรัพย์
            (8)   การประกอบกิจการอื่น ตามกำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา

            กำหนดให้กิจการซื้อและขายคืนหลักทรัพย์ที่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการกำกับ หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์เป็นกิจการที่อยู่ในบังคับต้อง เสียภาษีธุรกิจเฉพาะ เนื่องจากการประกอบกิจการซื้อหรือขายคืนหลักทรัพย์โดยมีสัญญาหรือซื้อคืนดังกล่าวมี ลักษณะอื่นที่อยู่ในบัง คับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ (พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 350) พ.ศ. 2524
            กำหนดให้การประกอบธุรกิจแฟ็กเตอริงเป็นกิจการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจ เฉพาะ เนื่องจากการประกอบธุรกิจดังกล่าวมีลักษณะคล้ายคลึงกับการให้กู้ยืมเงินที่เป็นการประกอบกิจการโดยปกติ เยี่ยงธนาคารพาณิชย์ (พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 358) พ.ศ.2542 )
            คำว่า "ธุรกิจแฟ็กเตอริง" หมายความว่า ธุรกิจที่ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการตกลงจะ โอนทรัพย์สินที่จะได้รับจากการชำระหนี้เนื่องจากการขายสินค้าหรือการให้บริการระหว่างตนกับลูกหนี้ของตน ให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจแฟ็กเตอริง โดยผู้ประกอบธุรกิจแฟ็กเตอริงตกลงจะให้สินเชื่อซึ่งรวมถึงการให้กู้ยืมและการ ทดรองจ่ายแก่ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการและรับที่จะดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้
                    (ก)   จัดให้มีบัญชีทรัพย์สินที่จะได้รับการชำระหนี้
                    (ข)   เรียกเก็บทรัพย์สินที่จะได้รับจากการชำระหนี้
                    (ค)   รับผิดชอบในหนี้ที่ลูกหนี้ของผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการผิดนัด
   
  
 3. กิจการที่ไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
  การประกอบกิจการต่อไปนี้ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ

        1.   กิจการของธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
        2.   กิจการของบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
        3.   กิจการของสหกรณ์ออมทรัพย์เฉพาะการให้กู้ยืมแก่สมาชิกหรือแก่สหกรณ์ออมทรัพย์อื่น
        4.   กิจการของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วย กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
        5.   กิจการของการเคหะแห่งชาติเฉพาะการขาย หรือให้เช่าซื้ออสังหาริมทรัพย์

        6.   กิจการรับจำนำของกระทรวง ทบวง กรม และราชการส่วนท้องถิ่น
        7.   กิจการขายหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยใน ตลาดหลักทรัพย์
        8.   กิจการของบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อม
        9.   กิจการของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม
        10.   กิจการของธนาคารเพื่อการส่งออก และนำเข้าแห่งประเทศไทย
        11.   กิจการของกองทุนสิ่งแวดล้อมตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
        12.   กิจการขององค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน
        13.   กิจการของบรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน
        14.   กิจการของนิติบุคคลเฉพาะกิจในส่วนที่เกี่ยวกับการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์เฉพาะกรณีดังต่อไปนี้
                 (1)   กิจการที่เกิดขึ้นเนื่องจากการรับโอนทรัพย์สินจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น หรือการโอนทรัพย์สินดังกล่าวคืนให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่น
                 (2)   กิจการที่ได้รับโอนมาจากผู้โอนซึ่งได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะตาม (1)-(7) ข้างต้น
        15.   กิจการของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นในส่วนที่เกี่ยวกับการแปลงสินทรัพย์ เป็นหลักทรัพย์ เฉพาะที่เกิดขึ้นเนื่องจากการโอนทรัพย์สินให้แก่นิติบุคคลเฉพาะกิจหรือการรับโอนทรัพย์สินดังกล่าว กลับคืนจากนิติบุคคลเฉพาะกิจ
        16.   กิจการของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนอสังหาริมทรัพย์เพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบัน การเงินและกองทุนรวมเพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงินที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาด หลักทรัพย์เฉพาะการประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์และการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหา กำไร
        17.   กิจการของบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย
        18.   กิจการของการเคหะแห่งชาติ เฉพาะการให้กู้ยืมเงินตามโครงการพัฒนาคนจนในเมือง
        19.   กิจการของสหกรณ์ประเภทสหกรณ์บริการซึ่งดำเนินการเกี่ยวกับการจัดหาที่อยู่อาศัยให้แก่สมาชิก เฉพาะกรณีดังต่อไปนี้
                 (1)   ต้องเป็นสหกรณ์ที่เป็นสมาชิกของโครงการพัฒนาคนใจในเมืองของการเคหะแห่งชาติ และได้รับเงินตามโครงการดังกล่าว
                 (2)   ต้องนำเงินที่ได้รับไปจัดซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อขายต่อให้แก่สมาชิกของสหกรณ์นั้น
        20.   กิจการของสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทบริหารสินทรัพย์ เฉพาะกรณีที่
                 (1)   สถาบันการเงินนั้นถือหุ้นในบริษัทบริหารสินทรัพย์เกินกว่าร้อยละ 50 ของหุ้นทั้งหมดที่มี สิทธิออกเสียงหรือในกรณีที่สถาบันการเงินนั้นถือหุ้นในบริษัทบริหารสินทรัพย์และสถาบันการเงินนั้นเกินกว่าร้อยละ 50 ของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียง จะต้องมีนิติบุคคลรายหนึ่งถือหุ้นในบริษัทบริหารสินทรัพย์และสถาบันการเงินนั้น เกินกว่าร้อยละ 50 ของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียง
                 (2)   เป็นรายรับที่ได้จากบริษัทบริหารสินทรัพย์ เนื่องจากการให้สินเชื่อแก่บริษัทบริหารสินทรัพย์ เพื่อรับซื้อหรือโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงินนั้นหรือสถาบันการเงินอื่นที่มีสถาบันการเงินนั้นถือหุ้นเกิน กว่าร้อยละ 50 ของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียง หรือการให้สินเชื่อแก่บริษัทบริหารสินทรัพย์เพื่อใช้ในการบริหารสิน ทรัพย์ด้อยคุณภาพที่รับซื้อหรือรับโอนจากสถาบันการเงินนั้นหรือสถาบันการเงินอื่นที่มีสถาบันการเงินนั้นถือหุ้นเกิน กว่าร้อยละ 50 ของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียง
        21.   กิจการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางการค้าหรือหากำไร เนื่องจาก
                 (1)   การรับไถ่อสังหาริมทรัพย์จากากรขายฝากหรือการไถ่อสังหาริมทรัพย์จากการขายฝากโดยการ วางทรัพย์ต่อสำนักงานวางทรัพย์ภายในเวลาที่กำหนดได้ในสัญญา หรือภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด
                 (2)   การขายอสังหาริทรัพย์ภายหลังที่ได้ไถ่จากการขายฝากซึ่งเมื่อรวมระยะเวลาการได้มาซึ่ง อสังหาริมทรัพย์ก่อนการขายฝาก ระยะเวลาระหว่างการขายฝากและระยะเวลาภายหลังจากการขายฝากแล้วเกินห้าปี
        22.   การขายอสังหาริมทรัพย์ขององค์การบริหารสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ หรือบริษัทจำกัดที่สถาบันการ เงินตามพระราชกฤษฏีกาจัดตั้งองค์การบริหารสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2540 ได้จัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินการบริหาร สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์โดยความเห็นชอบของธนาคารแห่งประเทศไทย
        23.   การขายอสังหาริมทรัพย์ของผู้ประกอบกิจการให้แก่องค์การฯ หรือบริษัทจำกัดตาม 22

หมายเหตุ

กรณีประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ กรมสรรพากรวาง แนวทางปฏิบัติ ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.26/2534 กำหนดให้รายรับกรณีดอกเบี้ยสำหรับกิจการเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ไม่ต้องนำ มารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ดังนี้
                 (1)   กรณีบริษัทในเครือเดียวให้กู้ยืมเงินกันเอง ไม่ว่าจะนำเงินของตนหรือนำเงินที่กู้ยืมจากบุคคลอื่นมา ให้กู้ยืมในระหว่างกันเองและไม่ว่าจะคิดดอกเบี้ยในอัตราเท่าใดก็ตาม ดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นจากการกู้ยืมเงินในกรณีเช่นนี้ ไม่ต้องนำมารวมคำนวณเป็นรายรับเพื่อเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
                          คำว่า "บริษัทในเครือเดียวกัน" หมายความว่า บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตั้งแต่สองนิติบุคคลขึ้น ไปซึ่งมีความสัมพันธ์กันโดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใดถือหุ้นหรือเป็นหุ้นส่วน อยู่ในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วน นิติบุคคลอีกแห่งหนึ่งไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียงในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล นั้นเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหกเดือนก่อนวันที่มีการกู้ยืม
                 (2)   กรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนำเงินทุน เงินกู้ยืม เงินเพิ่มทุน หรือเงินที่อื่นที่เหลืออยู่ไป ฝากธนาคารหรือซื้อตั๋วเงินของสถาบันการเงินอื่น โดยได้รับดอกเบี้ยตามอัตราปกติกรณีเช่นนี้ไม่ถือว่าดอกเบี้ยนั้นเป็นรายรับที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ แม้ว่าบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นจะประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ก็ตาม
                         ความใน 1. และ 2. ไม่รวมถึงการประกอบกิจการธนาคาร กิจการธุรกิจเงินทุนธุรกิจหลักทรัพย์ธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ และการรับประกันชีวิตตามกฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิต
                 (3)   กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีระเบียบเกี่ยวกับ เงินกองทุนสะสมพนักงานหรือทุนอื่นใดเพื่อพนักงาน และบรษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้นำเงินกองทุนนี้ออกให้พนักงานที่เป็นสมาชิกกู้ยืมเป็นสวัสดิการ โดยคิดดอกเบี้ยสำหรับเงินที่ให้กู้นั้นตามสมควร ไม่ต้องนำดอกเบี้ยนั้นมารวมคำนวณเป็นรายรับเพื่อเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
   
 4. ฐานภาษี และอัตราภาษี
  ฐานภาษีสำหรับการประกอบกิจการที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ได้แก่ รายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ที่ผู้ประกอบกิจการได้รับ หรือพึงได้รับเนื่องจากการประกอบกิจการ
"รายรับ" หมายความว่า เงิน ทรัพย์สิน ค่าตอบแทน หรือประโยชน์ใด ๆ อันมีมูลค่าที่ผู้ประกอบกิจการ ได้รับหรือพึงได้รับ ไม่ว่าในหรือนอกราชอาณาจักรอันเนื่องมาจากการประกอบกิจการ
 ที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ จะต้องเสียภาษีโดยคำนวณจากฐานภาษี ซึ่งได้แก่ รายรับตามฐานภาษี ของแต่ละประเภทกิจการ คูณด้วยอัตราภาษีที่กำหนดไว้ และจะต้องเสียภาษีท้องถิ่นอีก ร้อยละ 10 ของจำนวนภาษี ธุรกิจเฉพาะดังกล่าว
อัตราภาษีธุรกิจเฉพาะ
กิจการ
ฐานภาษี
อัตราภาษีร้อยละ
1.   กิจการธนาคาร,ธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์, ธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ และการประกอบกิจการเยี่ยง ธนาคารพาณิชย์

- ดอกเบี้ย ส่วนลด ค่าธรรมเนียม ค่าบริการ หรือกำไรก่อนหักรายจ่าย ใดๆ จากการซื้อหรือขายตั๋วเงินหรือ ตราสารแสดงสิทธิในหนี้ใด ๆ
-   กำไรก่อนหักรายจ่ายใดๆ จากการ แลกเปลี่ยนหรือซื้อขายเงินตรา การออกตั๋วเงินหรือการส่งเงินไปต่างประเทศ
3.0
2.   กิจการรับประกันชีวิต
-   ดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม ค่าบริการ

2.5

3.   กิจการโรงรับจำนำ

-   ดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม

2.5
4.   การค้าอสังหาริมทรัพย์

- รายรับก่อนหักรายจ่ายใดๆ

3.0
5.   การขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์

-   รายรับก่อนหักรายจ่ายใดๆ

0.1 (ยกเว้น)

6.   การซื้อและการขายคืนหลัก ทรัพย์ที่ได้รับอนุญาตจาก คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และ ตลาดหลักทรัพย์

-   กำไรก่อนหักรายจ่ายใดๆ จากการขายคืนหลักทรัพย์ แต่ไม่รวมถึง ดอกเบี้ย เงินปันผล หรือประโยชน์ใดๆ ที่ได้จากหลักทรัพย์

3.0
7.   ธุรกิจแฟ็กเตอริง

-   ดอกเบี้ย ส่วนลด ค่าธรรมเนียม หรือค่าบริการ

3.0



แฟคเตอริ่งคืออะไร


แฟคตอริ่ง (Factoring) คือ การซื้อขายลูกหนี้ทางการค้า โดยมีบริษัทแฟคเตอร (Factor) ทําหน้าที่รับซื้อบัญชีลูกหนี้การค้าในรูปของใบกํากับสินค้าประเภทต่าง ๆ จากผู้ขายสินค้า ผู้ขายสินค้าจะโอนสิทธิบัญชีลูกหนี้การค้าที่ เกิดจากการขายสินค้าเป็นเงินเชื่อไปใหกับบริษัทแฟคเตอร ขณะเดียวกันบริษัทแฟคเตอรก็จะจ่ายเงินให้แก่ผู้ขายสินค้าที่ได โอนสิทธิบัญชีลูกหนี้ การค้าดังกล่าวใหโดยบริษัทแฟคเตอรอาจจะจ่ายเต็มจํานวนหรือบางส่วนตามแต่ตกลงกัน พร้อมกันนั้นก็จะคิดส่วนลดและค่าธรรมเนียมในการบริหารบัญชีลูกหนี้ ควบคุมการเรียกเก็บหนี้ตามบัญชีเมื่อครบกํ าหนดชํ าระ และรับผิดชอบต่อหนี้สูญตามมูลค่าของการขายสินค้าเป็นเงินเชื่อที่อาจเกิดขึ้น การทําแฟคตอริ่งมีผูเกี่ยวข้อง 3 ฝ่าย คือ

1. บริษัทผู้รับซื้อลูกหนี้ เรียกว่า บริษัท แฟคตอริ่ง (Factoring Company) หรืออาจเรียกว่า แฟคเตอร
2. บริษัทผู้ขายสินค้าเงินเชื่อและขายลูกหนี้ที่เกิดจากการขายสินค้าเงินเชื่อนั้น เรียกว่า ผู้ขาย (Client)
3. บริษัทผู้ซื้อสินค้าเงินเชื่อ และเป็นลูกหนี้ที่หนี้จะถูกขายใหกับแฟคเตอร เรียกว่า บริษัทลูกหนี้ (Customer)

ระยะเวลาของการทําแฟคตอริ่งจะเป็นช่วงสั้น ๆ ประมาณ 7-180 วัน การให้บริการของบริษัทแฟคตอริ่งแบ่งออกเป็นได 2 ระดับ คือ การให้บริการระดับภายในประเทศ (Domestic Factoring) กรณีนี้บริษัทผู้ซื้อและผู้ขายสินค้าจะอยูในประเทศเดียวกัน และการให้บริการระดับระหว่างประเทศ (International Factoring) ที่ผู้ซื้อกับผู้ขายสินค้าจะอยูคนละประเทศ


                 การคำนวณภาษีธุรกิจเฉพาะ
 ผู้ประกอบกิจการมีหน้าที่คำนวณเงินภาษีอากรที่ต้องชำระดังนี้
l ภาษีอากรที่ต้องชำระทั้งสิ้น = ภาษีธุรกิจเฉพาะ + ภาษีท้องถิ่น
l ภาษีธุรกิจเฉพาะ             = ฐานภาษี x อัตราภาษีธุรกิจเฉพาะ
l ภาษีท้องถิ่น                      = ร้อยละ 10 ของภาษีธุรกิจเฉพาะ


               การคำนวณรายรับดังกล่าวข้างต้นให้เป็นไปตามวิธีการหลักเกณฑ์และการปฏิบัติทางบัญชี และเมื่อได้เลือก ปฏิบัติเป็นอย่างใดแล้ว (เช่น เลือกใช้เกณฑ์เงินสดหรือเกณฑ์สิทธิ เป็นต้น) จะต้องถือปฏิบัติเป็นอย่างเดียวตลอดไป เว้นแต่ จะได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรให้เปลี่ยนแปลง

  
 5. หน้าที่ของผู้ประกอบกิจการที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
 
ผู้ประกอบกิจการที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ มีหน้าที่ต้องปฏิบัติดังนี้

1.   หน้าที่ในการจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ
       ผู้ประกอบกิจการที่มีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะ จะต้องยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามแบบคำขอจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ(ภ.ธ.01) ภายใน 30 วันนับแต่วันเริ่มประกอบกิจการ

       วิธีการจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ

            1.1   แบบคำขอจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ (ภ.ธ.01)
                     แบบคำขอที่ใช้ในการจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะได้แก่แบบ ภ.ธ.01 ทั้งนี้ให้ผู้ประกอบกิจการ ขอรับแบบคำขอจดทะเบียนได้ที่สำนักงานสรรรพากรพื้นที่สาขาในท้องที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่  (หรือ ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ ทางอินเตอร์เน็ตที่ www.rd.go.th)
            1.2   การกรอกแบบคำขอจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ การยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ ผู้ประกอบกิจการต้องกรอกแบบคำขอจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ คือ แบบ ภ.ธ.01 จำนวน 3 ฉบับ โดยมีข้อความครบถ้วนถูกต้องตรงกันทั้ง 3 ฉบับ ในการกรอกรายการ ตามแบบ ภ.ธ.01 ผู้ประกอบกิจการต้องแสดงสถานภาพต่างๆ ของการประกอบกิจการ ดังนี้
                     (1)   ชื่อผู้ประกอบกิจการ
                             สำหรับผู้ประกอบกิจการที่เป็นบุคคลธรรมดาให้กรอกชื่อ-นามสกุล ที่อยู่ วัน เดือน ปีเกิด เลขประจำตัวประชาชน และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร
                             สำหรับผู้ประกอบกิจการที่เป็นนิติบุคคล ให้กรอกชื่อของนิติบุคคลที่ใช้ใน การจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัท ตามที่ปรากฏในหนังสือรับรองของนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท กระทรวงพาณิชย์ และชื่อภาษาอังกฤษ (ถ้ามี) พร้อมรายละเอียดเลขที่ทะเบียนนิติบุคคล วัน เดือน ปีที่จดทะเบียน สถานที่จดทะเบียน รอบระยะเวลาบัญชี และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของนิติบุคคลนั้น

                     (2)   ชื่อและสถานที่ตั้งสถานประกอบการ
                             ชื่อและที่ตั้งสำนักงานใหญ่ให้กรอกชื่อของสถานประกอบการของ บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล (ถ้ามี) ซึ่งได้แก่ชื่อทางการค้าและกรอกเลขที่ตั้งของสถานประกอบการหรือที่ตั้ง ของสถานประกอบการที่เป็นสำนักงานใหญ่ชื่อและที่ตั้งสาขา กรณีมีสถานประกอบการหลายแห่งให้ระบุจำนวน สถานประกอบการที่เป็นสาขา พร้อมทั้งกรอกรายละเอียด ชื่อ และที่ตั้งสาขาทั้งหมดลง ในด้านหลังของแบบ ภ.ธ.01
                     (3)   วันเริ่มประกอบกิจการ
                             ให้กรอกวันที่ผู้ประกอบกิจการเริ่มประกอบกิจการจริง พร้อมทั้งกรอก รายละเอียดเกี่ยวกับเงินทุน รายรับ ลูกจ้าง และค่าเช่าสถานประกอบการ
                     (4)   ประเภทของการประกอบกิจการ
                             ให้ผู้ประกอบกิจการเลือกใส่เครื่องหมายหน้าข้อความประเภทของการ ประกอบกิจการแล้วแต่กรณี
                     (5)   เอกสารแนบ
                             ให้ระบุจำนวนเอกสารต่าง ๆ ที่แนบมาพร้อมกับแบบ ภ.ธ.01 ซึ่งจะต้องตรงกับ จำนวนเอกสาร ตามที่ระบุไว้ในด้านหลังของแบบภ.ธ.01
                     (6)   การลงชื่อของผู้ประกอบกิจการ และการประทับตรานิติบุคคล
                             กรณีบุคคลธรรมดา คณะบุคคล ห้างหุ้นส่วนสามัญ กองมรดก ผู้มีอำนาจ ลงชื่อได้แก่ เจ้าของ ผู้อำนวยการ ผู้จัดการ ที่ระบุไว้ตาม (1) หรือผู้รับมอบอำนาจจากบุคคลดังกล่าว
                             กรณีนิติบุคคล ผู้มีอำนาจลงชื่อ ได้แก่ ผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลนั้น ๆ เช่น กรรมการ ผู้เป็นหุ้นส่วน ผู้จัดการ หรือผู้รับมอบอำนาจจากบุคคลดังกล่าว พร้อมทั้งประทับตรานิติบุคคล (ถ้ามี) ด้วย
            1.3   เอกสารที่ต้องแนบพร้อมแบบคำขอจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ
                     (1)   สำเนาหรือภาพถ่ายทะเบียนบ้าน และหรือหลักฐานแสดงการอยู่อาศัยจริงภาพถ่ายบัตร ประจำตัวประชาชน และบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ยื่นคำขอ และหรือภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชน ของผู้รับมอบอำนาจ
                     (2)   สำเนาหรือภาพถ่ายสัญญาเช่าอาคารอันเป็นที่ตั้งสถานประกอบการ(ในกรณีเช่า) หรือ หนังสือยินยอมให้ประกอบการ (ในกรณีอาคารเป็นของผู้อื่นโดยมิได้เช่า) พร้อมด้วยสำเนาหรือภาพถ่ายทะเบียน บ้านอันเป็นที่ตั้งสถานประกอบการ

                     (3)   สำเนาหรือภาพถ่ายหนังสือสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วน (ในกรณีที่เป็นห้างหุ้นส่วน สามัญ หรือคณะบุคคล)
                     (4)   สำเนาหรือภาพถ่ายหนังสือรับรองของนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกระทรวงพาณิชย์ (ในกรณีที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย) พร้อมทั้งสำเนาหนังสือบริคณห์สนธิและข้อบังคับ (ในกรณีที่เป็นบริษัทจำกัดที่ต้องขึ้นตามกฏหมายไทย) และสำเนาหรือภาพถ่ายใบทะเบียนพาณิชย์
                     (5)   ภาพถ่ายบัตรประจำตัวกรรมการผู้จัดการ หรือหุ้นส่วนผู้จัดการ ในกรณีเป็น บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
                     (6)  แผนที่สังเขปหรือภายถ่ายสถานประกอบการ
                     (7)   เอกสารอื่น ๆ (ถ้ามี) เช่นหนังสือมอบอำนาจ กรณีผู้ประกอบกิจการมอบอำนาจให้บุคคลอื่น ดำเนินการจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะแทนผู้ประกอบกิจการ
            1.4   กำหนดเวลาในการจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะผู้ประกอบกิจการที่มีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะจะ ต้องยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะภายใน 30 วัน นับแต่วันเริ่มประกอบกิจการ
            1.5   สถานที่จดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะให้ผู้ประกอบกิจการยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะตาม แบบ ภ.ธ.01 ณ สถานที่ดังต่อไปนี้
                     (1)   ในกรุงเทพมหานคร ได้แก่
                               -   สำนักงานภาษีสรรพากรพื้นที่ ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ หรือ
                               -   สำนักงานเขตท้องที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่
                     (2)   ในจังหวัดอื่นได้แก่
                               -   สำนักงานสรรพากรอำเภอ หรือกิ่งอำเภอท้องที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่
                               ในกรณีผู้ประกอบกิจการมีสถานประกอบการหลายแห่ง หรือไม่มีสถานประกอบการ ผู้ประกอบกิจการ จะต้องยื่น ภ.ธ.01 ณ หน่วยงานตาม (1) หรือ (2) ในท้องที่ต่อไปนี้
                      (ก)   ท้องที่สถานประกอบการที่เป็นสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ถ้าผู้ประกอบกิจการมีสถาน ประกอบการเป็นสำนักงานใหญ่
                     (ข)   ท้องที่ที่สถานประกอบการแห่งหนึ่ง ที่ผู้ประกอบกิจการเลือกตั้งอยู่ถ้าผู้ประกอบการ ไม่มีสถานประกอบการแห่งใดเป็นสำนักงานใหญ่
                     (ค)   ท้องที่ซึ่งที่อยู่อาศัยของผู้ประกอบกิจการตั้งอยู่ ถ้าผู้ประกอบกิจการมีที่อยู่อาศัย แห่งเดียวเป็นสถานประกอบการ
                    (ง)   ท้องที่ซึ่งที่อยู่อาศัยแห่งหนึ่ง (ที่ผู้ประกอบกิจการเลือก) ตั้งอยู่

                                    ถ้าผู้ประกอบกิจการมีที่อยู่อาศัยหลายแห่งเป็นสถานประกอบการสถานประกอบการหมายความว่า สถานที่ซึ่งผู้ประกอบการใช้ประกอบกิจการเป็นประจำ และให้หมายความรวมถึง สถานที่ซึ่งใช้เป็นที่ผลิตหรือเก็บสินค้าเป็นประจำด้วย

                                    ในกรณีที่ผู้ประกอบกิจการไม่มีสถานประกอบการตามวรรคก่อนให้ถือว่า ที่อยู่อาศัย ของผู้ประกอบกิจการนั้น เป็นสถานประกอบการ ถ้าผู้ประกอบกิจการมีที่อยู่อาศัยหลายแห่งให้ผู้ประกอบกิจการ เลือกที่อยู่อาศัยแห่งหนึ่งเป็นสถานประกอบการ

            1.6   ใบทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ
                     (1)   การแสดงใบทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ
                             เมื่อเจ้าพนักงานได้รับคำขอจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะตามแบบ ภ.ธ.01 พร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้องครบถ้วนแล้ว จะออกใบทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะคือ ภ.ธ.20 ให้ ซึ่งจะมีผลให้ผู้ประกอบกิจการ เป็นผู้ประกอบกิจการตามกฎหมาย ตั้งแต่วันเริ่มประกอบกิจการ (วันที่ผู้ประกอบการเริ่มประกอบกิจการจริง)
                             ในการออกใบทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ เจ้าพนักงานจะออกให้ตามจำนวน สถานประกอบการ ที่มีอยู่จริง ตามที่ได้แจ้งไว้ในแบบ ภ.ธ.01 เช่นผู้ประกอบกิจการมีสถานประกอบการหลายแห่ง หรือมีสำนักงานสาขา จะได้ใบทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะเป็นรายสถานประกอบการหรือสาขาตามที่แจ้งไว้ ผู้ประกอบ กิจการจะต้องนำใบทะเบียนดังกล่าวไปแสดงไว้ ณ ที่เปิดเผยซึ่งเห็นได้ง่ายในสถานประกอบการเป็นรายสถานประกอบ การ
                     (2)   ใบทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะสูญหาย ถูกทำลาย หรือชำรุด
                             กรณีใบทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะสูญหาย ถูกทำลายหรือชำรุดในสาระสำคัญ ผู้ประกอบกิจการจะต้องยื่นคำขอรับใบแทนใบทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามแบบ ภ.ธ.04 ณ หน่วยจดทะเบียน ที่ได้จดทะเบียนฯ ไว้ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ทราบถึงการสูญหาย ถูกทำลายหรือชำรุด
                             ในกรณีใบทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะชำรุด จะต้องแนบใบทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ ที่ชำรุดมาพร้อมกับแบบ ภ.ธ.04
                             ในกรณีใบทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะสูญหาย ถูกทำลาย ผู้ประกอบกิจการจะต้องแจ้ง ความต่อสถานีตำรวจท้องที่เพื่อคัดสำเนาบันทึกประจำวันจากพนักงานสอบสวนมาพร้อมกับแบบ ภ.ธ.04 ด้วย

2.   การแก้ไขเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับกิจการต้องแจ้งเปลี่ยนแปลงทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ ได้แก่ แก้ไขเปลี่ยนแปลง รายการที่ได้ จดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะในสาระสำคัญ เช่น
       -   เปลี่ยนแปลงชื่อสถานประกอบการ ประเภทกิจการ ประเภทสินค้า หรือบริการ
       -   เปิดสถานประกอบการเพิ่ม
       -   หยุดประกอบกิจการชั่วคราว
       -   โอนกิจการบางส่วนหรือทั้งหมด
       -   ควบเข้ากันของนิติบุคคล
       -   เลิกประกอบกิจการ
       -   ผู้ประกอบกิจการจดทะเบียนถึงแก่ความตาย
3.   วิธีแจ้งเปลี่ยนแปลงทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ
       ในการแจ้งการเปลี่ยนแปลงทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ ให้ผู้ประกอบกิจการยื่นแบบแจ้งการเปลี่ยนแปลง ทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะตามแบบ ภ.ธ.09 จำนวน 1 ชุด 3 ฉบับ พร้อมทั้งเอกสารที่เกี่ยวข้อง ได้แก่
       -   สำเนาทะเบียนบ้าน
       -   หนังสือแสดงการเปลี่ยนชื่อ นามสกุล
       -   สำเนาหนังสือรับรองของนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท
       -   บัญชีเอกสารประกอบการบันทึกบัญชี
       -   ใบทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ
       -   หนังสือมอบอำนาจ (กรณีมิได้มาดำเนินการเอง) พร้อมบัตรประจำตัวประชาชนของ ผู้มอบและผู้รับมอบ
       -   อื่น ๆ
4.   สถานที่แจ้งเปลี่ยนแปลงทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ
       ให้ผู้ประกอบกิจการจดทะเบียนแจ้งการเปลี่ยนแปลงภาษีธุรกิจเฉพาะ ณ หน่วยจดทะเบียนที่ได้ จดทะเบียนฯ ไว้ภายในกำหนดเวลาแล้วแต่กรณี
5.   กำหนดเวลาแจ้งการเปลี่ยนแปลงทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ
       5.1   แจ้งเปลี่ยนแปลงรายการที่ได้จดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ ในสาระสำคัญ เช่น เปลี่ยนแปลง ชื่อสถานประกอบการ ประเภทกิจการ ประเภทสินค้าหรือบริการ ต้องแจ้งภายใน 15 วันนับจากวันที่มีการเปลี่ยน แปลงเกิดขึ้น
       5.2   แจ้งเปิดสถานประกอบการเพิ่มเติม ต้องแจ้งก่อนวันเปิดสถานประกอบการเพิ่มเติมไม่น้อยกว่า 15 วัน
       5.3   แจ้งปิดสถานประกอบการบางแห่งต้องแจ้งภายใน 15 วันนับจากวันปิดสถานประกอบการ พร้อมคืน ภ.ธ.20 ของสถานประกอบการนั้น

       5.4   แจ้งย้ายสถานประกอบการ
                5.4.1   กรณีสถานประกอบการใหม่อยู่ภายในท้องที่ที่ได้จดทะเบียนฯ ไว้เดิม จะต้องแจ้งก่อน วันย้ายสถานประกอบการไม่น้อยกว่า 15 วันพร้อมคืนภ.ธ.20 ของสถานประกอบการ เดิม ณ หน่วยจดทะเบียน ที่ได้จดทะเบียนฯ ไว้
                5.4.2   กรณีสถานประกอบการใหม่อยู่ต่างท้องที่ จะต้องแจ้งก่อนวันย้ายสถานประกอบการ ไม่น้อยกว่า 15 วัน และยื่น ภ.ธ.09 พร้อมคืน ภ.ธ.20 ของสถานประกอบการเดิม ณ หน่วยจดทะเบียนท้องที่ที่สถาน ประกอบการแห่งใหม่ตั้งอยู่ก่อนวันเปิดสถานประกอบการแห่งใหม่ไม่น้อยกว่า 15 วัน
       5.5   แจ้งหยุดประกอบกิจการชั่วคราวเป็นเวลาติดต่อกันเกิน 30 วันจะต้องแจ้งภายใน15 วันนับ จากวันที่หยุดประกอบกิจการชั่วคราว
       5.6   แจ้งโอนกิจการ (บางส่วนหรือทั้งหมด)
                5.6.1   ผู้โอนกิจการ จะต้องแจ้งก่อนวันโอนกิจการไม่น้อยกว่า 15 วัน และถ้าเป็นการโอนกิจการ ทั้งหมดจะต้องคืน ภ.ธ.20 พร้อมยื่น ภ.ธ.09 ด้วย
                5.6.2   ผู้รับโอนกิจการ
                          5.6.2.1   ถ้าเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนจะต้องแจ้งก่อนวันรับโอนกิจการไม่น้อย กว่า 15 วัน โดยยื่น ภ.ธ099 ณ หน่วยจดทะเบียนที่ผู้รับโอนได้จดทะเบียนฯ ไว้   
                        5.6.2.2   ถ้ามิใช่ผู้ประกอบกิจการ จะต้องแจ้งก่อนวันรับโอนกิจการไม่น้อยกว่า 15 วัน โดยยื่น ภ.ธ.01 ณ หน่วยจดทะเบียนท้องที่ ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ด้วย
       5.7   แจ้งควบกิจการ
                5.7.1   นิติบุคคลเดิม จะต้องแจ้งภายใน 15 วันนับจากวันควบเข้ากัน พร้อมกับคืน ภ.ธ.20 ของสถานประกอบการเดิม ณ หน่วยจดทะเบียนที่ผู้รับโอนได้จดทะเบียนฯ ไว้
                5.7.2   นิติบุคคลใหม่ จะต้องแจ้งภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้จดทะเบียนนิติบุคคลใหม่ โดยยื่น ภ.ธ.01 ณ หน่วยจดทะเบียนท้องที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ด้วย
       5.8   แจ้งเลิกประกอบกิจการ ต้องแจ้งภายใน 15 วันนับจากวันเลิกประกอบกิจการ พร้อมคืน ภ.ธ.20
       5.9   แจ้งผู้ประกอบกิจการจดทะเบียนซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาถึงแก่ความตาย
                5.9.1   กรณีเป็นผู้ครอบครองมรดก ใช้สิทธิดำเนินกิจการของผู้ตาย จะต้องแจ้งโดยเร็วที่สุด
                5.9.2   กรณีเป็นผู้ครอบครองมรดก ไม่ใช้สิทธิดำเนินกิจการของผู้ตาย หรือใช้สิทธิดำเนิน กิจการแล้วแต่พ้นกำหนดเวลา 60 วัน หรือพ้นกำหนดเวลาที่อธิบดีกรมสรรพากรขยายให้แล้วไม่มีผู้จัดการมรดก หรือทายาทขอโอนกิจการของผู้ตาย จะต้องแต่ภายใน 15 วันนับจากวันที่ผู้ประกอบกิจการจดทะเบียนถึงแก่ความตาย หรือนับแต่วันพ้นกำหนดเวลาดำเนินกิจการดังกล่าว พร้อมคืน ภ.ธ.20 ด้วย
                5.9.3   กรณีเป็นผู้จัดการมรดกหรือทายาทที่ประสงค์จะประกอบกิจการของผู้ตายต่อไป และเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน จะต้องแจ้งก่อนวันรับโอนกิจการไม่น้อยกว่า 15 วัน พร้อมกับคืน ภ.ธ.20 ของผู้ตาย
                5.9.4   กรณีเป็นผู้จัดการมรดกหรือทายาทที่ประสงค์จะประกอบกิจการของผู้ตายต่อไป แต่มิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียน จะต้องแจ้งก่อนวันรับโอนกิจการไม่น้อยกว่า 15 วัน โดยยื่น ภ.ธ.01 พร้อมกับคืน ภ.ธ.20 ของผู้ตาย       
  
 6. การยื่นแบบแสดงรายการภาษีธุรกิจเฉพาะ
 
1.   ผู้มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีธุรกิจเฉพาะ ได้แก่

       1.1   บุคคลซึ่งประกอบกิจการที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ โดยกิจการนั้นไม่ได้รับยกเว้น ภาษีธุรกิจเฉพาะ
       1.2   ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการประกอบกิจการในราชอาณาจักรของผู้ประกอบกิจการอยู่นอกราชอาณาจักร
       1.3   ลูกจ้าง ตัวแทน หรือผู้ทำการแทนซึ่งมีอำนาจในการจัดการแทนโดยตรงหรือโดยปริยายที่อยู่ในราช อาณาจักรของผู้ประกอบกิจการที่อยู่นอกราชอาณาจักร
2.   แบบแสดงรายการที่ใช้
       แบบแสดงรายการภาษีธุรกิจเฉพาะ ที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดให้ใช้ในการยื่นแบบแสดงรายการภาษี ธุรกิจเฉพาะได้แก่ แบบ ภ.ธ.40
3.   หน้าที่ในการจัดทำรายงาน
       ผู้ประกอบกิจการที่มีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะ มีหน้าที่จัดทำรายงานแสดงรายรับก่อนหักรายจ่ายที่ต้อง เสียภาษีและรายรับที่ไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีรายงานดังกล่าวให้จัดทำตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากร กำหนดโดยให้ จัดทำเป็นรายสถานประกอบการทั้งนี้การลงรายการในรายงานให้ลง ภายใน 3 วันทำการนับแต่วันที่มีรายรับเว้นแต่อธิบดี กรมสรรพากรเห็นสมควร สำหรับการประกอบกิจการบางประเภทหรือในกรณีจำเป็นเฉพาะรายอธิบดีจะกำหนดเป็นอย่าง อื่นตามที่เห็นสมควรก็ได้
4.   หน้าที่ในการเก็บรักษารายงานและเอกสารหลักฐาน
       ผู้ประกอบกิจการที่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะต้องเก็บและรักษารายงานพร้อมทั้งเอกสารประกอบ การลงรายงานหรือเอกสารที่อธิบดีกำหนดไว้ ณ สถานประกอบการจัดทำรายงานนั้นหรือถานที่อื่นที่อธิบดีกรมสรรพากร กำหนดเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี นับแต่วันที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีหรือวันทำรายงานแล้วแต่กรณี

5.   หน้าที่ในการออกใบรับ

       ผู้ประกอบกิจการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะซึ่งได้รับเงิน หรือรับชำระราคาจากการขายสินค้า หรือการให้บริการหรือจากการกระทำกิจการรวมเงินหรือราคาที่ได้รับชำระแต่ละครั้ง เกิน 100 บาท ต้องออกใบรับให้แก่ ผู้จ่ายเงินหรือผู้ชำระราคาในทันทีทุกคราวที่รับเงินหรือรับชำระราคาไม่ว่าจะมีการเรียกร้องให้ออกใบรับหรือไม่ก็ตาม

  
 7. การขอคืนภาษีธุรกิจเฉพาะ
 
1.   ผู้มีสิทธิขอคืนภาษีธุรกิจเฉพาะ ได้แก่

       1.1   ผู้ประกอบกิจการที่มีหน้าที่เสียภาษี ซึ่งได้ชำระภาษีไว้เกินหรือผิด หรือซ้ำ

       1.2   ผู้ไม่มีหน้าที่เสียภาษีแต่ได้ชำระภาษีไว้

2.   ผู้มีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะ มีสิทธิขอคืนเงินภาษีได้โดยใช้คำร้องขอคืนเงินภาษีอากร คือแบบ ค.10

3.   การยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามแบบ ค.10 จะต้องแนบเอกสารที่เกี่ยวข้องไปพร้อมกับคำร้อง ด้วยได้แก่
       3.1   หนังสือรับรองการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล กรณีผู้ขอคืนเป็นนิติบุคคล
       3.2   ใบเสร็จรับเงินภาษีธุรกิจเฉพาะ
       3.3   หลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่ขอคืน

4. ผู้มีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะ มีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีภายใน 3 ปีนับแต่วันพ้นกำหนดเวลายื่น แบบแสดงรายการภาษี    
 8. กำหนดเวลาในการยื่นแบบแสดงรายการภาษี   
-   ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ มีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการ และชำระภาษีโดยใช้แบบ ภ.ธ.40 (แสดงประเภทของกิจการ จำนวนรายรับ จำนวนภาษีธุรกิจเฉพาะ และภาษีท้องถิ่นอีกร้อยละ 10 ของภาษีธุรกิจเฉพาะ)
-   ยื่นแบบแสดงรายการเป็นรายเดือนภาษี ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป ไม่ว่าจะมีรายรับในเดือนนั้น หรือไม่ก็ตาม
-   ภาษีในเดือนภาษีใด เมื่อรวมคำนวณแล้วมีจำนวนไม่ถึง 100บาท ผู้ประกอบกิจการไม่ต้องเสียภาษีสำหรับ เดือนภาษีนั้น แต่ยังคงมีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการตามปกติ    
 9. สถานที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษี   
        9.1 กรณีทั่วไป
ผู้ประกอบกิจการจะต้องยื่นแบบ ภ.ธ.40 พร้อมกับชำระภาษี (ถ้ามี) ณ สถานที่ดังต่อไปนี้

      (1)   ในเขตกรุงเทพมหานคร ให้ยื่น ณ
                -   สำนักงานสรรพากรพื้นที่ หรือ สรรพากรพื้นที่สาขา (เขต/อำเภอ) ในท้องที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่
                       (2)   ในเขตจังหวัดอื่น ให้ยื่น ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา (อำเภอ/กิ่งอำเภอ) ในท้องที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่  
    หรือ ยื่นแบบ ภ.ธ.40 ทางอินเตอร์เน็ต ที่          www.rd.go.th

     9.2 กรณีการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร
                 กรณีการขายอสังหาริมทรัพย์ ที่ต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครอง   เช่น ที่ดิน หรือ สิ่งปลูกสร้าง  ผู้ขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหากำไร  ต้องยื่นแบบ ภ.ธ.40 พร้อมชำระภาษีธุรกิจเฉพาะ  ต่อเจ้าพนักงานผู้รับจดทะเบียนสิทธิ์และนิติกรรม  พร้อมกับ การจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครอง    สำนักงานที่ดิน ในวันที่มีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์หรือ สิทธิครอบครอง
              กรณีการขายอสังหาริมทรัพย์ ที่ไม่ต้อง จดทะเบียน  เช่น คอนโดมิเนียม   ห้องชุด ผู้ขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหากำไร  ต้องยื่นแบบ ภ.ธ.40   พร้อมชำระภาษีธุรกิจเฉพาะ ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ หรือ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่ขาย เช่นเดียวกับผู้ประกอบกิจการทั่วไป

















อากรแสตมป์



ตราสารที่ต้องเสียอากรแสตมป์
         คำว่า ตราสารตามประมวลรัษฎากรหมายถึง เอกสารที่ต้องเสียอากรแสตมป์ ตามที่กำหนดไว้ในบัญชีอัตรา อากรแสตมป์ ซึ่งปัจุจบันมีทั้งหมด 28 ลักษณะตราสาร เช่น ตราสารเช่าที่กับโรงเรือน เช่าซื้อทรัพย์สิน จ้างทำของ กู้ยืมเงิน ฯลฯ อากรแสตมป์เป็นภาษีอากรที่จัดเก็บจากการกระทำตราสาร โดยคำว่า กระทำ หมายความว่า การลงลาย มือชื่อตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

ผู้มีหน้าที่เสียอากรแสตมป์ มีดังนี้

      1.   บุคคลตามที่ระบุไว้ในช่องที่ 3 ของบัญชีอัตราอากรแสตมป์ เช่น ผู้ให้เช่าผู้โอน ผู้ให้กู้ ผู้รับประกันภัย ฯลฯ
      2.   ถ้าตราสารทำขึ้นนอกประเทศ ให้เป็นหน้าที่ของผู้ทรงตราสารคนแรกในประเทศเป็น ผู้เสียอากรภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับตราสารนั้น
            ถ้าหากไม่ได้ปฏิบัติตามความข้างต้น ผู้ทรงคนใดคนหนึ่งต้องเสียอากรแล้วจึงยื่นตราสารเพื่อให้จ่ายเงิน รับรอง สลักหลัง โอนหรือถือเอาประโยชน์ได้
            ผู้ทรงตราสารคนใด ได้ตราสารตามความข้างต้นไว้ในครอบครองก่อนพ้นกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับตราสารนั้น จะเป็นผู้เสียอากรก็ได้โดยมีสิทธิไล่เบี้ยจากผู้ทรงคนก่อนๆ
      3.   ตั๋วเงินที่ยื่นให้ชำระเงิน มิได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์ ผู้รับตั๋วจะเสียอากรและใช้สิทธิไล่เบี้ยจาก ผู้มีหน้าที่เสียอากร หรือหักค่าอากรจากเงินที่จะชำระก็ได้
      4.   ผู้มีหน้าที่เสียอากร ตามที่ระบุไว้ในบัญชีอัตราอากรแสตมป์ อาจตกลงให้คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง เป็นผู้เสียอากรแทนตนก็ได้ เว้นแต่กรณีตาม 2.\

วิธีการเสียอากร
 วิธีการเสียอากรแสตมป์สำหรับการทำตราสาร เรียกว่า ปิดแสตมป์บริบูรณ์ซึ่งหมายความว่า

1.  ในกรณีแสตมป์ปิดทับ คือการได้เสียอากรโดยปิดแสตมป์ทับกระดาษก่อนกระทำหรือใน ทันทีที่ทำตราสารเป็นราคาไม่น้อยกว่าอากรที่ต้องเสียและได้ขีดฆ่าแสตมป์นั้นแล้ว หรือ

2.   ในกรณีแสตมป์ดุน คือการได้เสียอากรโดยใช้กระดาษมีแสตมป์ดุนเป็นราคาไม่น้อยกว่า อากรที่ต้องเสีย และขีดฆ่าแล้ว หรือโดยยื่นตราสารให้พนักงานเจ้าหน้าที่ประทับแสตมป์ดุน และชำระเงินเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าอากรที่ต้องเสียและขีดฆ่าแล้ว หรือ

3.   ในกรณีชำระเป็นตัวเงิน คือการได้เสียอากรเป็นตัวเงิน เป็นราคาไม่น้อยกว่าอากรที่ต้องเสียตาม บทบัญญัติในหมวดอากรแสตมป์ หรือตามระเบียบที่อธิบดีจะได้กำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี

การปิดแสตมป์บริบูรณ์ตามข้อ 1. และ 2. ดังกล่าวข้างต้น อธิบดีมีอำนาจสั่งให้ปฏิบัติตาม ที่กำหนดในข้อ 3. แทนได้ คือ กำหนดให้เสียอากรเป็นตัวเงิน เช่น กรณีตั๋วแลกเงิน เช็ค ใบรับรางวัลฉลากกินแบ่ง ใบรับเกี่ยวกับ อสังหาริมทรัพย์ ใบรับเกี่ยวกับยานพาหนะ ตราสารตั๋วสัญญาใช้เงินเฉพาะที่บริษัทเงินทุนหรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ เป็นผู้ออกตั๋ว จ้างทำของ เฉพาะที่รัฐบาล องค์การของรัฐบาลเป็นผู้ว่าจ้างและมีสินจ้างตั้งแต่ 200,000 บาทขึ้นไป กู้ยืมเงินหรือการตกลงให้เบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคาร กรมธรรม์ประกันภัย ตั๋วสัญญาใช้เงิน เลตเตอร์ออฟเครดิต ฯลฯ

การขอเสียอากรเป็นตัวเงิน

การขอเสียอากรเป็นตัวเงิน ก็เพื่อความสะดวกในการเสียอากร ที่มีค่าอากรแสตมป์เป็นจำนวนมาก ไม่สะดวกในการใช้ดวงแสตมป์อากรปิดบนตราสารหรือในกรณีไม่สะดวกในการชำระค่าอากร โดยใช้แสตมป์ดุน การขอเสียอากรเป็นตัวเงิน ปฏิบัติดังนี้

(1)   การขอเสียอากรเป็นตัวเงิน ใช้แบบ อ.ส.4 (แบบขอและอนุมัติให้เสียอากรแสตมป์เป็นตัวเงิน)ยื่นต่อพนักงาน เจ้าหน้าที่อากรแสตมป์ โดยแนบตราสารที่ขอเสียอากรไปด้วย ให้ยื่นต่อสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา
(2)   สำหรับตราสารที่เป็น

        (2.1)   ตั๋วแลกเงินหรือตราสารทำนองเดียวกันที่ใช้อย่างตั๋วแลกเงินเฉพาะที่ธนาคารประกอบกิจการ ในราชอาณาจักรเป็นผู้สั่งจ่าย ตามลักษณะแห่งตราสาร 9(1) และใบรับฝากเงินประเภท ประจำของธนาคารโดยมี ดอกเบี้ย ตามลักษณะแห่งตราสาร 13

        (2.2)   เช็คที่ออกในราชอาณาจักร ตามลักษณะแห่งตราสาร 12

        (2.3)   เช็คสำหรับผู้เดินทางที่ออกหรือจำหน่ายในราชอาณาจักร ตามลักษณะแห่งตราสาร 15 มีวิธีการเสียอากรเป็นตัวเงินดังนี้

                     -   ตราสารตามข้อ (2.1) ให้ธนาคารผู้สั่งจ่ายหรือผู้รับฝาก แล้วแต่กรณีชำระอากรเป็นตัวเงิน แทนการปิดแสตมป์

                     -   ตราสารตามข้อ (2.2) และ (2.3) ให้ผู้สั่งจ่ายหรือผู้ทรงคนแรกชำระอากรเป็นตัวเงินแทน การปิดแสตมป์ โดยชำระไว้ต่อธนาคาร

                     -   ตราสารตามข้อ (2.3) ที่ธนาคารเป็นผู้ออก ให้ธนาคารชำระอากรเป็นตัวเงินแทน การปิดแสตมป์

                     -   ธนาคารผู้ชำระเงินหรือรับชำระเงินค่าอากร ที่มีสำนักงานตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร นำเงินค่าอากรที่มีหน้าที่ต้องชำระ หรือได้รับชำระไว้ใปยื่นขอชำระต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ อากรแสตมป์ ณ สำนักงานสรรพากรอำเภอ โดยใช้แบบ อ.ส.4ก (แบบขอเสียอากรแสตมป์เป็นตัวเงินสำหรับตราสารเช็คหรือตั๋วแลกเงิน) พร้อมชำระเงิน ส่วนธนาคารที่มีสำนักงานตั้งอยู่ในท้องที่นอกเขตกรุงเทพมหานคร ให้ยื่นชำระเงิน ณ สำนักงานสรรพากรอำเภอ หรือกิ่งอำเภอท้องที่

(3)   ใบรับสำหรับการโอนหรือก่อตั้งสิทธิใดๆ เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ในเมื่อนิติกรรมที่เป็นเหตุให้ ออกใบรับนั้นมีการจดทะเบียนตามกฎหมาย ตามลักษณะแห่งตราสาร 28(ข) ให้ชำระค่าอากรแสตมป์เป็นตัวเงิน ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม (กรมที่ดิน)

(4)   ใบรับเงินรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาล กำหนดให้ชำระอากรเป็นตัวเงินต่อสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล



ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 37)
เรื่อง    กำหนดวิธีการชำระอากรเป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์อากร สำหรับตราสารบางลักษณะ

---------------------------------------------

                อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 และมาตรา 103(3) แห่งประมวล รัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ.2496 และมาตรา 123 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราช บัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 12) พ.ศ.2497 อธิบดีกรมสรรพากรโดย อนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประกาศดังต่อไปนี้

                ข้อ 1  ในประกาศนี้
                           “ตราสารหมายความว่า ตราสารที่ต้องชำระอากรเป็นตัวเงิน ตามประกาศนี้
                           “สถาบันการเงินหมายความว่า บริษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ บริษัทประกันภัยและธนาคาร
                           “ธนาคารหมายความว่า ธนาคารหรือสาขาของธนาคารตาม กฎหมายว่าด้วยธนาคารพาณิชย์ หรือกฎหมายว่าด้วยการธนาคารนั้น ๆ

                ข้อ 2  ให้กำหนดวิธีการชำระอากรเป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์ตามมาตรา 103(3) แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับตราสารแห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ ท้ายหมวด 6 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ดังต่อไปนี้
                           (1) เช่าที่ดิน โรงเรือน สิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นหรือแพเฉพาะที่ รัฐบาล องค์การของรัฐบาล เทศบาล สุขาภิบาล หรือองค์การบริหารราชการส่วนท้องถิ่น เป็นผู้เช่า และเช่าอสังหาริมทรัพย์ เฉพาะที่ต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจด ทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน ตามลักษณะแห่งตราสาร 1. แห่งบัญชี อัตราอากรแสตมป์
                           (2) เช่าซื้อทรัพย์สิน ตามลักษณะแห่งตราสาร 3. แห่งบัญชีอัตรา อากรแสตมป์ เฉพาะที่นิติบุคคลหรือสถาบันการเงินเป็นผู้ให้เช่าซื้อทรัพย์สินนั้น
                           (3) จ้างทำของ เฉพาะที่รัฐบาล องค์การของรัฐบาล เทศบาล สุขาภิบาล หรือองค์การบริหารราชการส่วนท้องถิ่น เป็นผู้ว่าจ้างและมีสินจ้างตั้งแต่ 200,000 บาทขึ้นไป ตามลักษณะแห่งตราสาร 4. แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์
                           (4) กู้ยืมเงิน หรือการตกลงให้เบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคาร ตาม ลักษณะแห่งตราสาร 5. แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์
                           (5) กรมธรรม์ประกันภัย ตามลักษณะแห่งตราสาร 6. แห่งบัญชี อัตราอากรแสตมป์
                           (6) ตั๋วสัญญาใช้เงินหรือตราสารทำนองเดียวกันที่ใช้อย่างตั๋วสัญญา ใช้เงิน ตามลักษณะแห่งตราสาร 9.(2) แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์
                           (7) เลตเตอร์ออฟเครดิต ตามลักษณะแห่งตราสาร 14. แห่งบัญชี อัตราอากรแสตมป์
                           (8) ใบรับของ ตามลักษณะแห่งตราสาร 16. แห่งบัญชีอัตราอากร แสตมป์ เฉพาะกิจการรับขนส่งทางอากาศที่กระทำโดยผู้ประกอบการที่เป็นนิติบุคคลที่จัดตั้ง ขึ้นตามกฎหมายไทย
                           (9) ค้ำประกัน ตามลักษณะแห่งตราสาร 17. แห่งบัญชีอัตราอากร แสตมป์ เฉพาะที่สถาบันการเงิน แต่ไม่รวมถึงบริษัทประกันภัยเป็นคู่สัญญา
                           (10) คู่ฉบับหรือคู่ฉีกแห่งตราสาร ตามลักษณะแห่งตราสาร 23. แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ เฉพาะที่ต้นฉบับแห่งตราสารนั้น ต้องชำระอากรแสตมป์เป็น ตัวเงินแทนการปิดแสตมป์อากร
                           (11) ใบรับสำหรับการขาย ขายฝาก ให้เช่าซื้อ หรือโอนกรรมสิทธิ์ ยานพาหนะ ทั้งนี้ เฉพาะยานพาหนะซึ่งมีการจดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยยานพาหนะนั้น ๆ ตามลักษณะแห่งตราสาร 28.(ค) แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ เฉพาะที่นิติบุคคลเป็นผู้ขาย และผู้ให้เช่าซื้อยานพาหนะนั้น ทั้งนี้ ไม่รวมถึงยานพาหนะที่ใช้แล้ว
                           (12) ใบรับสำหรับการขายเรือกำปั่น เรือที่มีระวางตั้งแต่หกตันขึ้นไป เรือกลไฟ หรือเรือยนต์ที่มีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป ตามลักษณะแห่งตราสาร 28.(ค) แห่ง บัญชีอัตราอากรแสตมป์

                ข้อ 3  วิธีเสียอากรเป็นตัวเงิน
                           (1) สำหรับตราสารตามข้อ 2(1)
                                 (ก) กรณีเช่าที่ดิน โรงเรือน สิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นหรือแพ เฉพาะที่รัฐบาล องค์การของรัฐบาล เทศบาล สุขาภิบาล หรือองค์การบริหารราชการ ส่วนท้องถิ่นเป็นผู้เช่า ให้ผู้ให้เช่าชำระอากรเป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์ต่อพนักงาน เจ้าหน้าที่อากรแสตมป์ โดยต้องนำตราสารมาสลักหลังตามระเบียบของกรมสรรพากรก่อน กระทำตราสาร หรือภายใน 15 วันนับแต่วันถัดจากวันกระทำตราสารนั้น
                                 (ข) กรณีเช่าอสังหาริมทรัพย์ เฉพาะที่ต้องจดทะเบียนต่อ พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน ให้ชำระอากร เป็นตัวเงินต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมนั้น ๆ ก่อนหรือในวันที่มี การรับจดทะเบียนดังกล่าว และให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดังกล่าวนำเงินค่าอากรแสตมป์ที่ได้รับ ชำระไว้นั้น ส่งเป็นรายได้แผ่นดินตามระเบียบของทางราชการ
                           (2) สำหรับตราสารตามข้อ 2(2)
                                 (ก) กรณีนิติบุคคลเป็นผู้ให้เช่าซื้อทรัพย์สิน เฉพาะที่เป็นอสังหา ริมทรัพย์ และยานพาหนะที่มีการจดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยยานพาหนะนั้น ๆ แต่ ไม่รวมถึงยานพาหนะใช้แล้ว ให้ชำระอากรเป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์
                                 “(ข) กรณีสถาบันการเงินเป็นผู้ให้เช่าซื้อทรัพย์สิน ให้ชำระอากรเป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 51) ใช้บังคับ 20 มิถุนายน 2549 เป็นต้นไป)
                           (3) สำหรับตราสารตามข้อ 2(3) ให้ผู้รับจ้างชำระอากรเป็นตัวเงิน แทนการปิดแสตมป์ ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่อากรแสตมป์ โดยต้องนำตราสารมาสลักหลังตาม ระเบียบของกรมสรรพากรก่อนกระทำตราสาร หรือภายใน 15 วันนับแต่วันถัดจากวัน กระทำตราสารนั้น
                           (4) สำหรับตราสารตามข้อ 2(4) ให้สถาบันการเงินผู้ให้กู้หรือตกลง ให้เบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคาร ชำระอากรเป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์
                           (5) สำหรับตราสารตามข้อ 2(5) ให้ผู้รับประกันภัยชำระอากร เป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์
                           (6) สำหรับตราสารตามข้อ 2(6) ให้สถาบันการเงิน แต่ไม่ รวมถึงบริษัทประกันภัย และธนาคารผู้ออกตั๋วชำระอากรเป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์
                           (7) สำหรับตราสารตามข้อ 2(7)
                                 (ก) กรณีออกในประเทศไทย ให้ธนาคารผู้ออกตราสาร ชำระอากรเป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์
                                 (ข) กรณีออกในต่างประเทศ และให้ชำระเงินในประเทศไทย ให้ธนาคารที่เป็นผู้ทรงคนแรกในประเทศไทยชำระอากรเป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์
                           (8) สำหรับตราสารตามข้อ 2(8) ให้ผู้ออกใบรับ ชำระอากร เป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์
                           (9) สำหรับตราสารตามข้อ 2(9) ให้ผู้ค้ำประกันชำระอากรเป็น ตัวเงินแทนการปิดแสตมป์ โดยชำระไว้ต่อสถาบันการเงิน แต่ไม่รวมถึงบริษัทประกันภัยที่ เป็นคู่สัญญา
                           (10) สำหรับตราสารตามข้อ 2(10) ให้คู่สัญญาหรือผู้กระทำตราสาร ชำระอากรเป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์ โดยให้ปฏิบัติเช่นเดียวกับต้นฉบับ
                           (11) สำหรับตราสารตามข้อ 2(11) ให้นิติบุคคลผู้ออกใบรับชำระ อากรเป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์ ก่อนหรือในวันที่มีการรับจดทะเบียนดังกล่าว
                           (12) สำหรับตราสารตามข้อ 2(12) ให้ผู้ออกใบรับชำระอากรเป็น ตัวเงินแทนการปิดแสตมป์ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่อากรแสตมป์ โดยต้องนำตราสารมาสลักหลัง ตามระเบียบของกรมสรรพากรก่อนกระทำตราสาร หรือภายใน 15 วันนับแต่วันถัดจากวัน กระทำตราสารนั้น เว้นแต่อธิบดีกรมสรรพากรจะกำหนดเป็นอย่างอื่น

                ข้อ 4  ตราสารตามข้อ 2(1) เฉพาะอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน ถือว่าปิดแสตมป์บริบูรณ์ต่อเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่อากรแสตมป์ได้บันทึกข้อความไว้ในตราสารนั้นว่าได้ชำระค่าอากรแสตมป์เป็นตัวเงิน.................บาท แล้ว ตามใบเสร็จรับเงินเล่มที่................เลขที่...................ลงวันที่............................แล้วลงลายมือชื่อพนักงานเจ้าหน้าที่อากรแสตมป์ และวันเดือนปีที่บันทึกข้อความดังกล่าว

                ข้อ 5  ให้ผู้ที่ต้องเสียอากรตามข้อ 2(2)(4)(5)(6)(7)(8)(10) และ (11) ระบุข้อความในตราสารตามข้อ 2 ว่า ชำระอากรแล้ว
                           ให้สถาบันการเงิน แต่ไม่รวมถึงบริษัทประกันภัยเป็นผู้รับชำระเงิน ค่าอากรจากผู้ที่ต้องเสียอากรตามข้อ 2(9) ระบุข้อความในตราสารนั้นว่าชำระอากรแล้ว

                “ข้อ 6  เงินค่าอากรที่ต้องชำระตามข้อ 2 และเงินค่าอากรที่รับชำระตามข้อ 5 วรรคสอง ให้ผู้ที่ต้องเสียอากรและผู้รับชำระอากรในกรณีดังกล่าวไปยื่นขอชำระและชำระเงิน ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาในเขตท้องที่ที่สำนักงานตั้งอยู่ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาในเขตท้องที่ที่มีการกระทำตราสารที่ต้องเสียอากรนั้น หรือสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาในเขตท้องที่อื่น ทั้งนี้โดยใช้แบบขอเสียอากรเป็นตัวเงินตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด และให้ชำระเดือนละ 2 งวด คือ
                           (1) งวดแรก ค่าอากรที่ต้องชำระหรือได้รับเป็นตัวเงินตั้งแต่วันที่ 1 ถึงวันที่ 15 ของเดือน ให้นำไปยื่นชำระภายในวันที่ 22 ของเดือนเดียวกัน
                           (2) งวดที่สอง ค่าอากรที่ต้องชำระหรือได้รับเป็นตัวเงินตั้งแต่วันที่ 16 ถึงวันสุดท้ายของเดือน ให้นำส่งภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป” ( แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 48) ใช้บังคับ 5 สิงหาคม 2547 เป็นต้นไป )

                ข้อ 7  เมื่อผู้ต้องเสียอากรนำเงินค่าอากรที่ต้องชำระหรือได้รับเป็นตัวเงินไว้ จากผู้ที่ต้องเสียอากรไปชำระ ณ สถานที่และภายในกำหนดเวลาตามข้อ 6 เรียบร้อยแล้ว ก็ให้ถือว่าตราสารตามรายการในแบบขอเสียอากรเป็นตัวเงิน ได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์แล้ว

                ข้อ 8  ให้ผู้ที่ต้องเสียอากรทำทะเบียนคุมตราสารตามข้อ 2(2)(4)(5)(6) (7)(8)(9)(10) และ (11) ที่มีอยู่ และจ่ายไป ส่วนตราสารตามข้อ 2(5) ให้ใช้แบบ ทะเบียนรับเบี้ยประกันวินาศภัย การประกันประเภทอัคคีภัย ที่นายทะเบียนตามกฎหมาย ดังกล่าวเป็นผู้กำหนดเป็นทะเบียนคุมตราสาร

                ข้อ 9  ประกาศนี้ให้ใช้บังคับสำหรับ
                           (ก) ตราสารตามข้อ 2(5) กรมธรรม์ประกันภัย ตามลักษณะแห่ง ตราสาร 6. แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ เมื่อพ้นหกสิบวันนับแต่วันถัดจากวันประกาศใน ราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
                           (ข) ตราสารตามข้อ 2(1)(2)(3)(4)(6((7)(8)(9)(10) (11) และ (12) เมื่อพ้นหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2538

ร้อยเอกสุชาติ เชาว์วิศิษฐ
อธิบดีกรมสรรพากร

(ร.จ. ฉบับประกาศทั่วไป เล่ม 112 ตอนพิเศษ 46 ง วันที่ 11 ธันวาคม 2538)


การยกเว้นอากร
  ยกเว้นตามพระราชกฤษฎีกา
ยกเว้นอากรให้แก่
- ธนาคารแห่งประเทศไทย
- ธนาคารอาคารสงเคราะห์
- ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
- ผู้ประกอบการขนส่งเฉพาะการรับเงินที่เป็นค่ารับขนส่งคนโดยสาร
- บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
- ผู้ค้ำประกัน เฉพาะการค้ำประกันหนี้เนื่องแต่การที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ การเกษตรให้กู้ยืมหรือให้ยืม
- ผู้ออกใบรับ เฉพาะการรับเงินที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรให้กู้ยืมหรือให้ยืม
- การเคหะแห่งชาติ
- ผู้โอน เฉพาะโอนหลักทรัพย์จดทะเบียน หรือหลักทรัพย์รับอนุญาต ที่ตลาดหลักทรัพย์ แห่งประเทศไทย เป็นนายทะเบียนสำหรับการโอนหลักทรัพย์นั้น
- ผู้ที่ต้องเสียอากรสำหรับตราสารที่ต้องเสียค่าอากรแสตมป์ไม่ถึงหนึ่งบาท หรือตราสารที่คำนวณ ค่าอากรแสตมป์แล้ว ต้องเสียอากรแสตมป์ตั้งแต่หนึ่งบาทขึ้นไป เฉพาะส่วนที่เป็นเศษของบาท
- ผู้โอน เฉพาะการโอนพันธบัตรธนาคารอาคารสงเคราะห์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็น นายทะเบียนสำหรับการโอนพันธบัตรนั้น
- ยกเว้นอากรแสตมป์สำหรับตราสารใบรับ ซึ่งสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย และองค์การกุศล สาธารณะอื่นที่เป็นนิติบุคคล ซึ่งมีวัตถุประสงค์ทำนองเดียวกันเป็นผู้ออก
- ผู้โอนหุ้นในศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
- องค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน
- บรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน
- ผู้ที่ต้องเสียอากร เฉพาะกรณีที่ต้องเสียอากรตามบัญชีอากรแสตมป์สำหรับตราสารที่ทำขึ้นระหว่าง นิติบุคคลเฉพาะกิจกับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่นที่เกิดขึ้นเนื่องจากการแปลงสินทรัพย์หลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วย นิติบุคคลเฉพาะกิจเพื่อการแปลงสินทรัพย์ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
- กองทุนอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เพื่อแก้ไขปัญหา ในระบบสถาบันการเงิน และกองทุนรวมเพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงิน ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
- บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย
- ผู้โอน เฉพาะการโอนหลักทรัพย์จดทะเบียนที่บุคคลซึ่งได้รับอนุญาต จากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์เป็น นายทะเบียนหลักทรัพย์สำหรับการโอนหลักทรัพย์นั้น
- ผู้ประกอบกิจการซึ่งเป็นบริษัทมหาชนจำกัดหรือบริษัทจำกัด เฉพาะกรณีที่ผู้ประกอบกิจการดังกล่าวควบเข้ากัน หรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กัน ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
- รัฐวิสาหกิจ เฉพาะการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการนำทุนบางส่วนหรือทั้งหมดมาเปลี่ยนสภาพ เป็นของบริษัท จำกัด หรือบริษัท มหาชน จำกัด ตามกฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจ
- อนุญาโตตุลาการ เฉพาะตราสารคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ
- สถาบันพัฒนาองค์การชุมชน (องค์การมหาชน)
- ผู้ที่ต้องเสียอากร เฉพาะตราสารที่ต้องเสียอากรแสตมป์ในกิจการซื้อหรือขายหลักทรัพย์โดยมีสัญญาขายหรือซื้อคืน เฉพาะในส่วนของหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
- กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เฉพาะการกระทำตราสารในการให้กู้ยืมเงินแก่สมาชิกตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2545 เป็นต้นไป
- กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และสิทธิเรียกร้องที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
- ผู้ขาย เฉพาะการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการขายอสังหาริมทรัพย์ดังต่อไปนี้

(ก) บ้าน โรงเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างอื่น ซึ่งโดยปกติใช้ประโยชน์เพื่อเป็นที่อยู่อาศัย
(ข) อสังหาริมทรัพย์ตาม (ก) พร้อมที่ดิน
(ค) ห้องชุดสำหรับการอยู่อาศัยในอาคารชุดตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด 
ทั้งนี้ เฉพาะสำหรับกรณีการทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ซึ่งผู้โอนได้ใช้เป็นที่อยู่อาศัยอันเป็นแหล่งสำคัญ โดยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์นั้น ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด   
           การได้รับยกเว้นตามวรรคหนึ่ง ต้องปรากฏว่าภายในกำหนดเวลาหนึ่งปีก่อนหรือนับตั้งแต่วันที่ทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว ผู้ขายได้ทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์แห่งใหม่ซึ่งมีลักษณะตาม (ก) (ข) หรือ (ค) เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของตน และให้ได้รับยกเว้นเท่ากับค่าอากรแสตมป์ที่คำนวณได้จากจำนวนมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว แต่ไม่เกินจำนวนมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์แห่งใหม่
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 444) พ.ศ. 2548 ใช้บังคับ 30 พฤศจิกายน 2548 เป็นต้นไป)
  
- ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย เฉพาะการโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ให้แก่ผู้รับโอนเนื่องจากการให้เช่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย
- ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ตามกฎหมายว่าด้วยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2545 เป็นต้นไป
- สถาบันคุ้มครองเงินฝากตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันคุ้มครองเงินฝาก
- ยกเว้นภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร แก่บุคคลตามข้อผูกพันที่ประเทศไทยมีอยู่ตามสัญญา ว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจหรือทางเทคนิคระหว่างรัฐบาลไทยหรือรัฐบาลต่างประเทศ
- ยกเว้นบรรดารัษฎากรประเภทต่าง ๆ ที่เรียกเก็บตามประมวลรัษฎากร ให้แก่

(ก) องค์การสหประชาชาติ ทบวงการชำนัญพิเศษของสหประชาชาติและเจ้าหน้าที่ หรือผู้เชี่ยวชาญ ขององค์การ หรือทบวงการดังกล่าว ซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ในประเทศไทย ในเมื่อประเทศไทย มีข้อผูกพันให้ยกเว้นตามอนุสัญญา หรือความตกลง

(ข) สถานเอกอัคราชทูต สถานทูต สถานกงสุลใหญ่ สถานกงสุล บุคคลในคณะทูต บุคคลในคณะกงสุล และบุคคลที่ถือว่าอยู่ในคณะทูตตามความตกลง ทั้งนี้ให้เป็นไปตามหลักถ้อยที ถ้อยปฏิบัติต่อกัน 
 
การลดอากร

        ตามประกาศของคณะปฏิวัติ (ฉบับที่ 155) ลงวันที่ 4 มิถุนายน 2515 ลดค่า อากรแสตมป์สำหรับตราสารกรมธรรม์ประกันชีวิต โดยถ้าค่าอากรมีจำนวนสูงกว่า 20 บาท ให้ลดเหลือ 20 บาท



การขีดฆ่าอากร

คำว่า ขีดฆ่าหมายความว่า การกระทำเพื่อมิให้ใช้แสตมป์ได้อีก โดยในกรณีแสตมป์ปิดทับ ได้ลงลายมือชื่อหรือลงชื่อห้างร้านบนแสตมป์ หรือขีดเส้นคร่อมฆ่าแสตมป์ที่ปิดทับกระดาษ และลงวัน เดือน ปี ที่กระทำสิ่งเหล่านี้ด้วย ในกรณีแสตมป์ดุนได้เขียนบนตราสารหรือยื่นตราสารให้พนักงานเจ้าหน้าที่ประทับ แสตมป์ดุน ให้แสตมป์ปรากฏอยู่ในด้านหน้าของตราสารนั้น




ความรับผิดกรณีไม่ปิดแสตมป์บริบูรณ์และการไม่ออกใบรับ


1.   ความรับผิดทางแพ่ง

        1.1   กรณียื่นตราสารขอเสียอากรเอง ตราสารใดมิได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์ ผู้มีหน้าที่เสียอากร หรือผู้ทรงตราสาร หรือผู้ถือเอาประโยชน์ชอบที่จะยื่นตราสารนั้น ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อขอเสียอากรได้ เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้รับตราสารแล้ว ให้อนุมัติให้เสียอากรภายในบังคับแห่งบทบัญญัติต่อไปนี้

        ถ้าตราสารที่มิได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์นั้น เป็นตราสารที่กระทำขึ้นในประเทศไทย เมื่อผู้ขอเสียอากร ได้ยื่นตราสารนั้นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อเสียอากรภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ต้อง ปิดแสตมป์บริบูรณ์ ก็ให้อนุมัติให้เสียเพียงอากรตามอัตราในบัญชีท้ายหมวดอากรแสตมป์

        1.2   กรณีปรากฎต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นอย่างอื่น ก็ให้อนุมัติให้เสียอากรและให้เรียกเก็บ เงินเพิ่มอากร ดังต่อไปนี้อีกด้วย

                (ก)   ถ้าปรากฏต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าตราสารมิได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์เป็นเวลา ไม่พ้นกำหนด 90 วัน นับแต่วันต้องปิดแสตมป์บริบูรณ์ให้เรียกเก็บเงินเพิ่มอากรเป็น 2 เท่าจำนวน อากรหรือเป็นเงิน 4 บาท แล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า

                (ข)   ถ้าปรากฎต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ว่า ตราสารมิได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์เป็นเวลาพ้น กำหนด 90 วัน นับแต่วันต้องปิดแสตมป์บริบูรณ์แล้วให้เรียกเก็บเงินเพิ่มอากรเป็น 5 เท่าจำนวน อากรหรือเป็นเงิน 10 บาทแล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า

        1.3   กรณีพนักงานเจ้าหน้าที่หรือนายตรวจทำการตรวจพบ กล่าวคือเมื่อมีเหตุสมควรพนักงาน เจ้าหน้าที่หรือนายตรวจมีอำนาจเข้าไปในสถานการค้าหรือสถานที่ที่เกี่ยวข้องระหว่าง พระอาทิตย์ขึ้น พระอาทิตย์ตก หรือในเวลาทำการของสถานการค้าหรือสถานที่นั้น เพื่อทำการตรวจสอบตราสารว่าได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์ตาม ที่กำหนดในบัญชีอัตราอากรแสตมป์หรือไม่ หรือทำการตรวจสอบเพื่อทราบว่าได้ออกใบรับ หรือทำหรือ เก็บต้นขั้วสำเนาใบรับ หรือทำหรือเก็บบันทึกตามที่กำหนดไว้ในหมวดอากรแสตมป์ หรือไม่กับมีอำนาจ เรียกและยึดตราสาร หรือเอกสารและออกหมายเรียกตัวผู้มีหน้าที่เสียอากร ผู้ทรงตราสารหรือผู้ถือเอาประโยชน์แห่ง ตราสารและพยานหลักฐานอื่นอันควรแก่เรื่องมาไต่สวน โดยการกล่าวหาแจ้งความของบุคคลใด ไม่ว่าจะเป็นเจ้าพนักงานรัฐบาลหรือมิใช่ก็ดี ถ้าปรากฎว่า

                (1)   มิได้มีการออกใบรับในกรณีที่ต้องออกใบรับตามข้อ 2 ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเรียกเก็บ เงินอากรจนครบ และเงินเพิ่มอากรอีกเป็นจำนวน 6 เท่าของเงินอากรหรือเป็นเงิน 25 บาท แล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า

                (2)   ตราสารมิได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์ โดย

                        (ก)   มิได้ปิดแสตมป์เลย ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเรียกเก็บเงินอากรจนครบ และเงินเพิ่มอากรอีกเป็นจำนวน 6 เท่า ของเงินอากรที่ต้องเสียหรือเป็นเงิน 25 บาท แล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า

                        (ข)   ปิดแสตมป์น้อยกว่าอากรที่ต้องเสีย ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเรียกเก็บเงิน อากรจนครบ และเงินเพิ่มอีกเป็นจำนวน 6 เท่าของเงินอากรที่ขาดหรือเป็นเงิน 25 บาท แล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า

                ในกรณีอื่น ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเรียกเก็บเงินเพิ่มอากรเป็นจำนวน 1 เท่าของเงินอากร ที่ต้องเสียหรือเป็นเงิน 25 บาท แล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า

2.   ความรับผิดทางอาญา

        2.1   ผู้ใดมีหน้าที่เสียอากร หรือขีดฆ่าแสตมป์ เพิกเฉยหรือปฏิเสธไม่เสียอากรหรือไม่ขีดฆ่าแสตมป์ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท

        2.2   ผู้ใดออกใบรับไม่ถึง 10 บาท สำหรับมูลค่าตั้งแต่ 10 บาทขึ้นไป หรือแบ่งแยกมูลค่าที่ได้รับชำระนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียอากรก็ดี จงใจกระทำหรือทำตราสารให้ผิดความจริงเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตาม บทบัญญัติแห่งหมวดนี้ก็ดี มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองร้อยบาท

        2.4   ผู้ใดไม่ทำหรือไม่เก็บบันทึกตามมาตรา 105 ตรี หรือไม่ออกใบรับให้ทันทีที่ถูกเรียกร้องตาม มาตรา 106 (ข้อ 2.2) หรือออกใบรับซึ่งไม่ปิดแสตมป์ตามจำนวนอากรที่ต้องเสีย ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท

        2.5   ผู้ใดโดยตนเองหรือสมคบกับผู้อื่นทำให้ไม่มีการออกใบรับหรือไม่ออกใบรับให้ทันทีที่รับเงิน หรือรับชำระราคาตามมาตรา 105 (ข้อ 2.1) หรือออกใบรับเป็นจำนวนเงินน้อยกว่า ที่รับเงินหรือรับชำระราคาจริง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือทั้งปรับทั้งจำ

        2.6   ผู้ใดโดยรู้อยู่แล้วไม่อำนวยความสะดวกแก่พนักงานเจ้าหน้าที่หรือนายตรวจในการปฏิบัติตามหน้าที่ หรือโดยรู้อยู่แล้วหรือจงใจไม่ปฏิบัติตามคำเรียกหรือไม่ยอมให้ยึดตราสารหรือ เอกสาร หรือไม่ปฏิบัติตามหมายของพนักงานเจ้าหน้าที่หรือนายตรวจ ตามความในมาตรา 123 หรือไม่ยอมตอบคำถามเมื่อซักถามหรือฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 105 ทวิ (ข้อ 3) มาตรา 105 จัตวา (ข้อ 5) หรือมาตรา 123 ทวิ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท

        2.7   ผู้ใดโดยเจตนาทุจริตมีแสตมป์ซึ่งรู้อยู่ว่าเป็นแสตมป์ปลอมก็ดี หรือค้าแสตมป์ที่ใช้แล้วหรือที่มีกฎกระทรวง ประกาศให้เลิกใช้เสียแล้วก็ดี ผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาทหรือจำคุกไม่เกิน สามปีหรือทั้งปรับทั้งจำ

ข้อเสียของตราสารที่มิได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์

        ตราสารใดไม่ปิดแสตมป์บริบูรณ์ จะใช้ต้นฉบับ คู่ฉบับ คู่ฉีก หรือสำเนาตราสารนั้นเป็นพยานหลักฐาน ในคดีแพ่งไม่ได้ จนกว่าจะได้เสียอากรโดยปิดแสตมป์ครบจำนวนอัตราในบัญชีท้าย หมวดอากรแสตมป์ และขีดฆ่าแล้วแต่ทั้งนี้ไม่เป็นการเสื่อมสิทธิที่จะเรียกเงินเพิ่มอากร
        นอกจากนั้นกฎหมายยังห้ามเจ้าพนักงานรัฐบาลลงนามรับรู้ ยอมให้ทำหรือบันทึกสิ่งใด ๆ ในตราสาร ดังกล่าวด้วย จนกว่าจะได้มีการเสียอากรให้ครบถ้วนเสียก่อน

การขอคืนเงินอากร

        ผู้ใดเสียค่าอากรหรือค่าเพิ่มอากรเกินไปไม่น้อยกว่า 2 บาท สำหรับตราสารลักษณะเดียวหรือเรื่องเดียว ผู้นั้นชอบที่จะทำคำร้องเป็นหนังสือยื่นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่ออธิบดีเห็นว่าเกินไปจริงก็ให้คืน ค่าอากรหรือค่าเพิ่มอากรที่เกินไปนั้นให้แก่ผู้เสียอากรได้ แต่คำร้องที่กล่าวนั้นต้องยื่นภายใน 6 เดือน นับแต่วันเสียอากรหรือค่าเพิ่มอากรและต้องประกอบด้วยคำชี้แจงหรือเอกสาร ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่หรือ อธิบดีเห็นสมควรให้ยื่นสนับสนุนคำร้อง

บัญชีอัตราอากรแสตมป์
ลักษณะแห่งตราสาร
ค่าอากรแสตมป์
ผู้ที่ต้องเสียอากร
ผู้ที่ต้องขีดฆ่าแสตมป์
1. เช่าที่ดิน โรงเรือน สิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นหรือแพ
        ทุกจำนวนเงิน 1,000 บาท หรือเศษของเงิน 1,000 บาท แห่งค่าเช่าหรือเงินกินเปล่า หรือทั้งสองอย่างรวมกันตลอดอายุการเช่า
         หมายเหตุ
          (1) ถ้าสัญญาเช่ามิได้กำหนดอายุการเช่าให้ถือว่ามีกำหนด 3 ปี
          (2) ถ้าสัญญาเช่าฉบับใดครบกำหนดอายุการเช่า หรือครบกำหนด 3 ปี ตาม (1) แล้วผู้เช่ายังคงครองทรัพย์สินอยู่และให้ผู้เช่ารู้ความนั้นแล้วไม่ทักท้วง ทั้งมิได้ทำสัญญาใหม่ ให้ถือว่าสัญญาเช่าเดิมนั้นได้เริ่มทำกันใหม่ โดยไม่มีกำหนดอายุการเช่า และต้องเสียอากรภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ถือว่าเริ่มทำสัญญาใหม่นั้น
          ยกเว้นไม่ต้องเสียอากร
          เช่าทรัพย์สินใช้ในการทำนา ไร่ สวน


1 บาท







ผู้ให้เช่า







ผู้เช่า





  2. โอนใบหุ้น ใบหุ้นกู้ พันธบัตรและใบรับรองหนี้ ซึ่งบริษัท สมาคม คณะบุคคลหรือองค์การใด ๆ เป็นผู้ออก
          คิดตามราคาหุ้นที่ชำระแล้วหรือตามราคาในตราสารแล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า ทุกจำนวนเงิน 1,000 บาท หรือเศษของ 1,000 บาท
          ยกเว้นไม่ต้องเสียอากร
          ก. โอนพันธบัตรของรัฐบาลไทย
          ข. โอนใบหุ้น ใบหุ้นกู้ และใบรับรองหนี้ซึ่งสหกรณ์ หรือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรเป็นผู้ออก



1 บาท



ผู้โอน



ผู้รับโอน
  3. เช่าซื้อทรัพย์สิน
        ทุกจำนวนเงิน 1,000 บาท หรือเศษของเงิน 1,000 บาท แห่งราคาทั้งหมด
        ยกเว้นไม่ต้องเสียอากร
        เช่าซื้อทรัพย์สินใช้ในการทำนา ไร่ สวน

1 บาท

ผู้ให้เช่า

ผู้เช่า
  4. จ้างทำของ               ทุกจำนวนเงิน 1,000 บาท หรือเศษของ 1,000 บาท แห่งสินจ้างที่กำหนดไว้
           หมายเหตุ
          (1) ถ้าในเวลากระทำสัญญาจ้างทำของไม่ทราบจำนวนสินจ้างว่าเป็นราคาใด ให้ประมาณจำนวนสินจ้างตามสมควรแล้วเสียอากรตามจำนวนสินจ้างที่ประมาณนั้น
          (2) ถ้ามีการรับเงินสินจ้างเป็นคราว ๆ และอากรที่เสียไว้เดิมยังไม่ครบ ให้เสียอากรเพิ่มเติมให้ครบตามจำนวนที่ต้องเสียทุกครั้งในทันทีที่มีการรับเงิน
          (3) เมื่อการรับจ้างทำของได้สิ้นสุดลงแล้ว และปรากฏว่าได้เสียอากรเกินไป ให้ขอคืนตามมาตรา 122 ได้
             ยกเว้นไม่ต้องเสียอากร
        s   สัญญาที่ทำขึ้นนอกประเทศไทยและการปฏิบัติตามข้อสัญญานั้นมิได้ทำในประเทศไทย

1 บาท








ผู้รับจ้าง








ผู้รับจ้าง







  5. กู้ยืมเงิน หรือการตกลงให้เบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคาร
        ทุกจำนวนเงิน 2,000 บาท หรือเศษของเงิน 2,000 บาท แห่งยอดเงินที่กู้ยืมหรือตกลงให้เบิกเกินบัญชี             ค่าอากรตามลักษณะแห่งตราสารนี้ เมื่อคำนวณแล้วถ้าเกิน 10,000 บาท ให้เสีย 10,000 บาท
          ยกเว้นไม่ต้องเสียอากร
          การกู้ยืมเงินซึ่งสมาชิกกู้ยืมจากสหกรณ์หรือสหกรณ์กู้ยืมจากสหกรณ์ หรือจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
(พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2529 ใช้บังคับ 1 ก.พ.2529 เป็นต้นไป)



1 บาท



ผู้ให้กู้



ผู้กู้
“ 6. กรมธรรม์ประกันภัย
          (ก) กรมธรรม์ประกันวินาศภัย
          ทุก 250 บาท หรือเศษของ 250 บาท แห่งเบี้ยประกันภัย
          (ข) กรมธรรม์ประกันชีวิต
          ทุก 2,000 บาท หรือเศษของ 2,000 บาท แห่งจำนวนเงินที่เอาประกันภัย
(ประกาศคณะปฎิวัติ (ฉบับที่ 155) ใช้บังคับ 7 มิ.ย.2515 เป็นตันไป ข้อ 7 กำหนดให้ค่าอากรแสตมป์สำหรับตราสารกรมธรรม์ประกันชีวิต ถ้ามีจำนวนสูงกว่า 20 บาท ให้ลดเหลือ 20 บาท)
          (ค) กรมธรรม์ประกันภัยอื่น ๆ
          ทุก 2,000 บาท หรือเศษของ 2,000 บาท แห่งจำนวนเงินที่เอาประกัน
          (ง) กรมธรรม์เงินปี
          ทุก 2,000 บาท หรือเศษของ 2,000 บาง แห่งต้นทุนเงินปีนั้น หรือถ้าไม่ปรากฏต้นทุนให้คิดทุก 2,000 บาท หรือเศษของ 2,000 บาท แห่ง 33 1/3 เท่าของรายได้ประจำปี
          (จ) กรมธรรม์ประกันภัยซึ่งผู้รับประกันภัยนำไปให้ผู้อื่นประกันอีกต่อหนึ่ง
          (ฉ) บันทึกการต่ออายุกรมธรรม์ประกันภัยเดิม
          ยกเว้นไม่ต้องเสียอากร
          (ก) การประกันภัยสัตว์พาหนะซึ่งใช้ในการเกษตรกรรม
          (ข) บันทึกประกันภัยหรือกรมธรรม์ประกันภัยชั่วคราวซึ่งรับรองจะออกกรมธรรม์ประกันภัยต้วจริง แต่ถ้าผู้ทรงจะเรียกร้องเอาสิทธิอย่างอื่น นอกจากให้ส่งมอบกรมธรรม์ประกันภัยตัวจริงแล้วต้องปิดแสตมป์เสียก่อน เช่นเดียวกับที่จะต้องปิดสำหรับประกันภัยตัวจริง
(พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ.2525 ใช้บังคับ 27 ก.พ.2525 เป็นต้นไป)


1 บาท

1 บาท




1 บาท



1 บาท

1 บาท
กึ่งอัตราซึ่ง
เรียกเก็บ
สำหรับกรม
ธรรม์เดิม



ผู้รับประกันภัย

ผู้รับประกันภัย




ผู้รับประกันภัย



ผู้รับประกันภัย

ผู้รับประกันภัย
ผู้รับประกันภัย






ผู้รับประกันภัย

ผู้รับประกันภัย




ผู้รับประกันภัย



ผู้รับประกันภัย

ผู้รับประกันภัย
ผู้รับประกันภัย




“ 7. ใบมอบอำนาจ คือ ใบตั้งตัวแทนซึ่งมิได้กระทำในรูปลักษณะตราสารสัญญา รวมทั้งใบตั้งอนุญาโตตุลาการ
          (ก) มอบอำนาจให้บุคคลคนเดียวหรือหลายคน การทำการครั้งเดียว
          (ข) มอบอำนาจให้บุคคลคนเดียวหรือหลายคนร่วมกระทำการมากกว่าครั้งเดียว
          (ค) มอบอำนาจให้กระทำการมากกว่าครั้งเดียว โดยให้บุคคลหลายคนต่างคนต่างกระทำกิจการแยกกันได้ คิดตามรายตัวบุคคลที่รับมอบคนละ
           หมายเหตุ
        ถ้าผู้มอบอำนาจมีหลายคน แต่มิได้เป็นผู้มีอำนาจร่วมกันแล้วมอบอำนาจในตราสารฉบับเดียวกัน ต้องคิดตามรายตัวบุคคลผู้มอบคนหนึ่งเป็นเรื่องหนึ่งตามมาตรา 108
           ยกเว้นไม่ต้องเสียอากร
          (1) ใบแต่งทนายและใบมอบอำนาจซึ่งทนายความให้แก่เสมียนของตนเพื่อเป็นตัวแทนดำเนินคดีในศาล
          (2) ใบมอบอำนาจให้โอนหรือให้กระทำการใด ๆ เกี่ยวด้วยสัตว์พาหนะตามกฎหมายว่าด้วยสัตว์หาหนะ
          (3) ใบมอบอำนาจให้รับเงินหรือสิ่งของแทน
          (4) ใบมอบอำนาจซึ่งสหกรณ์เป็นผู้มอบและใบมอบอำนาจตั้งสหกรณ์เป็นตัวแทนจัดการให้สหกรณ์ได้รับสิทธิในอสังหาริมทรัพย์


10 บาท
30 บาท


30 บาท










ผู้มอบอำนาจ
ผู้มอบอำนาจ


ผู้มอบอำนาจ










ผู้รับมอบอำนาจ
ผู้รับมอบอำนาจ


ผู้รับมอบอำนาจ








  8. ใบมอบฉันทะสำหรับให้ลงมติในที่ประชุมของบริษัท
          (ก) มอบฉันทะสำหรับการประชุมครั้งเดียว
          (ข) มอบฉันทะสำหรับการประชุมกว่าครั้งเดียว
(พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 12) พ.ศ.2526 ใช้บังคับ 29 พ.ย.2526 เป็นต้นไป)

20 บาท
100 บาท


ผู้มอบฉันทะ
ผู้มอบฉันทะ


ผู้มอบฉันทะ
ผู้มอบฉันทะ

“ 9. (1) ตั๋วแลกเงินหรือตราสารทำนองเดียวกับที่ใช้อย่างตั๋วแลกเงิน ฉบับละ
      (2) ตั๋วสัญญาใช้เงินหรือตราสารทำนองเดียวกับที่ใช้อย่างตั๋วสัญญาใช้เงิน ฉบับละ
           ยกเว้นไม่ต้องเสียอากร
          ถ้าตั๋วออกเป็นสำรับและฉบับแรกในสำรับนั้นปิดแสตมป์บริบูรณ์แล้ว ฉบับอื่น ๆ ไม่ต้องปิดอีก แต่ตัองสลักหลังฉบับนั้น ๆ ไว้ว่าได้เสียอากรแลัว
(พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 12) พ.ศ.2526 ใช้บังคับ 29 พ.ย.2526 เป็นต้นไป)
3 บาท
3 บาท



ผู้สั่งจ่าย
ผู้ออกตั๋ว



ผู้สั่งจ่าย
ผู้ออกตั๋ว



“ 10. บิลออฟเลดิง
          หมายเหตุ
          ถ้าออกเป็นสำรับให้ปิดแสตมป์ตามอัตราทุกฉบับ
2 บาท
ผู้กระทำตราสาร
ผู้กระทำตราสาร
11. (1) ใบหุ้น หรือใบหุ้นกู้ หรือใบรับรองหนี้ของบริษัท สมาคม คณะบุคคล หรือองค์การใด ๆ
(พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 12) พ.ศ.2526 ใช้บังคับ 29 พ.ย.2526 เป็นต้นไป)
      (2) พันธบัตรของรัฐบาลใด ๆ ที่ขายในประเทศไทย
         ทุกจำนวนเงิน 100 บาท หรือเศษของ 100 บาท
         ยกเว้นไม่ต้องเสียอากร
          ใบหุ้น ใบหุ้นกู้ หรือใบรับรองหนี้ของสหกรณ์

5 บาท


1 บาท




ผู้ทรงตราสาร


ผู้ทรงตราสาร




ผู้ทรงตราสาร


ผู้ทรงตราสาร



12. เช็ค หรือหนังสือคำสั่งใด ๆ ซึ่งใช้แทนเช็ค   ฉบับละ
(พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 12) พ.ศ.2526 ใช้บังคับ 29 พ.ย.2526 เป็นต้นไป)
3 บาท

ผู้สั่งจ่าย

ผู้สั่งจ่าย

“ 13. ใบรับฝากเงินประเภทประจำของธนาคารโดยมีดอกเบี้ย
(พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 12) พ.ศ.2526 ใช้บังคับ 29 พ.ย.2526 เป็นต้นไป)
5 บาท

ผู้รับฝาก

ผู้รับฝาก

“ 14. เลตเตอร์ออฟเครดิต
 (ก) ออกในประเทศ
        - เงินต่ำกว่า 10,000 บาท
        - เงินตั้งแต่ 10,000 บาท ขึ้นไป
 (ข) ออกในต่างประเทศและให้ชำระเงินในประเทศไทย
       คราวละ
                  หมายเหตุ
          ตราสารเลตเตอร์ออฟเครดิตที่ออกในประเทศไทย และให้ชำระเงินในต่างประเทศ ต้องทำสำเนาเก็บไว้ในประเทศไทย ส่วนการเสียอากรให้ปิดแสตมป์บริบูรณ์เฉพาะในฉบับสำเนาดังกล่าวนั้น  
(พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 12) พ.ศ.2526 ใช้บังคับ 29 พ.ย.2526 เป็นต้นไป)

20 บาท
30 บาท

20 บาท





ผู้ออกตราสาร
ผู้ออกตราสาร

ผู้ทรงคนแรก
ในประเทศไทย





ผู้ออกตราสาร
ผู้ออกตราสาร

ผู้ทรงคนแรก
ในประเทศไทย



“ 15. เช็คสำหรับผู้เดินทาง
 (ก) ออกในประเทศ ฉบับละ
 (ข) ออกในต่างประเทศ แต่ให้ชำระในประเทศไทย ฉบับละ
(พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 12) พ.ศ.2526 ใช้บังคับ 29 พ.ย.2526 เป็นต้นไป)

3 บาท
3 บาท

 
ผู้ออกเช็ค
ผู้ทรงคนแรก
ในประเทศไทย

 
ผู้ออกเช็ค
ผู้ทรงคนแรก
ในประเทศไทย

“ 1 6. ใบรับของ ซึ่งออกให้เนื่องในกิจการรับขนสินค้าโดยทางน้ำ ทางบก และทางอากาศ คือตราสารซึ่งลงลายมือชื่อพนักงานหรือนายสินค้าของยานพาหนะรับขนส่ง ซึ่งออกรับของดังระบุไว้ในใบรับนั้น เมื่อไม่ได้ออกบิลออฟเลดิง ฉบับละ
           หมายเหตุ
          ถ้าออกเป็นสำรับให้ปิดแสตมป์ตามอัตราทุกฉบับ  
(พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ.2525 ใช้บังคับ 27 ก.พ.2525 เป็นต้นไป)
1 บาท

ผู้ออกใบรับ

ผู้ออกใบรับ

“ 17. ค้ำประกัน
 (ก) สำหรับกรณีที่มิได้จำกัดจำนวนเงินไว้
 (ข) สำหรับจำนวนเงินไม่เกิน 1,000 บาท
 (ค) สำหรับจำนวนเงินเกิน 1,000 บาท แต่ไม่เกิน 10,000 บาท
 (ง) สำหรับจำนวนเงินเกิน 10,000 บาท ขึ้นไป
                 ยกเว้นไม่ต้องเสียอากร
          (ก) ค้ำประกันหนี้เนื่องแต่การที่รัฐบาลให้ราษฎรกู้ยืมหรือยืมเพื่อการบริโภคหรือการเกษตรกรรม
          (ข) ค้ำประกันหนี้เนื่องแต่การที่สหกรณ์ให้สมาชิกกู้ยืมหรือยืม  
(พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 12) พ.ศ.2526 ใช้บังคับ 29 พ.ย.2526 เป็นต้นไป)
10 บาท
1 บาท
5 บาท
10 บาท


ผู้ค้ำประกัน
ผู้ค้ำประกัน
ผู้ค้ำประกัน
ผู้ค้ำประกัน


ผู้ค้ำประกัน
ผู้ค้ำประกัน
ผู้ค้ำประกัน
ผู้ค้ำประกัน


“ 18. จำนำ
         จำนวนหนี้ทุก 2,000 บาท หรือเศษของ 2,000 บาท
          ถ้าการจำนำมิได้จำกัดจำนวนหนี้ไว้
                ยกเว้นไม่ต้องเสียอากร
          (ก) ตั๋วจำนำของโรงรับจำนำที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย
          (ข) จำนำอันเกี่ยวกับกู้ยืมซึ่งได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์แล้วตามข้อ 5
1 บาท
1 บาท

ผู้รับจำนำ
ผู้รับจำนำ

ผู้รับจำนำ
ผู้รับจำนำ

   19. ใบรับของคลังสินค้า
1 บาท
นายคลังสินค้า
นายคลังสินค้า
   20. คำสั่งให้ส่งมอบของ คือ ตราสารซึ่งบุคคลผู้ปรากฏชื่อในตราสารนั้น หรือซึ่งบุคคลผู้นั้นตราชื่อไว้ หรือผู้ทรงมีสิทธิที่จะรับมอบสินค้าอันอยู่ในอู่ หรือเมืองท่า หรือคลังสินค้าซึ่งรับเก็บหรือรับฝากโดยเรียกเก็บค่าเช่าหรือรับสินค้าอันอยู่ที่ท่าสินค้าโดยที่เจ้าของลงลายมือชื่อ หรือมีผู้อื่นลงลายมือชื่อแทนในเมื่อขายหรือโอนทรัพย์สินอันปรากฎในตราสารนั้น
(พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ.2525 ใช้บังคับ 27 ก.พ.2525 เป็นต้นไป)





1 บาท






ผู้ออกคำสั่ง






ผู้ออกคำสั่ง

“ 21. ตัวแทน
       (ก) มอบอำนาจเฉพาะการ
         (ข) มอบอำนาจทั่วไป      
          ยกเว้นไม่ต้องเสียอากร
          การตั้งตัวแทนในกรณีสหกรณ์เป็นตัวการ  
(พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 12) พ.ศ.2526 ใช้บังคับ 29 พ.ย.2526 เป็นต้นไป)
10 บาท
30 บาท

ตัวการ
ตัวการ

ตัวการ
ตัวการ

“ 22. คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ
         (ก) ในกรณีซึ่งพิพาทกันด้วยจำนวนเงินหรือราคาทุกจำนวนเงิน 1,000 บาท หรือเศษของ 1,000 บาท
          (ข) ในกรณีอื่นซึ่งไม่กล่าวถึงจำนวนเงินหรือราคา
(พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ.2525 ใช้บังคับ 27 ก.พ.2525 เป็นต้นไป)


1 บาท
10 บาท


อนุญาโตตุลาการ
อนุญาโตตุลาการ


อนุญาโตตุลาการ
อนุญาโตตุลาการ

“ 23. คู่ฉบับหรือคู่ฉีกแห่งตราสาร
         คือ ตราสารซึ่งมีข้อความอย่างเดียวกันกับต้นฉบับ หรือต้นสัญญาและผู้กระทำตราสารได้ลงลายมือชื่อไว้ อย่างเดียวกับต้นฉบับ
           (ก) ถ้าต้นฉบับเสียอากรไม่เกิน 5 บาท
           (ข) ถ้าเกิน 5 บาท
            ยกเว้นไม่ต้องเสียอากร
          ถ้าฝ่ายที่ต้องเสียอากรเป็นสหกรณ์
(พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 12) พ.ศ.2526 ใช้บังคับ 29 พ.ย.2526 เป็นต้นไป)



1 บาท
5 บาท



(1) ถ้าไม่มีบุคคลอีกฝ่ายหนึ่งเป็นคู่สัญญาคนที่เสียอากรสำหรับต้นฉบับเป็นผู้เสีย
(2) ถ้ามีบุคคลอีกฝ่ายหนึ่งเป็นคู่สัญญาบุคคลอีกฝ่ายหนึ่งนั้นต้องเป็นผู้เสียอากร

คนเดียวกับผู้ขีดฆ่า
ต้นฉบับ
“ 24. หนังสือบริคณห์สนธิของบริษัทจำกัดที่ส่งต่อนายทะเบียน
200 บาท
ผู้เริ่มก่อการ
ผู้เริ่มก่อการ
   25. ข้อบังคับของบริษัทจำกัดที่ส่งต่อนายทะเบียน
200 บาท
กรรมการ
กรรมการ
   26. ข้อบังคับใหม่หรือสำเนาหนังสือบริคณห์สนธิหรือข้อบังคับของบริษัทจำกัดซึ่งเปลี่ยนแปลงใหม่ที่ส่งต่อนายทะเบียน
50 บาท
กรรมการ
กรรมการ
  27. หนังสือสัญญาห้างหุ้นส่วน
           (ก) หนังสือสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วน
           (ข) หนังสือสัญญาที่แก้ไขสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วน
(พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 12) พ.ศ.2526 ใช้บังคับ 29 พ.ย.2526 เป็นต้นไป)

100 บาท
50 บาท


ผู้เป็นหุ้นส่วน
ผู้เป็นหุ้นส่วน


ผู้เป็นหุ้นส่วน
ผู้เป็นหุ้นส่วน

 “  28. ใบรับ เฉพาะตามที่ระบุต่อไปนี้
           (ก) ใบรับรางวัลสลากกินแบ่งของรัฐบาล
           (ข) ใบรับสำหรับการโอนหรือก่อตั้งสิทธิใด ๆ เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ในเมื่อนิติกรรมที่เป็นเหตุให้ออกใบรับนั้นมีการจดทะเบียนตามกฎหมาย
(ดูประกาศอธิบดี เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 21))
(ดูคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรที่ 27/2537)
           (ค) ใบรับสำหรับการขาย ขายฝาก ให้เช่าซื้อ หรือโอนกรรมสิทธิ์ยานพาหนะ ทั้งนี้เฉพาะยางพาหนะซึ่งมีการจดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยยานพาหนะนั้น ๆ
          ถ้าใบรับตาม (ก)(ข) หรือ (ค) มีจำนวนเงินตั้งแต่ 200 บาท ขึ้นไปทุก 200 บาทหรือเศษของ 200 บาท (พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ.2525 ใช้บังคับ 27 ก.พ.2525 เป็นต้นไป)
         ยกเว้นไม่ต้องเสียอากร
         ใบรับ สำหรับจำนวนเงินที่ผู้รับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือภาษีธุรกิจเฉพาะ
(พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 30) พ.ศ.2534 ใช้บังคับ 1 ม.ค.2535 เป็นต้นไป)



1 บาท



ผู้ออกใบรับ



ผู้ออกใบรับ  
(ยกเลิกโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2529 ใช้บังคับ 1 ก.พ.2529 เป็นต้นไป)
 
 
 
(ยกเลิกโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2529 ใช้บังคับ 1 ก.พ.2529 เป็นต้นไป)
 
 
 



-----------------------------------------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น